02 กันยายน 2562

สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวที่ต้องเดินทางไกลโดยเครื่องบินนะครับ

สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวที่ต้องเดินทางไกลโดยเครื่องบินนะครับ
อย่าลืมว่านี่คือเครื่องบิน คุณจะต้องถูกจำกัดสิ่งของขึ้นบนเครื่อง คุณจะต้องถูกจำกัดด้วยทรัพยากรที่ไม่ได้หลากหลายเหมือนเดินทางภาคพื้นดิน คุณจะต้องถูกความแปรปรวนของเส้นลองจิจูดและเส้นเวลา
1. ศึกษาเส้นทางการบิน สายการบินให้เรียบร้อย ว่าแต่ละเที่ยวบินใช้เวลานานแค่ไหน จุดแวะพักที่ใด เพื่อเตรียมเรื่องยา อาหาร การขับถ่าย ให้เรียบร้อย
2. ข้อนี้สำคัญ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาตามเวลา ยาที่ต้องกินทุกช่วงเวลา อันนี้ต้องคำนวณว่าในเวลาที่จะกินยาหรือฉีดยา เราอยู่บนเครื่องบินหรือไม่ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องกินยาต้านไวรัสเอชไอวี ยากันชัก ยากันเลือดแข็ง ยาฉีดอินซูลิน ยาพาร์กินสัน ยากลุ่มนี้จะกำหนดการกินเป็นเวลา เช่น ทุกกี่ชั่วโมงหรือเวลาเท่าไร ถ้าคาบเกี่ยวช่วงที่อยู่บนเครื่องบินต้องเตรียมยาติดตัวครับ
3. การเตรียมยาติดตัวขึ้นไปบนเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นยากินหรือยาฉีด ควรติดต่อสอบถามสายการบินและประเทศปลายทาง ที่ตัวแทนสายการบินและสถานทูต โดยทั่วไปไม่มีปัญหาใด ๆ นะครับ แนะนำเป็นยาที่อยู่ในแผงมีชื่อของยาชัดเจน หรือถ้ากังวลก็ขอใบรับรองแพทย์ได้ครับ ผมเองออกให้คนไข้ที่จะเดินทางประจำ
4. พิเศษสำหรับยาฉีดอินซูลิน ยาฉีดกันเลือดแข็ง ยาสูดพ่น หลอดบรรจุยาพร้อมใช้สามารถนำขึ้นไปใช้ในบรรยากาศเครื่องบินได้ ไม่ต้องแช่แข็งนะครับ พกแบบปากกาได้เลย แต่ต้องคิดถึงมื้ออาหารที่กินด้วย เพราะเดินทางแล้วมื้ออาหารอาจผิดไป
5. ต่อเนื่องจากข้อ 4 เพราะบางคนต้องการอาหารเช่นคนไข้เบาหวานที่ฉีดอินซูลินหรือกินยาที่ทำให้น้ำตาลต่ำ ควรพกพาอาหารที่กินง่ายขึ้นเครื่องบิน (ดูข้อกำหนดสนามบิน) อาหารที่ผมแนะนำคือ แท่งพลังงาน ซีเรียลบาร์ พกง่าย ไม่ห้าม ไม่ละลาย ฉีกกินได้เลย ให้พลังงานพอสมควร ลูกอม หรือช็อกโกแลตแท่งครับ
6. ข้อห้ามส่วนตัวเช่น แพ้อาหารทะเล แพ้กลูเตน แพ้แป้งสาลี เป็นมังสวิรัติ กินอาหารอิสลาม คุณสามารถแจ้งสายการบินได้ก่อนขึ้นเครื่องบินครับ และเมื่อทางพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเสริฟอาหารขอให้เลือกที่เหมาะกับตัว อย่ากินมันจัด อาจปวดมวนท้อง หรืออาหารที่ไม่คุ้นชิน อาจขอเปลี่ยนกับพนักงานได้ครับ
