01 มีนาคม 2561

การลดความดันที่ไม่จำเป็น

จริงๆปัญหานี้พบบ่อยมากนะครับ คือ ความดันโลหิตสูงมาก เราต้องรีบลดลงหรือไม่ การตัดสินใจที่อยู่บนเส้นด้าย จะไม่ลดแล้วจะเป็นอะไรไหม แล้วถ้าลดลงจะลดลงเมื่อไร ก่อนหน้านี้เคยเขียนภาวะนี้ไปแล้ว ลองไปทบทวนได้ที่นี่
http://medicine4layman.blogspot.com/2016/03/blog-post_17.html  แต่นี่เรามาดูผลจากการรักษาโดยไม่จำเป็นว่าส่งผลแบบใด

   ข้อมูลนี้ลงในวารสาร JAMA internal medicine 19 กพ. ที่ผ่านมา ด้วยการยกกรณีศึกษาดังนี้ หญิงอายุ 77 ปีคนหนึ่งมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูงและตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง มีอยู่วันหนึ่งเธอปวดท้องมาก ...คือโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังก็จะมีอาการปวดท้องเป็นๆหายๆนะครับ..ก็มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตรวจพบว่าก็เป็นจากตับอ่อนอักเสบนั่นแหละ ได้รับการรักษาโดยให้ยาฉีดมอร์ฟีน หลังจากฉีดยาไปความดันโลหิตเธอก็ต่ำๆ 100/60 หมอก็ให้หยุดยาความดันไปก่อน
   อีกสักพักเธอก็มีอาการปวดอีก สงสัยมอร์ฟีนหมดฤทธิ์และตับอ่อนอักเสบยังไม่ดีขึ้น ก็มีการวัดความดันตอนปวด ปรากฏว่าพุ่งสูง 247/118 แต่ก็ยังรู้ตัวดี ตรวจร่างกายก็ปรกติ

   เธอได้รับยาฉีดลดความดัน Hydralazine ขนาด 20 มิลลิกรัมทางหลอดเลือดดำทันที หลังจากฉีดความดันลดฮวบ ...คือยาฉีดลดความดันมันจะออกฤทธิ์เร็วมากครับ หลักเป็นนาที...เหลือ 90/54 และอยู่เท่านี้เป็นชั่วโมงๆ ตอนที่ความดันตกนี้ เธอก็วิงเวียน หน้ามืด ได้รับการให้น้ำเกลือและยาฉีดแก้อาเจียน ก็ดีขึ้น ความดันเริ่มขึ้น
  วันรุ่งขึ้น ...เธอมีภาวะไตวายเฉียบพลัน !! ครับ การที่ความดันโลหิตตกในตอนนั้น ทำให้เลือดไปเลี่ยงไตไม่พอในช่วงเวลาหนึ่ง จึงเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ภาษาปัจจุบันเรียกไตบาดเจ็บ เพราะเมื่อรักษาประคับประคองในอีกสองวัน ไตก็กลับมาทำงานปรกติ

  ความดันโลหิตสูงแบบที่เรียกว่าสูงเฉียบพลันและมีอันตราย นั่นคือถ้าปล่อยไว้อาจถึงแก่ชีวิต พวกนี้คือจะพบความเสียหายต่ออวัยวะ หัวใจ ไต สมอง และหลอดเลือด ก็จะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยแบบหัวใจวาย หรือมีภาวะสับสน ถามตอบไม่รู้เรื่อง ตามองไม่เห็น หรืออันตรายมากสุดคือ หลอดเลือดแดงใหญ่เกิดฉีกขาด จะมีอาการเจ็บหน้าอกมากๆร้าวทะลุหลัง
  ต้องใช้ประวัติ การตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคว่าอาการที่เกิดนี้คือความดันโลหิตสูงเฉียบพลันหรือไม่ ถ้าจำเป็นก็ต้องตรวจเพิ่มแบบด่วนเพื่อตัดสินใจรักษาให้ยาเร่งด่วนเช่นกัน
  ในการรักษาความดันสูงรุนแรงที่เรียกว่า hypertensive emergency เราจะใช้ยาที่ลดความดันทางหลอดเลือดดำ ที่จะลดเร็วมากเป็นหลัก "นาที" ต้องติดตามความดันใกล้ชิดมากหรือต้องใส่สายไปวัดความดันในหลอดเลือดแดง (arterial line placement) เพื่อลดความดันลงมา 25% ในชั่วโมงแรก และลดลงจนถึงเป้าประมาณ 160/100 ในยี่สิบสี่ชั่วโมง  สังเกตว่าก็ไม่ได้ลดฮวบเกินไปเช่นกัน

  เพราะถ้าลดฮวบ..ลดเร็วเกินไป อาจเกิดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆไม่ทัน อวัยวะขาดเลือดอย่างในตัวอย่างนี้ได้ 

   ส่วนในภาวะที่ความดันโลหิตสูงจริง แต่ไม่มีอวัยวะเสียหายเร่งด่วนเรียกว่า hypertensive urgency ก็ให้ตรวจหาสาเหตุ และให้ลดความดันลงในหลักเป็นวันนะครับ คือค่อยๆลด ขนาดด่วนๆเขายังลดไม่มากนักเลย นี่ไม่ด่วนจะไปลดเร็วๆมากๆก็ใช่ที่ แถมในตัวอย่างนี้ความดันก็ไม่ได้สูงจริง แต่เกิดจากปวดท้องต่างหาก

   มีการศึกษาที่ศึกษาข้อมูลย้อนหลังว่า ประมาณ 4% ของคนไข้ที่ได้รับยาฉีดทั้งๆที่ไม่จำเป็น และเคยมีการศึกษาว่า การรักษา Hypertensive urgency หากได้รับยาฉีดลดความดันเร็วๆ มีผลข้างเคียงจากการรักษาถึงหนึ่งในสามเลยทีเดียว
    แนวทางการรักษาทั้งของอเมริกา ACC/AHA 2017 และยุโรป ESH 2013 ระบุตรงกันในการรักษาความดันโลหิตสูงเฉียบพลันทั้งสองแบบ

  ก่อนให้ยาลดความดันทางหลอดเลือดดำควรไตร่ตรองให้รอบคอบว่าจำเป็นและคุ้มค่าหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม