น้ำพริกใส่ลูกเนียง ลูกเนียงต้ม ขนมจีนใส่ลูกเนียง ... อร่อยครับ แต่ว่าลูกเนียงกินมากๆก็ไม่ปลอดภัยเสียทีเดียว
ลูกเนียง (djenkol beans) เป็นเม็ดในฝักจากต้นเนียง สามารถนำฝักแก่มาแกะเม็ดนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด นิยมทางปักษ์ใต้ ในวารสารต่างชาติก็บอกว่าลูกเนียงพบมากในแถบอาเซียนเรา รายงานพิษครั้งแรกๆก็มาจากอินโดนีเซีย หลายๆท่านคงชื่นชอบ
แต่ว่าลูกเนียงนั้น ถ้ากินมากเกินไป อาจทำให้เกิดพิษขึ้นมาได้ และพิษเกิดที่ท่อไต ต้องกินมากๆนะครับ แต่ก็ไม่ทราบปริมาณที่ชัดๆในรายงานก็มีตั้งแต่ 10 เม็ดจนถึง 50 เม็ด
พิษที่เกิดขึ้นเกิดจากองค์ประกอบในลูกเนียงที่ชื่อว่า กรดเจ็งโคลิก (djenkolic acid)
กรดเจ็งโคลิก (Djenkolic acid) ที่เกิดพิษหลักๆจะเกิดพิษที่หน่วยไต และท่อไต คือจะไปตกตะกอนที่ท่อไตครับ คล้ายๆกับกรดยูริกเช่นกัน กรดยูริกที่เรารู้จักว่าไปตกตะกอนที่ข้อเท้าทำให้เป็นเก๊าต์ มันก็ตกตะกอนที่ท่อไตทำให้ท่อไตบาดเจ็บเช่นกัน ยิ่งถ้าปัสสาวะมีภาวะกรดก็จะตกตะกอนง่าย ปัสสาวะคนเราปกติก็เป็นกรดอ่อนๆครับ
เมื่อเจ้าเจ็งโคลิกหรือยูริกก็ตามตกตะกอนที่ท่อไป ก็จะเกิดการอุดตัน เกิดปัสสาวะมีเลือดปน รวมทั้งตัวตะกอนก็เป็นพิษต่อท่อไตโดยตรงด้วย ทำให้มีอาการปวดท้อง ปวดเอว ปัสสาวะออกน้อย ปนเลือดออกมา คล้ายๆเป็นนิ่วได้
มีส่วนน้อยจริงๆ ที่จะเกิดพิษรุนแรงจนเกิดการบาดเจ็บถึงขั้นไตวาย ซึ่งการเกิดไตวายเรายังไม่ทราบกลไกที่สมบูรณ์นัก เชื่อว่าเกิดจากท่อไตบาดเจ็บพร้อมๆกันแล้วอุดตัน การวิจัยไม่มีมากเพราะมันไม่ได้เป็นโรครุนแรงมากมายอะไร
ส่วนมากเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงครับ เกิดได้ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกินเข้าไป จำนวนการกินจนเกิดพิษมีหลากหลายมาก แต่ก็เชื่อได้ยากนะครับเพราะส่วนใหญ่ได้ข้อมูลจากการถามว่าจำได้ไหมกินไปเท่าไร ข้อมูลที่ได้คือ กินมาก..
ถ้าเกิดอาการดังกล่าวหลังจากกินลูกเนียง ตรวจปัสสาวะมีความผิดปกติ อาจมีการทำงานของไตแย่ลงชั่วคราว บางรายอัลตร้าซาวนด์พบการอุดกั้นเล็กน้อย เมื่อไม่มีสาเหตุอื่นๆอีก ก็คงเป็นจากลูกเนียงนี่เอง
การรักษาไม่ยาก ใช้การประคับประคองอาการ ให้สารน้ำให้พอเพียง ระวังการติดเชื้อซ้ำซ้อน และให้สารละลายด่าง sodium bicarbonate ถ้าไม่มีข้อห้าม เพื่อให้เลือดและปัสสาวะเป็นด่าง กรดเจ็งโคลิกก็จะละลายได้ดีขึ้น (คล้ายกับการรักษาการยูริกตกตะกอนที่ท่อไตเช่นกัน) ติดตามดูอาการก็จะดีขึ้น แต่ในรายที่อาการรุนแรงก็คงต้องให้การรักษาทดแทนไตชั่วคราว โดยการฟอกเลือดไปก่อนครับ
ยังไม่ต้องกลัวการกินลูกเนียงนะครับ เพียงแต่ถ้ากินมากๆๆ แล้วเกิดความผิดปกติต้องรีบไปพบแพทย์ อย่าลืมให้ประวัติกินลูกเนียงด้วยนะครับ
ที่มา
Int Med Case Rep J. 2014; 7: 79–84.
wikipedia
ฐานข้อมูลสนุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล
10 เมษายน 2560
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
เล่าเรื่องเชื้อดื้อยา มนุษย์เราได้มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาตั้งแต่ยุคของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังต้องพัฒนาต่อไป เพร...
-
เทคโนโลยียุคใหม่ช่วยเราได้มาก ปรกติแล้วการใช้เครื่องช่วยหายใจนั้น จะมีโหมดการทำงานมาตรฐานไม่กี่อัน และเจ้าไม่กี่อันนี้ถือว่าใช้ได้ดีทีเดียวค...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น