เอ้า..เอาใจคุณพยาบาลกันหน่อย กับ port a cath
port a cath เป็นอุปกรณ์สายสวนหลอดเลือดดำชนิดหนึ่ง ปลายข้างหนึ่งสวนเข้าอยู่ในหลอดเลือดดำปลายสายอยู่ในหลอดเลือดดำใหญ่ superior vena cava ตรงตำแหน่งที่ต่อกับหัวใจห้องบนขวา ส่วนอีกปลายไต่มาตามหลอดเลือด แทงทะลุผนังหลอดเลือดมาเปิดที่ใต้ผิวหนังบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า แล้วเราก็ฝัง port ที่เป็นตลับยางซิลิโคนขนาดประมาณเหรียญสิบบาท ไว้ใต้ผิวหนังต่อกลับปลายสายที่ออกมาจากหลอดเลือด
ก็จะได้เป็นทางเข้า หรือ ข้อต่อเข้าหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ ที่กึ่งถาวร เย็บปิดผิวหนังก็จะเห็นแต่ตลับนูนๆเท่านั้น
ความสำคัญของ port คือ ตรงจุดที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนังที่เราจะแทงเข็มเพื่อให้ยานั้น ทำด้วยซิลิโคน เมื่อแทงเข้าไปก็ให้สารน้ำและยาได้อย่างสะดวก เมื่อดึงเข็มออกเจ้ายาซิลิโคนนี้ก็จะยืดหยุ่นมาปิดรูแทงเข็มจนสนิท เลือดไม่ออก สิ่งสกปรกไม่เข้า ...ไม่ต้องเปิดเส้นบ่อยๆ แถมเป็นหลอดเลือดดำใหญ่ สารน้ำวิ่งคล่องอย่างกับรถไฟความเร็วสูง ยาเคมีบำบัด หรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำเข้มข้นแค่ไหนก็ไม่ระคายเคือง
แต่ต้องใช้เข็มที่ออกแบบมาสำหรับซิลิโคนยี่ห้อนั้นๆ จึงจะสามารถแทงเข็มได้เป็นร้อยๆครั้งอย่างที่บริษัทผู้ผลิตเขาอ้าง ถ้าใช้เข็มทั่วไป อายุการใช้งานจะลดลงครับ
เวลาแทงเข็มให้แทงที่ซิลิโคนตรงตลับนะครับ ต่ำกว่านั้นจะเป็นซิลิโคนและฟองน้ำเพื่อวัตถุประสงค์อื่น
การใส่ port จะไปทำในห้องผ่าตัดที่มีเครื่องเอกซเรย์เพราะต้องตรวจสอบตำแหน่งสาย ก่อนเย็บปิด (วิธีใส่ก็เหมือนกับการใส่สายสวนหลอดเลือดดำมาตรฐาน) เมื่อเย็บปิดออกจากห้องผ่าตัดแล้วซึ่งส่วนมากจะปิดสนิทกันน้ำมาเลยเนื่องจากเป็นแผลสะอาด วันแรกก็อย่าออกแรงมาก วันต่อๆมาก็ออกแรงปกติแต่อย่าเพิ่งโลดโผน ถ้าแผลเปียกน้ำให้ไปแกะผ้าปิดแผลออกและทำแผลใหม่ ประมาณหนึ่งสัปดาห์แผลก็จะติดสนิท แกะออก ตัดไหม แล้วก็โดนน้ำได้ ออกกำลังกาย ใช้ชีวิตได้ปกติครับ
เวลาใช้ก็ทายาฆ่าเชื้อ เตรียมเข็มปีกผีเสื้อที่ให้มาพร้อมกับ port หรือ ทางผู้ผลิต port บอกว่าใช้ได้ ต่อยาให้เรียบร้อย เราจะมาทดสอบสายกันก่อนโดยใช้น้ำเกลือสะอาดตรวจสอบการอุดตันและหล่อสายว่าไม่ตันไม่รั่ว แล้วก็เสียบเข็มปีกผีเสื้อ ขึงผิวหนังให้ตึงแล้วแทงเข็มตั้งฉากกับผิวหนัง พับปีกผีเสื้อแล้วใช้พลาสเตอร์ยึดกันหลุด
เวลาเอาออกก็ดึงตรงๆ เข็มอย่าเพิ่งทิ้ง เอาให้คนที่ไม่เคยใช้ลองจับฝึกจับฝึกพับดูก่อน แล้วค่อยทิ้ง...ยกเว้นปนเปื้อนเคมีบำบัดให้ทิ้งเลย
หลังจากไม่ใช้ให้หล่อสายด้วยเฮปาริน ขนาดของเฮปารินให้ดูจากคำแนะนำของผู้ผลิต port แต่ละยี่ห้อไม่เท่ากัน และถ้าไม่ได้ใช้มานานกว่า 4 สัปดาห์ให้มาตรวจสอบการตันและหล่อสายด้วยเฮปารินทุกๆ 4 สัปดาห์
นิยมให้เคมีบำบัด สารอาหารทางหลอดเลือดดำ ตามคำแนะนำให้ดูดเลือดไปตรวจได้ แต่ผมไม่แนะนำนะครับ ระวังการปนเปื้อนเฮปารินทำให้ค่าเลือดต่างๆแปรปรวน
โอกาสติดเชื้อมีไม่มากเพราะมันอยู่ในร่างกาย ถ้าเทคนิคการใส่เข็มให้ยาสะอาด การอักเสบเล็กๆน้อยๆการติดเชื้อรอบๆจุดแทงเข็มอาจเกิดได้ระดับไม่รุนแรง ก็สามารถให้ยาฆ่าเชื้อได้ แต่ถ้าติดเชื้อรุนแรงหรือสงสัยติดเชื้อในหลอดเลือดตรงที่ใส่สายก็ต้องเอาออกครับ โอกาสตันและมีลิ่มเลือดมีไม่มากถ้าหล่อสายด้วยเฮปาริน และใช้วิธีที่ถูกตามคำแนะนำครับ
จบบทความนี้คงช่วยเพิ่มความเข้าใจ และเพิ่มความมั่นใจทั้งผู้ป่วยที่ต้องใส่ port ,ญาติที่ต้องดูแล ,คุณพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วย ,คุณหมอที่ต้องถูกตามไปดูเวลา port มีปัญหาด้วยครับ
เนื้อหาและภาพจาก jama oncology เพิ่มเติมเล็กน้อยจาก NIH clinical center กับ wikipedia
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น