คัดกรองมะเร็งลำไส้ แนวทางที่มีคนศึกษาและให้ความสนใจมาก มีข้อมูลใหม่ออกมาทุกปี ข้อมูลล่าสุดออกมาจาก USPSTF (preventive services taskforce) มีอะะไรใหม่ มีอะไรแตกต่างจากเดิม ผมจะสรุปแบบเอาไปใช้ได้เลยนะครับ
ทำไมต้องคัดกรอง..การคัดกรองด้วย การตรวจอุจจาระและการตรวจลำไส้ด้วยกล้องในส่วนซิกมอยด์ ลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ลงได้ นอกจากนี้การตรวจพบมะเร็งในระยะต้นจะรักษาง่ายกว่า ใช้การผ่าตัดอย่างเดียวได้ ส่วนการส่องกล้องทั้งลำไส้ใหญ่นั้น เห็นได้ดีกว่าแน่ๆ แต่ยุ่งยากกว่า และการศึกษาเพื่อดูการลดอัตราตายยังไม่เสร็จสมบูรณ์
ต้องคัดกรองทุกคนไหม..ต้องเข้าใจก่อนว่าถ้ามีความเสี่ยงก็คัดกรอง ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือ อายุครับ ส่วนมากมักเป็นหลัง 50 ค่ากลางๆที่ 68 ปี ดังนั้นถ้าท่านอายุเกิน 50 ปีก็นับว่าเสี่ยง ต้องตรวจครับ
ความเสี่ยงที่สองคือมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือเนื้องอกชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม ท่านก็จะเสี่ยงมากกว่าปกติ ไม่ต้องรอจน 50 ปีก็คัดกรองได้เลย
ความเสี่ยงที่สองคือมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้หรือเนื้องอกชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม ท่านก็จะเสี่ยงมากกว่าปกติ ไม่ต้องรอจน 50 ปีก็คัดกรองได้เลย
อันตรายไหม... การตรวจนั้นมีอันตรายน้อยมาก อัตราเสี่ยงมากสุดคือการส่องกล้องตลอดลำไส้ (colonoscope) ซึ่งก็เสี่ยงไม่มาก ประโยชน์ที่ได้คุ้มกว่า เสี่ยงถ้าอายุมากหรือการเตรียมลำไส้ไม่ครับ
การตรวจอุจจาระ ไม่เสี่ยงเลย....ยกเว้นท่านจะเจองูเหลือมในชักโครกเท่านั้น
การตรวจอุจจาระ ไม่เสี่ยงเลย....ยกเว้นท่านจะเจองูเหลือมในชักโครกเท่านั้น
ตรวจยังไงบ้าง.. สามวิธีครับ วิธีตรวจอุจจาระ ราคาถูก ไวพอตัว วิธีการเห็นภาพ ทั้งส่องกล้องและเอ็กซเรย์ วิธีอันใหม่คือตรวจเลือด แต่ไวน้อยและเฉพาะเจาะจงน้อยกว่า ว่ากันแต่ละวิธีเลยนะ
ตรวจอุจจาระอันนี้ง่ายราคาถูก เรียกว่าการตรวจ gFOBT ก็ตรวจทุกปี หรือถ้าใช้วิธีที่เจาะจงกว่าคือตรวจหา สารเคมี fecal immunochemical test หรือหาสารดีเอ็นเอ FIT-DNA ก็จะตรวจทุกๆสามถึงห้าปี ไม่ใช่การตรวจอุจจาระตามมาตรฐานทั่วไป ต้องเจาะจงนะครับ ตรวจอุจจาระเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ อันนี้ทุกๆแนวทางเหมือนกันหมด
ตรวจโดยการมองเห็น ตกลงก่อนว่าทั้งโลกนี้เลิกสวนแป้งทางทวารหนักเพื่อคัดกรองนะครับ (barium enema) แต่ถ้าเป็นการวินิจฉัยก็อีกเรื่องหนึ่ง เราใช้การส่องกล้องตรวจลำไส้ส่วนซิกมอยด์ คือส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ (flexible sigmiodoscopy) ร่วมกับการตรวจอุจจาระแบบ FIT หรือ FIT-DNA ทุกๆ 5 ปีครับ
ตรวจต่อมาคือ การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ วิธีนี้จะปลอดภัยหน่อย ไม่ต้องสอดอะไรเข้าไป แต่ก็จะตัดชิ้นเนื้อไม่ได้ และตุ่มเล็กมากๆขนาด 3 มิล 5 มิล อาจมองพลาดได้ครับ และสามารถดูโครงสร้างนอกลำไส้ร่วมด้วย แต่ไอ้การที่เราเห็นโครงสร้างนอกลำไส้โดยที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักนี่แหละครับ มันจะทำให้เราต้องไปทำนู่นทำนี่เพิ่มเติมโดยที่ไม่จำเป็น และก็มักจะพบเกินจำเป็นนี่ 40% ซึ่งจำเป็นต้องรักษาจริงๆแค่ 3% เท่านั้น
การตรวจที่ถือว่าเป็นมาตรฐานที่สุด แต่ยุ่งยากที่สุดและเสี่ยงที่สุดคือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (COLONOSCOPY) สามารถเห็นได้ดี ตัดชิ้นเนื้อได้ แทรกซอน มุด เลี้ยวได้ แต่ก็ทะลุได้เช่นกัน ต้องเตรียมลำไส้ดีๆ และเป็น operatordependent คือขึ้นกับความเชี่ยวชาญผู้ทำด้วยนะครับ ไม่ว่าเริ่มต้นเราจะตรวจด้วยขั้นตอนใด ถ้าสงสัยสุดท้ายก็ต้องมาใช้วิธีนี้เป็นคำตอบสุดท้ายครับ
ตรวจเลือด อ๊ะๆๆ อย่าเพิ่งเข้าใจว่าเป็นการตรวจหาสาร CEA ที่ใช้ "ติดตามการรักษา" โรคมะเร็งนะครับ อันนี้ใช้กันสับสนและนำพาไปสู่การตรวจโดยไม่จำเป็นเยอะมาก สารในเลือดที่เราตรวจคือ circulating methylated SEPT9 DNA นะครับ FDA เพิ่งจะอนุมัติการตรวจวิธีนี้เมื่อสามเดือนก่อน เป็นการตรวจหาชิ้นส่วนการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ มีความไวแค่ 72% และเฉพาะเจาะจงแค่ 89%เท่านั้น ส่วนตัวคิดว่าแพง ไม่ไว และสู้วิธีอื่นได้ยากครับ ตองรอการค้นคว้าต่อไป
ตรวจเจอแล้วทำไง...เมื่อคัดกรองพบ ก็ต้องตรวจโดยวิธีที่เฉพาะ แม่นยำ และได้ชิ้นเนื้อมาตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยเสมอ คือการส่องกล้องตลอดลำไส้ใหญ่และตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ หรือการผ่าตัดครับ
ตรวจไปจนแก่เฒ่าเลยนิ...ก็ถ้าอายุเกิน 75 ก็ตรวจได้ครับแต่ว่าประโยชน์แห่งการตรวจและการลดอัตราตายไม่ได้มากมาย เพราะว่า..อันนี้ว่าตามเหตุผลนะครับ ท่านคงจะมีโรคอื่นๆมากขึ้นและเสียชีวิตจากโรคอื่นมากกว่ามะเร็งครับ และที่สำคัญข้อมูลจากการศึกษาตรงนี้ไม่ชัดเจนที่จะบอกว่าประโยชน์มากกว่าอันตรายจากการตรวจนะครับ ยิ่งอายุมากอันตรายจากการตรวจยิ่งมาก และถ้าอายุเกิน 85 ปีก็ไม่ต้องตรวจแล้วนะครับ
อันตรายที่สำคัญที่สุด..คือสติผู้ตรวจและผู้รับการตรวจ ท่องไว้ในใจเสมอนะครับว่าเรากำลังคัดกรองมะเร็งลำไส้ การตรวจโดยข้อบ่งชี้ไม่เพียงพอหรือผิดวิธี จะนำพาไปสู่การตรวจรุนแรงอื่นๆที่ไม่จำเป็น สิ้นเปลือง เจ็บตัวและอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ครับ การแปลผลที่ดีที่สุดคือ ใช้ปัญญาแปลโดยมีสติกำกับครับ
ท่านที่สนใจอ่านฉบับเต็มได้ ท้ายเล่มเขารวบรวมและเปรียบเทียบ Guidelines ต่างๆเอาไว้ด้วย ถ้าเอาไปตอบสอบล่ะก็ เท่สุดๆ
http://www.uspreventiveservicestaskforce.org/Page/Document/final-evidence-review/colorectal-cancer-screening2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น