02 กันยายน 2562

แนวทางการจัดการไขมันในเลือดผิดปกติของภาคพื้นยุโรป 2019

ถ้าใครติดตามแนวทางการจัดการไขมันในเลือดผิดปกติของภาคพื้นยุโรป ที่ประกาศออกมาเมื่อสองวันก่อนหน้านี้ ท่านจะรู้สึกอึดอัดใจในความรู้สึกตัวเองเล็กน้อย มาเคลียร์กัน ผมว่าตามความเข้าใจ ไม่ได้ว่าตรง ๆ ตามอักษร
ก่อนอื่นผมขอใช้คำว่าไขมันผิดปกติ คือ dyslipidemia ..dys แปลว่าผิดปกติ นั่นคือโรคนี้ไม่ได้ขึ้นกับระดับ "ตัวเลข" ของระดับไขมันในเลือดเท่านั้น มันจะต้องมีความผิดปกติ มีการอักเสบ แต่การวัดการทำงานผิดปกติและอักเสบมันทำยากมาก และการศึกษาความเสี่ยงต่าง ๆ บอกเราว่ามันสามารถบ่งชี้ความผิดปกติได้เช่นกันนะ เราไม่ใช้ตัวเลขอย่างเดียวในการพิจารณารักษาไงครับ
อย่างที่สอง การศึกษาสองสามปีที่ผ่านมานี้แสดงให้เห็นว่าหากเราสามารถลด LDL ลงมาต่ำเท่าไรยิ่งลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น แนวทางนี้จึงกำหนดระดับ "LDL ที่พอเป็นแนวทางการปรับการรักษา" จำคำนี้ไว้ให้ดีนะครับ ให้ต่ำลงมากในกลุ่มที่เสี่ยงสูง จากเดิมเสี่ยงสูงเราต้องการลดอย่างน้อย 70 แต่ตอนนี้เสี่ยงสูงมากเราเอาลงมาถึง 55 เป็นอย่างน้อย และไม่ว่าตัวเลขใดจะต้องลดลงจากเดิมอย่างน้อย 50% อีกด้วย เช่น เริ่มที่ 120 ก็ควรลดมาอย่างน้อย 60 ถามว่ามีระดับที่ต่ำจนเป็นอันตรายไหม ปัจจุบันเรายังไม่พบอันตรายจากการลด LDL ลงมาก ๆ นะครับ แม้การศึกษาด้วยยา PCSK9i จะลดลงมาได้ประมาณ 40 ยังไม่ได้ลดต่ำกว่านั้น ก็ยังไม่พบผลเสียจาก LDL ที่ลดลง
คำพูดที่ว่า ใช้ LDL เป็นแนวทางปรับการรักษา หมายถึง เมื่อเรารักษาแล้ว หาก LDL ยังไม่ได้ตามที่ต้องการ ให้ปรับการรักษาเพิ่ม ไม่ว่าเพิ่มขนาดยา เพิ่มชนิดยา ดูแลเรื่องปฏิกิริยาระหว่างยา ดูแลความสม่ำเสมอการใช้ยา เพื่อให้อย่างน้อยเท่ากับที่กำหนด **ไม่ใช่เมื่อถึงเป้าแล้วจะหยุดยาหรือพอใจเมื่อถึงเป้าการรักษาเท่านั้นนะครับ**
แล้วเป้าการรักษาคืออะไร เป้าการรักษาคือ คนที่ควรรับการรักษาต้องได้รับการรักษา (ทั้งใช้ยาและไม่ใช้ยา) คนที่ควรต้องกินยาต้องได้รับการกินยา คนที่ได้รับการกินยาต้องกินให้ถึงขนาดที่ได้ประโยชน์ คนที่ได้ขนาดยาเหมาะสมต้องไม่เกิดผลข้างเคียง ..จะเห็นว่าเป้าการรักษาไม่ใช่ "ตัวเลข" เท่านั้น มีตัวเลขเพื่อ "guide" ไม่ใช่แค่ "goal"
คำถามที่ถามมาบ่อยมาก ได้ยาจนถึงขนาด ไขมันลดแล้วจะหยุดยาได้ไหม ผมเข้าใจทุกท่านดี ไม่มีใครอยากกินยาไปตลอด แต่ความจริงตามการศึกษาคือความจริง การใช้ยาต่อไปในคนที่คิดอย่างถ้วนถี่แล้วได้ประโยชน์ จะได้ประโยชน์มากและอาจเกิดโรคถ้าหยุดยา อย่าลืมข้อสำคัญที่สุดคือ การคัดเลือกคนที่มารักษาให้ถูกต้องเหมาะสมโดยใช้ความเสี่ยง ไม่ใช่แค่ระดับไขมัน เราจึงไม่สาดยามั่วทุกคน เราจึงไม่ใช้แค่ตัวเลขไงครับ
ยา statin จะเป็นยาหลักในการลดความเสี่ยง และต้องเลือกขนาดและความแรงให้เหมาะสมครับ ในบัญชียาหลักแห่งชาติมียา statin ที่ใช้ได้และราคาไม่แพง แนวทางปัจจุบันแนะนำผู้ป่วยเสี่ยงที่มี ไตรกลีเซอไรด์สูง ยังควรใช้ statin ก่อนนะครับ ไม่ใช่ fibrate เป็นตัวเลือกแรก ยาตัวต่อมาคือยากิน ezetimibe ถ้ายังเอาไม่อยู่ใช้ยาฉีด PCSK9i ที่แพงมาก
สุดท้าย คำถามนี้สำคัญจริง มีหลายท่านถามว่า ไม่กินยาได้ไหม ออกกำลังกาย คุมอาหารหนัก ๆ พอไหม ...ผมตอบแบบนี้ ไม่ว่าคุณจะไขมันปกติหรือผิดปกติ ท่านก็ต้องทำการดำเนินชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงอยู่แล้ว ลดไขมัน ควบคุมน้ำหนัก อย่ากินแป้งและน้ำตาลมากเกิน กินผักผลไม้ ออกกำลังกายประจำ นอนพักผ่อน ลดเหล้า เลิกบุหรี่ ต่อให้ไม่กินยาท่านก็ต้องทำ ไขมันปรกติท่านก็ต้องทำ ไม่เสี่ยงท่านก็ต้องทำ แต่ถ้าคุณเสี่ยงพอที่จะกินยาและการกินยาลดความเสี่ยง หมายความว่าการปฏิบัติตัวอย่างเดียวมันไม่พอ มันดีจริงแต่มันไม่พอครับ เรามีวิธีที่ดีมากขึ้น เพื่อไม่ให้ท่านป่วยซ้ำ เชื่อผมเถอะการป้องกันโรค แม้มันจะไม่เห็นผลทันใจ มันต้องอดทนใช้เวลา แต่มันดีกว่าการรักษาโรคเสมอ
guideline จะพัฒนาไปไกลเพียงใด mindset ในใจจะต้องพัฒนาตามด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม