09 กันยายน 2562

GLIM criteria 2019

มารู้จักการคัดกรองภาวะทุพโภชนาการตาม GLIM criteria 2019 (Global Leadership Initiative on Malnutrition)
ภาวะทุพโภชนาการเป็นสิ่งสำคัญมากในการรักษา ไม่ว่าจะวินิจฉัยโรคใด รักษาโรคใด หากมีภาวะทุพโภชนาการร่วมด้วยจะทำให้การรักษายุ่งยากและผลออกมาไม่ดี มีการคัดกรองภาวะโภชนาการหลายอย่างในอดีตเช่น NRS2002, SGA, PEW2008 ตอนนี้มีเกณฑ์ใหม่ที่รวบรวมหลาย ๆ เกณฑ์ในอดีตมาปรับปรุงและตรวจสอบว่ามีความไว และสามารถให้การวินิจฉัยสาเหตุของภาวะทุพโภชนาการต่อไปได้ง่ายขึ้น คือ GLIM นี่เอง
ผมคิดว่าเกณฑ์ใหม่ง่ายดีและใช้อาการกับประวัติเป็นหลัก ใช้การส่งตรวจไม่มากนักก็สามารถคัดกรองได้ดี เราลองมาอ่านกันและถ้าสนใจอาจจะนำไปใช้ได้ครับ
เกณฑ์การวินิจฉัยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ phenotypic criteria และ etiologic criteria
🔴🔴phenotypic criteria สามข้อคือ
1.ประวัติน้ำหนักลด แบบไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้ควบคุม ไม่ได้เป็นเบาหวานหรือไทรอยด์เป็นพิษ น้ำหนักลดลงจากเดิม 5% ในระยะเวลาหกเดือน หรือ 10-20% ในเวลาตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป
2.ดัชนีมวลกายต่ำ ทบทวนเล็กน้อยดัชนีมวลกายให้เอาน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัมตั้ง แล้วเอาส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรจับยกกำลังสองก่อน แล้วมาหารน้ำหนักตัว เกณฑ์ที่ใช้คือน้อยกว่า 18.5 หากอายุน้อยกว่า 70 ปี สำหรับอายุเกิน 70 ปีใช้เกณฑ์ที่น้อยกว่า 20
3.มวลกล้ามเนื้อที่ลดลง การวัดมวลกล้ามเนื้อตามวิธีมาตรฐานต้องใช้เครื่องมือสักหน่อยนะครับ เครื่องมือที่แนะนำมีสองชนิด วัดค่าที่เรียกว่า Appendicular Skeletal Muscle mass Index (ASMI) สัดส่วนกล้ามเนื้อแขนขาต่อน้ำหนักตัว อันนี้อ้างอิงจากชาวเอเชีย
3.1 Dual energy X-ray absorptiometry (DXA)ที่ใช้วัดมวลกระดูกนั่นแหละครับ แต่ปรับวัดมวลกล้ามเนื้อแทน ในชายใช้ค่าที่น้อยกว่า 7 ในหญิงใช้ค่าที่น้อยกว่า 5.4
3.2 bioelectrial impedance analysis (BIA) ที่ใช้วัดมวลไขมันตามฟิตเนสครับ แต่ปรับไฟฟ้ามาใช้วัดมวลกล้ามเนื้อ ในชายใช้ค่าที่น้อยกว่า 7 ในหญิงใช้ค่าที่น้อยกว่า 5.7
ค่า phenotypic criteria จะมาใช้แจกแจงระดับความรุนแรงต่อไป
🔴🔴etiologic criteria สองข้อคือ
1.กินอาหารลดลง อันนี้มีความสำคัญมาก ถึงแม้เกิดได้หลายสาเหตุแต่สิ่งนี้เป็นตัวที่สัมพันธ์กับการวินิจฉัยทุพโภชนาการได้ดี คือพลังงานที่กินน้อยกว่าพลังงานพื้นฐานที่ต้องการ น้อยกว่าเท่าไร ตัวเลขคืออย่างน้อย 50% เป็นเวลาตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ขึ้นไป หรือ กินน้อยลงเท่าไรก็ได้ต่อเนื่องกันอย่างน้อยสองสัปดาห์ หรือ มีความผิดปกติเรื้อรังของการดูดซึมอาหารในทางเดินอาหาร
2.มีโรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังจะทำให้พลังงานสะสมติดลบ น้ำหนักลด โปรตีนลด ไข้เรื้อรัง โรคที่มีการอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคหลอดเลือดอักเสบ บางครั้งอาจตรวจพบค่าการอักเสบแบบไม่เฉพาะเจาะจงขึ้นสูงเช่นค่า C-RP, prealbumin
🔵🔵 โดยเกณฑ์การคัดกรองที่บอกว่ามีภาวะทุพโภชนาการคือ มี phenotypic criteria อย่างน้อยหนึ่งข้อและ etologic criteria อย่างน้อยหนึ่งข้อ เมื่อคัดกรองได้ภาวะทุพโภชนาการแล้วให้ประเมินความรุนแรงและสาเหตุ เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป
อ้อ..การกินอาหารผิดสัดส่วน ถึงแม้อ้วนก็ถือว่าทุพโภชนาการ เช่น sarcopenic obesity เรียกว่าอ้วนแบบมวลกล้ามเนื้อลดลง อ้วนแบบไขมันล้วน อ้วนแบบขาดอาหาร
หุหุ..ไตร่ตรองหนักหนัก ก่อนตักอาหารเข้าปาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม