จากละครเรื่อง "บุพเพสันนิวาส" ที่กำลังออกอากาศและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง หนึ่งในฉากที่ประชาชนหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดคือ ถูกโบย ผู้ที่ได้รับโทษทัณฑ์คือคุณการะเกดและคุณขุนเหล็ก สำหรับคุณการะเกดนั้นบาดเจ็บเล็กน้อย แต่คุณขุนเหล็กบาดเจ็บสาหัสเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย
บาดแผลที่เกิดจากการโบย เป็นบาดแผลจากการกระแทกอย่างแรงด้วยของแข็งไม่มีคม และอาจมีการถลอกได้ ในกรณีที่ผิวหนังเกิดฉีกขาดจนถึงชั้นหนังแท้หรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังก็จะมีเลือดออก แต่ถ้าผิวหนังไม่ฉีกขาดก็จะเป็นรอยช้ำเท่านั้น
ในสมัยโบราณจากฉากในละครคือกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย การรักษาแผลสด แผลแตกแบบนี้ ใช้สมุนไพรเป็นหลักครับ หลังจากล้างน้ำสะอาดและซับเลือดแล้ว มีหลักฐานการใช้ใบสาบเสือมาตำแหลกแล้วประคบ หรือในสถานการณ์เร่งด่วนก็ใช้ใบสาบเสือขยี้แล้วทา เชื่อว่าช่วยสมานแผลและห้ามเสือด ในอีกหลายหลักฐานบอกว่ายาเส้นยาฉุนหรือใบยาสูบนี่แหละครับ ผสมน้ำขยี้ทาแผลได้ ช่วยสมานแผลและห้ามเลือดได้เช่นกัน
ส่วนไพลที่นำมาใช้ในเรื่องนั้น สามารถระงับอาการปวดได้ดีครับ ปัจจุบันก็มีสมุนไพร ไพล ออกมาแบบพร้อมใช้ตามร้านขายยาปัจจุบันครับ
อีกหนึ่งยาสมานแผลที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอียิปต์คือ น้ำผึ้ง ด้วยความเข้มข้นสูงของน้ำผึ้งทำให้แบคทีเรียไม่สามารถเจริญเติบโตได้ หนังสือประวัติศาสตร์ที่ผมอ่านหลายเล่มกล่าวถึงการรักษาแผลในสมัยโรมันว่าใช้น้ำผึ้งได้
แต่ปัจจุบันเราคงไม่ได้ใช้น้ำผึ้งหรือใบสาบเสือแน่ๆ เพราะโอกาสติดเชื้อจะสูงเนื่องจากกรรมวิธีการเตรียมอาจไม่ปลอดเชื้อ และเชื้อที่อันตรายมากกับการเตรียมแบบนี้คือ บาดทะยัก
แล้วปัจจุบันเราทำอย่างไร หวังว่าพวกคุณๆคงไม่ถูกโบยกันแล้ว แม้หลายคนจะหน้าเหมือนคุณการะเกดก็ตามที เอามาประยุกต์ในการดูแลแผลถูกของแข็งกระแทกและขูดขีดได้
หากผิวหนังไม่มีการฉีกขาด มีแค่การช้ำ ถลอก ห้อเลือด ถือเป็นข่าวดีเพราะกำแพงที่แข็งแรงที่สุดยังอยู่ โอกาสติดเชื้อจะน้อยมาก ใช้น้ำสะอาดและสบู่ล้างแผลก็พอล้างหลายๆครั้ง อย่าให้ผิวฉีกขาด หลังจากนั้นก็ประคบเย็นเพื่อห้ามเลือดในวันแรก หลังจากนั้นประคบอุ่นได้
ใช้วาสลีนหรือครีมทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ผิวตรงนี้แตกง่าย ปิดผ้าหรือพันผ้าป้องกันการถลอกฉีกขาด หลังจากนั้นอาจมีไข้ ตัวร้อนได้เพราะการอักเสบและการบาดเจ็บ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่ก็ยังต้องระวังการติดเชื้อเพราะอาจมีแผลฉีกขาดที่ตามองไม่เห็น
จะมีอาการปวดบวมแดงร้อนมากขึ้น อาจมีหนอง ไข้สูงหรือผื่นแดงลุกลาม ก็ใช้ยาใส่แผลฆ่าเชื้อเช่นเบต้าดีนและรับประทานยาฆ่าเชื้อกลุ่มเชื้อโรคที่ผิวหนัง
แต่ถ้าผิวหนังฉีกขาดเลือดออก ถ้าแผลไม่ลึกมากอาจไม่ต้องเย็บ การล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาดมากๆ สำคัญมากเพราะไม่รู้ว่าวัตถุที่มาทำร้ายเรานั้นสกปรกเพียงใด หรือบางที ส่วนของร่างกายที่เกิดแผลสกปรกมากเช่นตกน้ำคลอง แล้วมีแผลแตก การล้างด้วยน้ำเกลือล้างแผลสะอาดหรืออาจใช้ร่วมกับสบู่ฆ่าเชื้อเช่น hibiscrub หรือ Betadine scrub มีประโยชน์มาก
หลังจากนั้นให้ปิดแผลแบบเปียก (wet dressing) คือใช้ผ้าก๊อสชุบน้ำเกลือโปะแผล เพิ่มความชุ่มชื้นและช่วยให้หายเร็ว เปลี่ยนแผลหนึ่งถึงสามครั้งต่อวัน ลดโอกาสหมักหมมติดเชื้อและช่วยเอาเนื้อตายออก หรือบางคนใช้วัสดุปิดแผลหรือใช้ครีมฆ่าเชื้อโปะไว้ ทั้งหมดนี้ทำจนกว่าแผลจะปิดจากด้านก้นแผลขึ้นมา
ควรพิจารณาการให้วัคซีนบาดทะยักทุกราย และอย่าลืมหากไม่เคยฉีดกระตุ้นคอตีบ ขอหนึ่งในสามเข็มเป็น dT หรือ ใครจะฉีดคอตีบ ไอกรน บาดทะยักแบบเข็มรวมสักเข็มในสามเข็มที่ต้องได้ก็ดี
ถามว่าอาการหนัก ไข้ ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อหรือไม่ อย่าลืมว่ายาฆ่าเชื้อไม่ใช่ยาลดไข้ เราจะใช้ยาฆ่าเชื้อกับบาดแผลเมื่อมีหลักฐานของการติดเชื้อ หรือให้ป้องกันในบางกรณีเท่านั้น หากแผลเปิดโดยผิวหนังเราสะอาด อาวุธที่ใช้ไม่สกปรก อันนี้ไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อแต่แรก สามารถติดตามอาการต่อได้
หากแผลมีหนอง มีเนื้อตาย ก็เพาะเชื้อแล้วให้ยาเชื้อส่วนมากก็เชื้อที่ผิวหนังเรา หรือหากขณะถูกโบยผิวหนังสกปรก หวายที่โบยเอาไปชุบน้ำสกปรกมา ก็ถือเป็นแผลปนเปื้อน อาจให้ยาฆ่าเชื้อแบบป้องกันก็ได้
การดูแลแผลต้องทำทุกวันจนกว่าจะหาย สามารถรับประทานเนื้อนมไข่ได้ตามปกติ ในช่วงแรกของการหายอาจจะมีแผลนูนแดงขึ้นได้ หลังจากนั้นก็จะยุบลงและสีกลืนไปกับผิวหนังปรกติ
ส่วนขุนเหล็กที่เสียชีวิต น่าจะเกิดจากการติดเชื้อซ้ำซ้อนครับ ดูๆแล้วเลือดจะไม่ได้ออกมาก การทนพิษบาดแผลไม่ไหวไม่ว่าจะเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตครับ สำหรับคุณการะเกดก็มีปฏิกิริยาแค่เล็กน้อยเท่านั้น
บุพเพสันนิวาส..ง่ายนิดเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น