ในมุมของผมนี่คือหนึ่งในโรคที่น่าตกใจที่สุด ในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหลาย เนื่องจากความที่มันเป็นมะเร็งของเลือดซึ่งกระจายตัวอยู่ทุกที่ในร่างกายจึงส่งผลกระทบทั่วร่างกาย ในที่นี้ผมขอเล่าถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน
โดยทั่วไปเราแบ่งมะเร็งเม็ดเลือดขาวง่ายๆเป็น 4 แบบ คือ เฉียบพลันและเรื้อรัง จับคู่กับเซลแบบมัยอีลอยด์หรือลิ้มฟ์ฟอยด์ ซึ่ง acute myeloid leukemia นี้เป็นสัดส่วน 90% ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่พบในผู้ใหญ่ครับ
ทำไมอยู่ดีๆถึงเกิดมาได้ล่ะหมอ..น่ากลัวจัง..ใช่ครับ คำตอบกวนมากๆ ถ้ารู้ชัดๆเราคุมโรคได้นานแล้ว สาเหตุมันไม่ชัดครับ มีแต่ความเสี่ยงและโอกาสการเกิดโรคเพิ่มในกลุ่มต่างๆ มี่ทำการศึกษาวิจัยมาก็มี พันธุกรรมครับ แต่ก็ไม่ได้ตรงไปตรงมาเป๊ะๆครับแต่ถ้ามีประวัติโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในครอบครัวน่าจะแสดงว่าสายพันธุกรรมของตระกูลคุณมีการกลายพันธุ์ง่าย มีโอกาสเป็นมะเร็งสูง โดยเฉพาะดาวน์ซินโดรมครับ ส่วนเหตุอื่นๆที่พบบ้างเช่นการได้รับรังสีต่อเนื่องนานๆ อันนี้ระดับคนงานในเหมืองเลยครับ หรือจากระเบิดปรมาณู สารเคมีเบนซีนในบุหรี่ ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด topoisomerase II
อาการที่พบบ่อยๆ เนื่องจากโรคมันเกิดที่เซลต้นกำเนิดในการสร้างเม็ดเลือดที่ไขกระดูก เกิดการแบ่งตัวผิดๆ และแบ่งแบบผิดๆไม่หยุดสักที่ จนทำให้เม็ดเลือดดีๆสร้างไม่ได้ อาการจึงเกิดจากการทำงานของเม็ดเลือดล้มเหลวทั้งสามเม็ดเลือด คือ เม็ดเลือดแดง (ซีด) เม็ดเลือดขาว (ติดเชื้อง่าย) และเกล็ดเลือด (เลือดออกง่าย ไม่หยุด) อาการมักจะเป็นเร็วในหลัก 3-8 สัปดาห์ตามอายุของเม็ดเลือดนั่นเอง และก็จะมีอาการจากไอ้ตัวเซลมะเร็งเม็ดเลือดที่ออกมาสู่อวัยวะต่างๆ เช่น อยู่ในเลือดเลือดก็หนืด ไปสะสมที่เหงือกทำให้เหงือกโต ไปสะสมที่ผิงหนังเกิดเป็นปื้นแข็งผิวหนัง ไปสะสมที่สมองเกิดเส้นประสาทสมองพิการ หรืออาการอันเกิดจากเซลมะเร็งที่ตายเร็วกว่าปกติ ของเสียต่างในเซลทะลักอย่างมากร่างกายกำจัดไม่ทัน เกิด เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
พิสูจน์อย่างไร ง่ายมากครับ เจาะเลือดตรวจนับเม็ดเลือดและดูฟิล์มเลือดด้วยตา ก็จะบอกได้ชัดเจน ปกติเม็ดเลือดขาวคนเราอยู่ที่ 4000-6000 เวลาเป็นมะเร็งนี่เพิ่มเป็น 40000-100000 เลยครับ และปัจจุบันเราก็มีเทคโนโลยีทางชีวเคมีที่ใช้การย้อมสีแยกเซลล์ต่างๆออกจากกันเพื่อบอกชนิดเซลและระยะของโรคที่แม่นยำ ใช้กรรมวิธีทางเวชพันธุศาสตร์ตรวจหาสารพันธุกรรมที่ผิดปกติปละการกลายพันธุ์เพื่อบอกแนวโน้มการพยากรณ์โรคได้แม่นยำมากขึ้น เช่น ถ้ามีการกลายพันธุ์ชนิด translocation 15,17 (PML/RAR-alpha) ก็จะบ่งชี้ระยะของโรคว่าเป็นชนิด M3 ที่ใช้ยาต่างออกไปและการพยากรณ์โรคค่อนข้างดี
รักษาได้ไหม..มันนี้พูดยากครับเอาเป็นว่าสมัยก่อนถ้าไม่รักษาก็จะมีอันเป็นไปในสามเดือนแปดเดือน แต่การให้ยาเคมีบำบัดปัจจุบันทำให้โรคสงบได้มาก โอกาสเกิดซ้ำน้อยลง (ผมไม่เคยใช้คำว่า "หาย") เช่นยาสูตรcytarabine+daunorubicin จะมีโอกาสโรคสงบได้ 50-72% ซึ่งวิธีการให้ยาก็จะมีทั้งระยะเข้มข้นเพื่อทำลายมะเร็งอย่างเร็ว และระยะรักษาระดับเพื่อลดโอกาสการเกิดซ้ำ และยังเพิ่มโอกาสหายด้วยการทำการปลูกถ่ายเซลไขกระดูก (ในรายที่เหมาะสมและหาไขกระดูกที่เข้ากันได้) ก็จะเพิ่มโอกาสโรคสงบและลดการเกิดซ้ำได้มากๆๆ เลยครับ
แต่ว่าเส้นทางก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบครับ ต้องเผชิญกับ เลือดออกไม่หยุด ติดเชื้อรุนแรง ไตเสื่อม หัวใจพิการ ยิ่งอายุมากยิ่งเกิดผลข้างเคียงสูง เอาประมาณๆว่าแย่ลงจากยาก็พอๆกับแย่ลงจากโรค แต่แย่ลงจากยา ควบคุมได้ รักษาได้ แย่ลงจากโรคนี่จบข่าวครับ บวกลบสะระตะแล้ว ผมว่าให้ยาดีกว่าไม่ให้เสมอ ผลข้างเคียงไม่ได้เกิดทุกคนนะครับ และเราก็ประเมินและป้องกันสุดใจล่ะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น