ดูแลผู้สูงวัยที่บ้าน ควรมีอะไรบ้าง (ใครมีหัวข้อเพิ่มเติม ก็เสริมมาได้นะครับ)
เครื่องวัดความดันโลหิต ความดันโลหิตขึ้นลงไม่มีอาการนะครับ ต้องวัดจึงทราบ ควรซื้อแบบที่วัดตรงต้นแขน ขนาดแถบพันให้รัดได้หนึ่งรอบครึ่ง ควรตรวจสอบถ่านไฟฉายว่าไม่อ่อน หรือใช้เสียบปลั๊ก เวลาบันทึก แยกสามค่านะครับ systolic/diastolic และ ชีพจร
กระโถน, bed pan, กระบอกฉี่ เพื่อขับถ่ายบนเตียง ผู้สูงวัยหลายท่านลุกนั่งยาก หรือติดเตียง การมีกระโถนแบบแบน สอดให้ขับถ่ายได้จะสะดวกมาก จะใช้แบบพลาสติกหรือแบบอลูมิเนียมก็ได้ทั้งนั้น แต่จากประสบการณ์แบบอลูมิเนียมจะทำความสะอาดง่ายกว่า
ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ใส่เวลาเดินทาง เวลานอน จะได้ไม่ขัดจังหวะการนอนหรือเดินทาง เลือกแบบใดก็ได้ แต่ต้องหมั่นตรวจสอบ ถ้าเต็มก็เปลี่ยน อย่าปล่อยค้างให้อับชื้น
ชุดทำแผลแบบใช้แล้วทิ้ง ผ้าพันแผล ผู้สูงวัยมีแผลง่าย หากเป็นแผลถลอก กระแทก เลือดซึม ก็ทำแผลได้เลย ใช้เบตาดีนเช็ดรอบ ใช้น้ำเกลือล้าง ผ้าก๊อซปิด แนะนำใช้ผ้าพันแผลพัน เพราะพลาสเตอร์มักมีผื่นแพ้หรือติดไม่อยู่
อุปกรณ์บดยา กระบอกฉีดยา ที่ตัดเม็ดยา ผู้สูงอายุมันมีปัญหาการเคี้ยวกลืน บางคนต้องบด ใช้มือหักยาไม่ได้แน่ การตวงยาน้ำควรใช้กระบอกฉีดยา และมีอีกอันเอาไว้ป้อนยาช้า ๆ ทางปากได้ หาซื้อได้ตามร้านขายยา
☆☆การจัดสภาพแวดล้อม☆☆
ทางเดินทางผ่านผู้สูงวัย ควรไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือส่งที่จะทำให้ลื่นล้ม
ไฟฟ้าทางเดินต้องสว่างพอ มีจุดเกาะยึด
จุดยึดจับในห้องน้ำ พื้นห้องน้ำต้องไม่ลื่น
ปรับโถขับถ่ายเป็นแบบนั่งเก้าอี้ ห้ามนั่งยอง
ขึ้นลงบันได ให้น้อยที่สุด หากต้องขึ้น อย่าลืมทำราวยึดเกาะให้ดี ติดแถบกันลื่น
ควรมีขวดน้ำดื่มไว้ใกล้ตัวใกล้มือ การลุกไปดื่มน้ำลำบาก จะทำให้เขาไม่ดื่มน้ำเพียงพอ
☆☆เตรียมล่วงหน้า☆☆
สมุดประจำตัวผู้ป่วย จะโรคอะไรก็แล้วแต่ มีไว้ข้างตัวพร้อมหยิบไป รพ.
ถ่ายภาพซองยา ฉลากยาที่ใช้ล่าสุดเอาไว้ เผื่อต้องใช้
เบอร์โทรศัพท์ รพ.ที่รักษาประจำ รพ.ใกล้บ้าน และเบอร์ฉุกเฉิน ถ้าไม่ทราบให้โทร 1669
ทางติดต่อญาติที่มีอำนาจการตัดสินใจหรือทายาทโดยธรรม
การเตรียมตัวที่ดีที่สุด คือ การเตรียมตัวคุณเอง คือ ผู้ดูแล ให้พร้อมเสมอ
เพราะการวิธีการดูแลคนที่เรารักที่ดีที่สุด คือ การดูแลตัวเองให้แข็งแรงพร้อมจะดูแลคนที่เรารักได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น