28 กันยายน 2562

แนวทางการคัดกรองมะเร็งจากสมาคมโรคมะเร็งอเมริกา (American Cancer Society) ประจำปี 2019

แนวทางการคัดกรองมะเร็งจากสมาคมโรคมะเร็งอเมริกา (American Cancer Society) ประจำปี 2019
ก่อนจะอ่านต่อขอย้ำความเข้าใจสองสิ่งที่สำคัญมาก
หนึ่ง..แนวทางนี้ทำมาเพื่อคนที่ร่างกายแข็งแรง ปรกติ ไม่มีอาการใด ๆ เพื่อมาคัดกรองหามะเร็งอันพึงรักษาได้ดี รักษาแล้วตอบสนองดี สามารถตรวจจับได้ในระยะต้น ไม่เหวี่ยงแหตรวจ ไม่มากไปน้อยไป หากตรวจพบจากการคัดกรองจะเข้าสู่การวินิจฉัยยืนยันอีกครั้ง หากคุณมีอาการหรือมีโรคที่มีความเสี่ยงมะเร็งมากอยู่แล้ว ให้ทำตามที่หมอแนะนำเป็นรายคน ไม่ใช่เดินมาคัดกรอง
สอง..แนวทางนี้มาจากหลักฐานทางการแพทย์ที่ดีตามมาตรฐาน นั่นคือเป็นความจริงและใช้ได้สำหรับกลุ่มคนที่ระบุ ในความแม่นยำระดับประมาณ 95% หมายถึงผิดได้พลาดได้เช่นกัน และเขาออกแบบมาคัดกรองมะเร็งที่พบบ่อย เป็นปัญหาในบ้านเมืองเขา เราก็แอบเอามาใช้ได้โดยพิจารณาความเหมาะสมตามบริบทของเรา
🔴🔴มะเร็งเต้านม
ใช้การตรวจแมมโมแกรมในการคัดกรอง แนะนำตรวจในสุภาพสตรีตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยตรวจปีละครั้ง หากอายุเกิน 54 อาจพิจารณาตรวจห่างออกเป็นสองปีครั้งได้ หากผลที่ผ่านมาปรกติดี และแนะนำตรวจต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนด หากคาดหวังได้ว่าจะมีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี เพียงแต่ประโยชน์แห่งการตรวจไม่ชัดเจนโดยเฉพาะเมื่ออายุเกิน 75 (เพราะอาจจะเสียชีวิตหรือมีอันตรายจากโรคอื่นเสียก่อน)
🔴🔴มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
แนะนำให้ความรู้กับหญิงวัยหมดประจำเดือนว่า เมื่อไรมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดให้มารับการตรวจกับสูตินรีแพทย์ ไม่ได้แนะนำวิธีตรวจใดเป็นประจำ
🔴🔴มะเร็งปากมดลูก
การคัดกรองจะเริ่มตั้งแต่อายุ 21 ปีหรือพิจารณาเร็วกว่านั้นหากมีเพศสัมพันธ์เร็ว และการฉีดวัคซีน HPV จะช่วยลดการตรวจพบมะเร็งระยะลุกลามได้ ความถี่และวิธีตรวจขึ้นกับอายุดังนี้
21-29 ปี .. ใช้การตรวจ Pap Smear เพียงอย่างเดียวทุก 3 ปี
30-65 ปี .. ใช้การตรวจ Pap Smear ร่วมกับการตรวจหา HPV DNA ทุกห้าปี แต่ถ้าใช้ Pap Smear อย่างเดียวแนะนำให้ทำทุก 3 ปี
มากกว่า 65 ปี .. ในกรณีทำ Pap Smear แล้วผลปรกติมาต่อเนื่องกันสามครั้งก็ไม่ต้องคัดกรองอีก หรือตรวจ DNA ไม่พบเชื้อต่อเนื่องกันมาสองครั้งและผล Pap Smear ปกติมาตลอด 10 ปี ทั้งสองกรณีนี้ไม่ต้องตรวจคัดกรองอีก แต่ถ้ายังไม่เคยคัดกรองมาก่อนหรือไม่สม่ำเสมอแนะนำคัดกรองต่อไป
(อย่าลืมว่าข้อมูลนี้ ตั้งพื้นฐานบนความจริงที่ว่าการได้รับวัคซีน HPV ทำอย่างแพร่หลาย)
🔴🔴มะเร็งปอด
สำหรับคนที่มีอายุ 55-74 ปีและมีประวัติสูบบุหรี่ไม่ว่าเคยสูบหรือกำลังสูบอยู่ ด้วยปริมาณการสูบอย่างน้อย 30 ซองปี ถ้าหากท่านมีลักษณะตามนี้น่าจะทำการคัดกรองด้วยการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แบบรังสีต่ำ ปีละครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องเลิกบุหรี่หรือเข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ด้วย ถ้าไม่เลิกบุหรี่จะไม่ได้เกิดผลใด ๆ และการคัดกรองไม่สามารถมาทดแทนการเลิกบุหรี่ได้
🔴🔴มะเร็งลำไส้ใหญ่
สำหรับคนที่อายุ 50-75 ปี แนะนำการคัดกรองอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (ตอนนี้กำลังถกเถียงกันว่าจะลดอายุการเริ่มคัดกรองมาที่ 45 ปีหรือไม่ ต้องรอติดตามต่อไป)
ตรวจหาเลือดออกทางเดินอาหารจากการตรวจอุจจาระ (ด้วยวิธีสำหรับคัดกรองมะเร็งลำไส้) ทำทุกปี
ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ ทุก 5 ปี
ตรวจกล้อง flexible sigmoidoscopy ตรวจแค่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทุก 5 ปี (บางแนวทางยกเลิกวิธีนี้ไปแล้ว)
ตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ทุก 10 ปี หรือหากวิธีใดข้างต้นพบความผิดปกติจะต้องมาตรวจยืนยันและตัดชิ้นเนื้อด้วยวิธีนี้
สำหรับคนอายุ 76-85 ปี ไม่แนะนำให้ตรวจประจำทุกราย ให้คุยกับหมอเรื่องผลดีผลเสียและการจัดการหากผลออกมาเป็นบวก
สำหรับคนที่อายุมากกว่า 85 ปี ไม่แนะนำตรวจคัดกรอง
**แน่นอนการส่องกล้องจะเห็นชัดและตัดชื้นเนื้อได้ แต่ก็ความเสี่ยงสูงกว่าการทำเอ็กซเรย์ที่ไม่สามารถตัดชื้นเนื้อแต่สามารถเห็นโครงสร้างอื่นนอกจากลำไส้ได้เพิ่ม ให้คุยปรึกษากันดี ๆ ครับ**
🔴🔴มะเร็งต่อมลูกหมาก
เนื่องจากข้อมูลการคัดกรองด้วยสารที่เฉพาะเจาะจงกับต่อมลูกหมาก (ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงกับ "มะเร็งลูกหมาก") เพียงแต่สูงมากก็น่าสงสัย และยังไม่มีวิธีที่ดีกว่านี้ง่ายกว่านี้ที่นะคัดกรอง ACS จึงได้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดเรื่องการแปลผลในแต่ละคน ตกลงเรื่องโอกาสบวกจริงบวกปลอม ก่อนจะเจาะตรวจ หลายสถาบันยังถกเถียงเรื่องนี้นะครับ
โดยอายุที่แนะนำเริ่มตรวจคืออายุมากกว่า 50 ยกเว้นมีความเสี่ยงอื่นเช่นประวัติครอบครัว จะแนะนำเมื่อายุตั้งแต่ 45 ปี ใช้การตรวจสาร PSA ในเลือด อาจจะมีการตรวจทางทวารหนักร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ ควรได้รับคำแนะนำการตรวจหากการคาดหวังว่าชีวิตจะยืนยาวต่อไปนานกว่า 10 ปี
ย้ำอีกครั้ง ถ้าแข็งแรงดี ไม่มีอาการค่อยคัดกรอง แต่ถ้ามีอาการหรือมีความเสี่ยง ให้ตรวจเพื่อวินิจฉัยและเฝ้าระวัง คำแนะนำไม่เหมือนกันนะครับ และปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำการใช้สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) เพื่อคัดกรองมะเร็งครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม