ก่อนอื่น ผมขอเปิดเผยก่อนนะครับ ว่าไม่ได้มีส่วนกับผู้ชื่นชอบบุหรี่ไฟฟ้าหรือผู้ที่ไม่เห็นชอบบุหรี่ไฟฟ้าแต่ประการใด ส่วนตัวยังคงส่งเสริมและรณรงค์การเลิกยาสูบและนิโคตินทุกประเภท แต่จะทำบทความนี้ด้วยใจเป็นกลาง ให้ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้ทราบข้อเท็จจริง ตามรายงานทางวิชาการ สำหรับข้อคิดเห็นส่วนตัวที่ผมแทรก จะแทรกอยู่เป็นระยะ และจะบอกก่อน หากท่านใดมีข้อคิดเห็นอย่างไร จะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง ผมยินดีรับฟังเพื่อเป็นเวทีสร้างการเรียนรู้ครับ
ตั้งแต่บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มแพร่หลายนั้นประเทศอังกฤษมีคนใช้ 3ล้านแล้วนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่อันดับสองรองจากอเมริกา เมื่อมีการใช้มากขึ้นแน่นอนก็เริ่มมีคำถามสองอย่าง อย่างแรกคือผลต่อสาธารณสุขในภาพรวม..ย้ำว่าภาพรวมนะครับ และเรื่องของการจะใช้เป็นอุปกรณ์เลิกบุหรี่ได้หรือไม่ ซึ่งต้องคำนึงถึงว่าอาจทำให้ติดนิโคตินนานขึ้น และชักนำให้เยาวชนหันมาติดนิโคตินมากขึ้นหรือไม่
ต้องขอบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้าในสหภาพยุโรปและอังกฤษมีองค์กรควบคุมนะครับ เพราะที่นั่นสามารถใช้ได้ตามกฎหมาย การจะประยุกต์ใช้หลักการต่างๆนี้ในเมืองไทย ต้องคิดให้ถ้วนถี่ว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายของไทย
สถานการณ์ของอังกฤษในรอบ 40 ปีนี้ผู้สูบบุหรี่ลดลง แต่ก็ยังมีผู้สูบหน้าใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ
ภาษีสรรพสามิตจากบุหรี่ของอังกฤษในรอบปีที่ผ่านมาคือ 9.5 พันล้านปอนด์ในขณะที่รายจ่ายด้านสุขภาพจากบุหรี่ที่ต้องจ่ายคือ 2 พันล้านปอนด์ --ส่วนตัวนะครับ เอามาเทียบกับเมืองไทยไม่ได้นะครับ พันธุกรรม การรักษา สตางค์ต่างกัน-- และสาเหตุของสุขภาพที่เสียไปเกิดจาก "ควันบุหรี่เผาไหม้" ไม่ได้เกิดจากนิโคติน --ส่วนตัว แต่สาเหตุการติดคือนิโคติน ลองดูกลไกการติดนิโคตินในไลฟ์ที่ผมเคยทำเอาไว้นะครับ-- นโยบายเรื่องยาสูบของอังกฤษ จึงสนับสนุนการลดการสูบยาและใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินที่ปลอดภัยกว่าเดิม (คือปลอดภัยกว่าบุหรี่แบบเดิม) นี่เองที่เป็นจุดเริ่มของการศึกษาว่าบุหรี่ไฟฟ้ามันปลอดภัยและตอบโจทย์ของเขาไหม
ตัวเลขทางสถิติของอังกฤษบอกว่าหลังจากบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายนั้นอัตราการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวเลขประมาณสามล้าน แต่อัตรานั้นเริ่มชะลอตัวในช่วงสองปีนี้ ตัวเลขทางสถิติที่ผมจะแสดงนี้ ตัวเลขเป็นข้อเท็จจริง แต่สาเหตุต่างๆนั้นเป็นบทวิเคราะห์ของผมนะครับ
61% ของผู้สูบบุหรี่เคยลองบุหรี่ไฟฟ้า แต่มีผู้ใช้ต่อเนื่องเพียง 19% -- บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่สามารถมาตัดยอดหรือแทนบุหรี่จริงๆได้
19% ของผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เคยลองบุหรี่ไฟฟ้า แต่มีผู้ใช้ต่อ 8% -- ชักนำให้สูบหรือติดนิโคตินมากขึ้นหรือไม่ ก็คงมากขึ้นจริงครับ--
ในตัวเลขสองชุดนี้ ต้องบอกว่าผู้ลองใช้บุหรี่ไฟฟ้า ลองมาใช้ดู เพิ่มขึ้น แต่ว่าใช้ต่อไม่มากนักนะครับ
เด็กอายุ 11 ปีลองใช้บุหรี่ไฟฟ้า 5% ส่วนอายุ 16 ปีเคยลองใช้อยู่ที่ 26% ไม่ได้มีรายงานการใช้ต่อเนื่องที่สำคัญทางสถิติ --แต่ว่าลองสังเกต เด็กสิบหกปีลองบุหรี่ไฟฟ้าถึง 26% มากกว่าผู้ใหญ่ที่ไม่เคยสูบ (19%) เสียอีก แม้ว่าจะไม่ได้แสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนติดนิโคตินมากขึ้น แต่แสดงให้เห็นว่าเยาวชนไปลองบุหรี่ไฟฟ้ามากจริงนะครับ--
บุหรี่ไฟฟ้าขยายตลาดเร็วมากประมาณปีละ 50% เดิมทีนั้นเป็นตลาดของผู้ผลิตรายย่อย แต่ปัจจุบันนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ก็เริ่มมาเป็นส่วนแบ่งในตลาดแล้ว ไม่ใช่แค่บุหรี่ไฟฟ้าที่เราเคยเห็น เขามาพร้อมผลิตภัณฑ์แบบใหม่ๆ ที่ยกตัวอย่างในรายงานนี้คือ "เผาแต่ไม่ไหม้" คือลดปริมาณความร้อนเผาไหม้ลงนั่นเอง เพื่อจะทำให้อันตรายจากควันการเผาไหม้นั้นลดลง สังเกตว่าการเข้ามาของบริษัทยักษ์ใหญ่ทำให้เกิดข้อกังขาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการกำหนดนโยบาย --ส่วนตัวนะครับ แน่นอนล่ะ อัตราการเติบโตและกำไรมันหอมหวานขนาดนี้ ใครก็ต้องการมาลงทุนอยู่แล้ว บุหรี่มวนลดลง บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น และยังไปสอดคล้องกับนโยบายรัฐอีก ส่วนจะทับซ้อนหรือไม่..ผมไม่ทราบครับ--
ผลกระทบต่อผู้เสพ..จากงานวิจัย
จากการสำรวจนะครับ ผู้คนโดยรวมคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นโทษพอๆกับบุหรี่จริงเพิ่มขึ้นสามเท่าในสามปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ส่วนนี้เพิ่มขึ้นจาก 55% เป็น 69% -- แสดงให้เห็นมุมมองและการเลือกเชื่อข้อมูลในแต่ละกลุ่ม ทั้งๆที่มาจากข้อมูลชุดเดียวกัน-- ในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่จริง เขาก็เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากกว่าบุหรี่จริง !!! (เดิมคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย 40% สามปีถัดมา คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยนั้นลดลงเหลือแค่ 29%) ส่วนเด็กๆ เขาก็คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย แต่เขาคิดว่าอันตรายจากสารแต่งสีแต่งกลิ่นครับ
ผลกระทบต่อผู้เสพโดยตรงและบุคคลรอบข้างนั้น มุ่งเน้นไปที่ควันอันเกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งข้อมูลตรงนี้แปรปรวนพอควรนะครับ เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลที่หลากหลาย ไม่ได้ควบคุม มีผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่หลากหลายที่ใช้ ไม่ได้เป็นแบบเดียวกันทั้งหมด เรียกว่าเป็นตัวแปรที่แปรปรวนมากทีเดียว
ผลการศึกษาออกมาว่า ในควันที่ผู้สูบสูดเข้าไปมีสารที่ทำให้เกิดพิษจริง ทั้งที่ระบุไว้และนอกเหนือจากที่ระบุไว้ --ส่วนตัวนะครับ น่าจะเกิดจากพฤติกรรมการสูบที่ไม่เหมือนกันอาจมีแหวกแนวบ้าง-- แต่ว่าระดับของสารเคมีที่เกิดขึ้นยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าจะทำให้เกิดอันตรายในมนุษย์ นี่คือข้อมูลตอนนี้นะครับข้อมูลผลที่จะเกิดในมนุษย์ในระยะยาวคงต้องรอไปก่อน ส่วนควันที่พ่นออกมาพบว่าแทบไม่มีผลต่อคนรอบข้างเลยในแง่พิษและนิโคติน --ส่วนเรื่องรำคาญและผิดกฎหมายอีกเรื่องหนึ่งนะครับ--
อันตรายเรื่องของการระเบิด มักเกิดกับวิธีการใช้ไม่ถูกต้อง และที่ชาร์จไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอัตราการเกิดก็เท่ากับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป อันตรายจากน้ำยาเหลวหรือการใส่เกินขนาด เป็นขึดที่ทางคณะกรรมการจะนำเสนอหน่วยงานควบคุมให้ออกกฎเคร่งครัดในประเด็นนี้ บรรจุภัณฑ์ สารเคมี ตลับนิโคติน
การใช้เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยหยุดบุหรี่ (ส่วนตัวผมว่ามันงงๆ นะครับ ใช้บุหรี่เพื่อเลิกบุหรี่ สำหรับคำแนะนำของผมเอง ผมมักจะไม่นิยมสารทดแทนบุหรี่ แต่จะใช้ยาและพฤติกรรมบำบัดมากกว่า)
ตั้งแต่ปี 2013 กลุ่มคนที่ต้องการเลิกบุหรี่ หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนหมากฝรั่งหรือแผ่นแปะ ครึ่งต่อครึ่ง โดยข้อมูลจากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าบอกว่า พวกเขาเลิกบุหรี่มวนได้มากขึ้นเมื่อมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า --แต่นี่คือข้อมูลจากการสำรวจผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้านะครับ ไม่ใช่ข้อมูลจากผู้ที่เลิกสำเร็จทั้งหมด ต้องพิจารณาตรงนี้ด้วย--
แล้วถามว่ามีข้อมูลจากการศึกษาแบบทางการแพทย์แบบการทดลองซึ่งน่าเชื่อมากกว่าการสำรวจหรือไม่ คำตอบคือ..มีนะครับ โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์สหราชอาณาจักร ข้อมูลที่ได้สรุปออกมาดังนี้
A. ถ้าเทียบกับไปหาซื้อ สารทดแทนนิโคตินอื่นๆมาใช้เองโดยไม่ได้ควบคุมโดยแพทย์ บุหรี่ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพในการเลิกมากกว่าตัวทดแทนอย่างอื่นเกือบ 50%
B. ถ้าเทียบกับให้หมอเป็นคนสั่งและดูแลสารทดแทนนิโคติน (ไม่ได้เข้าคลินิกเลิกบุหรี่นะ) พบว่าประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ พอๆกัน
C. ถ้าเทียบกับการเข้าคลินิกเลิกบุหรี่เต็มรูปแบบ อันนี้การเข้าคลินิกจะดีกว่ามากครับ
ส่วนการศึกษาถึงการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่..ในคลินิกเลิกบุหรี่..--ส่วนตัวคิดว่าอันนี้ดูจะดีนะครับ ตามทฤษฎีเพราะมีการควบคุมการใช้เข้มงวด-- การศึกษานี้ทำลังดำเนินอยู่ ต้องรออีกหน่อยครับ
ข้อด้อยของประเด็นใช้เป็นอุปกรณ์การเลิกบุหรี่คือ ข้อมูลที่เป็น clinical trials ซึ่งถือเป็นลำดับความน่าเชื่อถือสูงที่สุดของการรักษาทางการแพทย์นั้น มีน้อย ที่มีน้อยๆก็ไม่สมบูรณ์ด้วย ข้อมูลที่มาสรุปเรื่องการเป็นอุปกรณ์การเลิกบุหรี่นั้น มาจากการศึกษาเล็กๆ หรือจากการสำรวจ ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าเป็นหลักฐานที่อ่อนครับ --จึงยังไม่สามารถยืนยันอนุมัติให้ใช้เป็นอุปกรณ์ในการเลิกบุหรี่นั่นเอง--
อีกอย่างข้อมูลต่างๆนั้นมาจากบุหรี่ไฟฟ้ายุคแรกๆ ประสิทธิภาพการส่งนิโคตินยังไม่ดีมาก ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าใช้เลิกได้ และถ้าคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้ายุคใหม่ที่ประสิทธิภาพการนำส่งนิโคตินดีกว่ายุคเก่าๆ โอกาสจะเลิกบุหรี่คือยุติการเสพนิโคตินได้ ก็จะยากขึ้น (เพราะส่งนิโคตินได้ดีมากนั่นเอง)
ตัวเลขคนที่เข้ารับบริการคลินิกเลิกบุหรี่ที่ลดลง ดูสอดคล้องกับตัวเลขบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและบุหรี่มวนที่ลดลง แต่ว่าไม่สามารถแปลว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้วจะไม่ต้องเข้าบริการคลินิกเลิกบุหรี่นะครับ ห้ามแปลแบบนั้นเพราะไม่ได้มาจากการศึกษาที่ออกแบบมาตอบปัญหานี้โดยตรงเป็นแค่ข้อสังเกตทางตัวเลข ที่อาจจะถูกหรือผิดก็ได้
ผลกระทบทางสังคม
กับคำถามที่ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นทางเริ่มไปสู่การเสพอย่างอื่นหรือกลับมาสูบบุหรี่หรือไม่ โดยเฉพาะกับเยาวชน รายงานนี้แจ้งว่ายังไม่มีผลการศึกษาที่ยืนยันความคิดเหล่านั้น ***อันนี้ขอดอกจันเลยนะครับ การที่ยังไม่มีผลการศึกษาว่าเกี่ยวข้อง ไม่เท่ากับ การมีผลการศึกษาว่าไม่เกี่ยวข้อง*** พูดเป็นภาษาง่ายๆคือ ยังไม่รู้นั่นเอง ไม่มีคำตอบ ต้องศึกษาทดลองจึงจะรู้ว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้อง คำอธิบายอยู่ที่สถิติของจริงตอนต้นที่ผมอธิบายไปแล้ว
แล้วการกำหนดเขตปลอดควัน มีผลไหม คำตอบคือ การกำหนดเขตปลอดควันของทางอังกฤษไม่ได้รวมบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในนั้น ดังนั้นสถานที่หรือองค์กรใดจะกำหนดพื้นที่ปลอดควันว่าจะปลอดทั้งหมด หรือปลอดเฉพาะควันบุหรี่จริง อันนี้เป็นดุยพินิจของแต่ละสถานที่ครับ ยังไม่มีข้อมูล...มาอีกแล้ว ยังไม่มีข้อมูล..นะครับ ว่าการห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลอย่สงไรต่อการกลับมาสูบบุหรี่ใหม่และสุขภาพของสาธารณะ..--- ส่วนตัวนะครับ อนาคตอาจมีข้อมูลมากขึ้นอาจเป็นทางบวกหรือทางลบก็ได้-- หลายองค์กรก็ห้ามหลายองค์กรก็ไม่ห้าม อันนี้ไม่มีใครถูกผิด
การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
EU tobacco products directives กำหนดนโยบายให้หลายๆประเทศนำไปใช้ หนึ่งในนั้นคืออังกฤษ --ผมไม่แน่ใจถ้าอังกฤษออกจากอียู กฎนี้เขาจะยังใช้อีกหรือไม่-- ดังนั้นถ้าจะนำบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้องมาจำหน่ายจะต้องผ่านการอนุญาตและมีการรับรองด้วย --ตรงนี้จะเห็นว่าการควบคุมของเขาต่างจากเรา ไม่ได้ควบคุมแต่ตัวกฎหมายแต่คุมไปถึงมาตรฐานการผลิตด้วย--
ทางอังกฤษกำหนดตายตัวเมื่อ 20 พค. 2559 ถึงมาตรฐานการผลิต ขนาดบรรจุ อุปกรณ์ นิโคตินรีฟิวส์ มีได้ไม่เกินเท่าไร ปลอดภัยอย่างไร บังคับตั้งแต่การผลิตเลย ส่วนล็อตที่ออกมาก่อนหน้านี้ผู้ค้ารายย่อยต้องกำจัดให้หมดก่อน 20 พค. 2560 เพราะอาจไม่ได้มาตรฐานใหม่ที่กำหนด --เขาเข้มงวดกว่าเรามาก จึงคุมอยู่ พ่อค้านอกแถวไม่น่าจะมากมาย--
ภาชนะใส่นิโคตินและการบรรจุนิโคติน พบว่าใช้เกินเพียง 10% แต่ก็ทำให้เกิดแนวคิดที่จะทำอุปกรณ์ที่ควบคุมปริมาณนิโคตินที่คงที่ ปรับไม่ได้และแน่นอนปริมาณนิโคตินน้อยลง แต่ก็ยังมีเสียงคัดค้านว่า อาจจะเป็นจุดที่ผู้ค้าเถื่อนจะขายบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคตินสูงๆมาแทรกตลาดได้
การควบคุมสื่อ การโฆษณา ถูกควบคุมเข้มงวดมากเลยนะครับ ในสื่อต่างๆทีวี วิทยุ แต่บางส่วนก็ไปโผล่ตามป้ายต่างๆ ข้างรถบัสก็มี --อันนี้คงต้องควบคุมจริงๆนั่นแหละ ทั้งบุหรี่จริงและบุหรี่ไฟฟ้า แต่อยากรู้จังว่าเมื่อคุมการนำเสนอขนาดนั้น ข้อมูลยังมีตั้งมากมาย อยากรู้จริงๆว่าเขาคุมอย่างไร-- หลายๆคนเห็นชอบด้วยเพราะไม่อยากให้เด็กๆรู้และจดจำ แต่ในทางปฏิบัติอาจทำเรื่องพวกนี้ยาก ให้เปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ไม่ให้ดูเหมือนการเป็นโปรโมทสินค้า ท่านลองคิดสิ ยากนะ--
การจดทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้าเป็นยา
การจะจดทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้าเป็นยา โดยเฉพาะเพื่อรับรองการใช้เพื่อเลิกบุหรี่นั้น ต้องทำการศึกษาทดลองทางคลินิกเพื่อให้เห็นประสิทธิภาพและความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเทียบกับผลิตภัณฑ์ทดแทนนิโคตินอย่างอื่น (ต้องเทียบกับผลิตัณฑ์ทดแทนนิโคตินนะครับ จะไปเทียบกับยาเลิกบุหรี่ไม่ได้คนละประเภทกัน) โดยมีระเบียบวิธีวิจัยทางคลินิกที่ถูกต้อง
ปัจจุบันนี้มีบุหรี่ไฟฟ้าของ british american tobacco subsidiary อยู่ตัวหนึ่ง ตัวเดียวเท่านั้น ได้รับอนุญาตเป็นยาแล้ว !!! แต่ยังไม่พร้อมวางจำหน่าย ตัวบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับอนุมัติมีสองขนาดนิโคตินเท่านั้น --คล้ายๆกับยาที่มีขนาดที่ใช้ในการรักษา-- โดยการรับรองของทางการอังกฤษ แต่ยังมีแค่ตัวเดียวนะครับ ผลจริงๆในการใช้และสิ่งที่จะเกิดหลังจากวางขายที่เรียกว่า postmargeting results ยังไม่มีข้อมูล
การพัฒนาเป็นยา อาจเป็นอีกก้าวของการพัฒนาศักยภาพและความปลอดภัยบุหรี่ไฟฟ้า แต่เมื่อมาเป็นยาก็จะต้องมีการควบคุมการศึกษาเข้มงวด รายได้จากบุหรี่ไฟฟ้าเดิมภาษี 20% เมื่อเป็นยาก็จะหดลงเหลือ 5% ทั้งภาษีและกระบวนการการทดสอบที่ค้องใช้เวลานาน การควบคุมเคร่งครัด ทำให้โอกาสจะเอามาใช้เป็นยานั้น..ลดลง --เรียกว่าไม่คุ้มนั่นเองครับ ส่วนตัวนะ-- มีข้อมูลเล็กๆน้อยๆจากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าว่าที่เขาใช้ทุกวันนี้ก็เพราะว่ามันไม่ได้จดทะเบียนเป็นยานี่แหละ (เพราะคงมีข้อบังคับมากมาย)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
เล่าเรื่องเชื้อดื้อยา มนุษย์เราได้มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาตั้งแต่ยุคของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังต้องพัฒนาต่อไป เพร...
-
เทคโนโลยียุคใหม่ช่วยเราได้มาก ปรกติแล้วการใช้เครื่องช่วยหายใจนั้น จะมีโหมดการทำงานมาตรฐานไม่กี่อัน และเจ้าไม่กี่อันนี้ถือว่าใช้ได้ดีทีเดียวค...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น