7. เครื่องดื่ม ผมแนะนำน้ำเปล่านะครับ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน อาจเพิ่มการเมาเครื่องบิน เจ็ตแล็กมากขึ้น ดื่มน้ำเปล่าให้ดื่มทีละพอประมาณและบ่อย เพราะสภาพอากาศจำกัด อาจขาดน้ำได้ เพิ่มโอกาสลิ่มเลือดดำอุดตัน ไม่ต้องกลัวเรื่องเข้าห้องน้ำบ่อย ดื่มน้ำแล้วฉี่ดีกว่าอดน้ำแล้วอันตราย
8. ควรลุกเดินเปลี่ยนอิริยาบถ อย่างน้อยก็ไปเข้าห้องน้ำ ถ้าลุกยากต้องขยับแขนขานะครับ เอกสารคำแนะนำหน้าที่นั่งจะมีคำแนะนำป้องกันลิ่มเลือดดำอุดตัน เรื่องนี้สำคัญนะครับ ผมเองเดินไปหา cabin crew บ่อย ๆ ก็เพราะกลัวหลอดเลือดดำอุดตันนี่แหละ
9. ถ้ารู้สึกเมาเครื่อง วิงเวียน ให้มองออกนอกหน้าต่าง ทอดสายตาไปไกล ๆ หรืองดการชมภาพยนตร์ ให้ฟังเพลงและหลับตา งดการใช้คอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือชั่วคราว (ดวงตาจะได้ไม่กลอกไปมา) นั่งตรง แหงนหน้าพิงพนัก ปรับช่องระบายลมให้ผ่านใบหน้าและจมูก จิบน้ำหรือน้ำผลไม้ ถ้าไม่ไหวให้แจ้งพนักงานต้อนรับครับ
10. การแต่งตัวเพื่อเดินทาง แนะนำสวมเครื่องแต่งตัวหลวม ๆ สบาย เช่นกางเกงเอวยางยืด เสื้อยืด สวมแจ็กเก็ตกันหนาว รองเท้าไม่รัดเกิน เพราะพื้นที่นั่งเราจำกัด การสวมเครื่องแต่งกายสบายจะทำให้ไม่อึดอัด ส่วนเสื้อที่จะใส่ออกงานค่อยเปลี่ยนเมื่อเครื่องบินจอดแล้วดีกว่าครับ
11. ถ้าคุณถอดรองเท้าแล้วรู้สึกตัวเองมีกลิ่นเท้า ให้สวมกลับเถิดครับ มลภาวะกลิ่นเท้า กลิ่นตัว ถือว่ารุนแรงมาก แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเป็นคนอื่นให้คุณแจ้งพนักงานต้อนรับ เขามีวิธีพูดครับ อย่าออกโรงเองเลย
12. แม้การนอนหลับบนเครื่องบินเป็นสิ่งที่ยาก แต่จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่ผมแนะนำมากที่สุดครับ เป็นการพักตัวเอง ไม่อ่อนเพลียเกินไป ไม่ต้องคิด ไม่ต้องกลัวนั่งเลยป้าย คุณสามารถใช้แผ่นปิดตา ปลั๊กอุดหู ห่มผ้า ปรับที่นั่งให้สบาย ใช้หมอนรองคอ อย่าลืมคาดเข็มขัดเหนือผ้าห่ม เพื่อช่วยให้หลับ หรือใส่หูฟังเปิดเพลงเบา ๆ ก็ได้
จบซีรี่ส์การเดินทาง และจบหนทางเยียวยาหัวใจ
ขอให้ทุกท่านเดินทางปลอดภัย การเจ็บป่วยไม่ได้เป็นข้อจำกัดการเดินทาง ไม่ได้จำกัดอิสระแห่งหัวใจ ขอเพียงเข้าใจและอยู่กับมัน เรียนรู้และปรับตัวครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม