23 กันยายน 2562

methemoglobinemia เลือดสีฟ้า

ภาพรายงานจากวารสาร New England Journal of Medicine 

หญิงอายุ 25 ปีคนหนึ่งมาตรวจที่ห้องฉุกเฉินเพราะเหนื่อยมากขึ้น หายใจเร็ว 22 ครั้งต่อนาที และผิวสีเปลี่ยน !! แน่นอนว่าไม่ใช่มิสทีก คุณหมอวัดความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้วได้ 88% คนทั่วไปปรกติจะอยู่ที่ 97-100% เมื่อหายใจอากาศธรรมดา

แน่นอนก็แก้ไขโดยให้ออกซิเจนดม ปรากฏว่าค่าการอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้วไม่ขยับขึ้นเลย แถมปลายมือเริ่มเขียว (cyanosis) คุณหมอจึงเจาะเลือดจากหลอดเลือดแดง ตรวจหาออกซิเจนในเลือด

เรื่องเขียว ที่เคยเขียนไว้
https://m.facebook.com/1452805065035522/posts/1905794079736616/

ปรกติการเจาะเลือดจากหลอดเลือดแดง สีเลือดจะแดงสดต่างจากหลอดเลือดดำที่แดงคล้ำ แดงสดแบบแดงเลือดนก (ลองไปเจาะเลือดคนที่แฟนทิ้ง นั่นแหละ แดง-เลือด-นก) แต่นี่เลือดแดงกับคล้ำ คล้ำพอ ๆ กับเจาะจากหลอดเลือดดำ อันนี้อย่างแรกที่ต้องคิดก่อนคือเจาะผิดหลอดเลือด แต่อันนี้เจาะถูก แสดงว่าคล้ำจริง เมื่อไปวัดค่าความดันในเลือดพบความดันออกซิเจนได้ 120 มิลลิเมตรปรอทและความอิ่มตัวของออกซิเจนที่วัดตรง ๆ ในเลือดได้ 100%

แสดงว่าเลือดของเราจับออกซิเจนแน่นมาก ไม่ปล่อยออกมาเลย เจาะเลือดวัดได้เต็ม แต่พอวัดจากปลายนิ้วที่เป็นการวัดที่ระดับหลอดเลือดฝอยที่เลือดแดงต้องส่งออกซิเจนให้เนื้อเยื่อ กลับไม่ออกมาซะงั้น ..โรคนี้จะต้องทำให้เม็ดเลือดจับออกซิเจนไม่ปล่อย  หืม..อีเม็ดเลือดงูพิษ 

ในรายนี้มีการวัด CO-oxymetry เอ๊ะคืออะไร ..การวัดความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้ว (pulse oxymetry) จะใช้คลื่นแสงไปวัดฮีโมโกลบินที่จับเม็ดเลือดแดง  ผลออกมาเป็นความอิ่มตัว คือปริมาณที่จับออกซิเจนอยู่มี หารด้วย ปริมาณเต็มที่สามารถจะจับออกซิเจนได้ แต่ CO-oxymetry จะใช้คลื่นแสงอีกความยาวคลื่นหนึ่ง สามารถวัดได้ทั้ง ฮีโมโกลบินที่จับออกซิเจนและฮีโมโกลบินที่ไม่ได้จับออกซิเจน เดิมออกแบบมาวัดคาร์บอนมอนอกไซด์ เพราะมันจับกับฮีโมโกลบินดีมาก จนฮีโมโกลบินไม่ยอมจับออกซิเจน จะไปวัดออกซิเจน (ที่จับกับฮีโมโกลบิน) ก็บอกค่าไม่ได้

สำหรับผู้ป่วยรายนี้หากใช้ CO-oxymetry จะได้ oxygen saturation 67% เท่านั้น แสดงว่ามีเม็ดเลือดที่พร้อมจะทำงานจับ ๆ ปล่อย ๆ ออกซิเจนไม่เต็มที่ มีแต่เม็ดเลือดที่จับออกซิเจนแน่นแต่ไม่ปล่อยออกให้เนื้อเยื่อ เกิดอะไร

กลับเข้ามา นี่คือภาวะ methemoglobinemia ผู้ป่วยรายนี้มีการใช้ยาชาเฉพาะที่ benzocaine ป้ายที่ฟันรักษาอาการปวดฟัน จึงเกิดอาการขึ้นมาเพราะ benzocaine เป็นหนึ่งในสารที่สามารถทำให้เกิด methemoglobin ได้ ในผู้ป่วยบางรายไม่ใช่ทุกราย สารอื่นที่พบได้อีกเช่น ลูกเหม็น ยาซัลฟา ยา dapsoneหรือผู้ป่วยมีฮีโมโกลบินผิดปกติ เม็ดเลือดผิดปกติ   ทำให้กระบวนการขนส่งออกซิเจนของเม็ดเลือดและปฏิกิริยารีดอกซ์ในเม็ดเลือดผิดปกติไป

เรื่อง methemoglobin ที่เคยเขียนไว้
https://m.facebook.com/medicine4layman/posts/1934714833511207?comment_id=1934724780176879&comment_tracking=%7B%22tn%22%3A%22R%22%7D

ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาถอนพิษ methylene blue อาการดีขึ้น กลับบ้านได้ ปลอดภัย จบ..เลือดสีน้ำเงินก็ไม่อาจสู้เลือด "สีแดง" ด้วยยาถอนพิษที่ชื่อ "VAR"

https://www.facebook.com/92777318461/posts/10156977738868462/?app=fbl

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม