31 มีนาคม 2567

การวัดความดันโลหิตที่บ้าน

 เมื่อแนะนำให้ผู้ป่วยบันทึกค่าความดันโลหิตที่บ้านมาให้ดู

ผู้ป่วยมีปัญหาหน้ามืดเวลาลุกนั่ง และได้รับยาลดความดันถึงสามชนิด จึงปรับลดยาลดความดันเหลือชนิดเดียวและแนะนำวัดที่บ้าน พร้อมบันทึกผลมาให้ดู
ถ้าไม่ใช่โรคความดันโลหิตไม่สูง..แต่ไปรพ. ด้วยเหตุใดแล้วความดันโลหิตสูง เรียก white coat effect ให้วัดใหม่เวลาเหตุปัจจัยกระตุ้นลดลง หรือวัดหลายครั้งที่บ้าน
ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว แต่ความดันที่บ้านไม่สูงเท่า รพ. เรียก white coat hypertension ให้ทบทวนการใช้ยา และปรับยาโดยอาศัยค่าความดันที่บ้านร่วมด้วย
ผู้ป่วยรายนี้ตั้งใจมาก วัดค่าทุกวัน วันละสองครั้ง ออกกำลังกาย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ลดเค็ม สุดท้ายเหลือยาแค่ตัวเดียว
อ้อ..สำหรับคุณหมอนะครับ ค่าความดันเฉลี่ย (mean arterial pressure) ที่เราใช้ประเมิน perfusion pressure ไม่ได้คำนวณแบบเอาค่าทั้งหมดมาบวกกันแล้วหารจำนวนค่าแบบนี้นะครับ ในแบบนี้ผู้ป่วยต้องการดูว่าค่าความดันโดยรวมอยู่ประมาณเท่าไร ก็พอใช้ได้ แต่เป็นคนละค่ากับ Mean arterial pressure = MAP = [SBP + (2 × DBP)]/3
ผลข้างเคียงสำคัญที่สุดของยาลดความดัน คือ ความดันที่ลดลง (จนเกิดอาการ) นั่นเอง

สื่อสารความเข้าใจทางสุขภาพ (Health Literacy)

 หลังจากหยุดพักไปสามสัปดาห์ ผมไปฝึกอบรมและเรียนรู้ การทำสื่อ การสื่อสาร อัลกอริธึมของสื่อออนไลน์ และเรียนปรัชญาอีกเล็กน้อย

และเฝ้าดูช่องทางสื่อสารความเข้าใจทางสุขภาพ (Health Literacy) แบบต่าง ๆ ในหลายช่องทาง ก็ได้ข้อเสนอแนะ มาแนะนำคอนเท้นต์ครีเอเตอร์ด้านสุขภาพครับ (ผมว่าก็น่าจะเรียกตัวเองว่า 'มีประสบการณ์' ได้นะ)
1. อย่าทำคนเดียว ..คุณทำคนเดียว ถือว่ายาก เพราะการสื่อสารจะต้องมีมุมมองคนให้และคนรับที่หลากหลาย การมีทีมจะทำให้ความคิดและไอเดียกว้าง ไม่ซ้ำ ไม่ตัน ไม่น่าเบื่อ และที่สำคัญทำให้สนุกขึ้น
2. เลือกความถนัดหลัก แต่ต้องมีความถนัดหลากหลาย ... ใครถนัดพูด ใครถนัดทำวิดีโอ ให้ใช้สื่อที่ตัวเองถนัดที่สุดเป็นหลัก เป็นจุดเด่นของคุณ แต่ในเวลาเดียวกันคุณต้อง 'พอเป็น' ใส่สื่อแบบอื่นด้วย เพราะเรื่องราวหรือการนำเสนอบางอย่างก็เหมาะกับสื่อไม่เหมือนกัน อ้อ..การมีทีมจะช่วยจุดนี้ด้วย
3. ต้องทันข่าวสารปัจจุบัน .. โลกยุคนี้ข้อมูลเร็วมาก ถ้าเราสามารถเลือกหัวข้อสุขภาพอันเป็นที่กล่าวขวัญจะทำให้คุณค่าของเนื้อหามากขึ้นจากตัวคูณความสนใจ หรือหยิบเอาเรื่องราวพาดหัวข่าวมาผสมกับเรื่องของเราได้ จะยิ่งเพิ่มความสนใจ สำหรับสื่อออนไลน์จะเพิ่มยอดผู้ชมมากขึ้น
4. ให้หารายได้หรือช่องทางสนับสนุนในสื่อตัวเอง เพื่อนำรายได้นั้นมาพัฒนาต่อยอดสื่อของคุณให้ก้าวหน้าขึ้น เช่น มีอุปกรณ์แสงเสียง มีทุนไปหาข้อมูล มีเงินไปจ้างอาร์ต มันจะทำให้การทำงานสื่อของคุณมีความหมาย ได้พัฒนาทักษะและตัวงาน ตัวคุณจะได้รู้สึกมีคุณค่าและสนุกกับงานด้วย และต้องระบุชัดเจนว่าเนื้อหาใดคือการโฆษณาร่วมด้วย
5.มีช่องทาง (platform) หลักของคุณ ให้ทุกคนรู้ว่าจะติดตามคุณได้ทางใด โดยแนะนำเป็นช่องทางเว็บ แล้วนำข่าวสารหรือคอนเท้นต์จากช่องทางหลัก ไปเผยแพร่ในช่องทางรองอื่น ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูล ให้คิดว่ายังมีคนอีกมากที่ต้องการข้อมูลของเรา แต่เขาอยู่คนละช่อง
6. มีความชัดเจนในวัตถุประสงค์ รูปแบบ เนื้อหา จะนำเสนอข่าวสาร จะวิเคราะห์เนื้อหา จะเขียนเล่าเรื่อง ก็เน้นแนวทางนั้น หรือใครจะลงลึกในสาระ ใครจะโปรยแนวทางให้ไปอ่านต่อ ก็ทำตามที่ตัวเองตั้งเป้า มีทีมมีช่องทางได้มาก แต่อย่าสับสนในเป้าหมาย
7. ต้องมีความรับผิดชอบ .. อันนี้สำคัญ เนื้อหาบางอย่างน่าตื่นเต้นน่าสนใจ แต่ว่ายังไม่มีความแน่นอน หรือไม่ปลอดภัย จะต้องสร้างงานอย่างระวัง มีคำเตือนที่ชัดเจน เนื่องจากหัวข้อสุขภาพจะส่งผลต่อชีวิต ต้องคิดถึงผลที่จะตามมา และยิ่งมีผู้ติดตามมากจะต้องยิ่งคิดว่าอาจมีคนเข้าใจเนื้อหาผิดและเอาไปใช้ผิดได้
8. การปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญมาก สิ่งที่บ่งชี้ตัวบุคคลชัด ๆ ไม่ควรปรากฏเลย ถึงแม้จะได้รับอนุญาตก็ตาม โดยเฉพาะภาพถ่าย หรือหลายสิ่งที่สามารถสืบค้น (footprints) ไปถึงแหล่งที่มาอันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องปกปิด ก็ต้องระวังในการเผยแพร่ และพึงระลึกว่ามีความผิดในทางกฎหมายด้วย
9. ควรมีความถี่การเผยแพร่ผลงานที่สม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องลงเสนอผลงานบ่อยทุกวัน แต่ควรเป็นความถี่ใกล้เคียงกันสม่ำเสมอ เพื่อผู้ติดตามจะได้ทราบกำหนดคร่าว ๆ รวมทั้งตัวคุณเองจะมีวินัยในการนำเสนอผลงานที่ดี
10. เรียนรู้การจัดการความขัดแย้ง ความเห็นต่าง มีคนเห็นต่างในความคิดเสมอ ทุกคนมีโอกาสผิดและนั่นรวมตัวคุณด้วย เราอาจจะผิดพลาดได้ ให้รับฟังความเห็นต่างและชี้แจง ภายใต้ขอบเขตที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายลุกลาม ผู้จัดการสื่อมีหน้าที่พึงควบคุมความขัดแย้งด้วย (เป็นจำเลยร่วมหรือโจทก์ร่วมด้วย) ดังนั้น รับฟัง แนะนำ ยอมรับแก้ไข ตักเตือน ควบคุม เป็นสิ่งที่ต้องทำ
11. แสดงความรับผิดชอบหากข้อผิดพลาดนั้นเกิดจากตัวคุณ ทั้งผิดพลาดทางตรง เช่น ให้ข้อมูลพลาด หรือ พาดพิงบุคคลที่สาม หรือผิดพลาดทางอ้อม เช่น เกิดความขัดแย้งลุกลาม .. การขอโทษ ยอมรับ ปรับปรุง และแก้ไขในทางแจ้ง ทำให้คุณพัฒนาตัวเอง และเป็นที่ยอมรับของผู้ติดตาม
12. ศึกษาข้อกฎหมาย กติกา ของการใช้สื่อสาธารณะ ลิขสิทธิ์ ความเป็นส่วนตัว ละเมิด หรือมีที่ปรึกษากฎหมายในกรณีไม่มั่นใจ การมีเจตนาดีในการเผยแพร่สื่อสุขภาพเป็นสิ่งที่ดี ถ้าสิ่งนี้ไม่ส่งผลเสียทางกฎหมายกับตัวคุณหรือผู้อื่น หากเกิดปัญหา มันจะรบกวนชีวิตจิตใจอย่างมาก
อีกหลายวิธีที่เรียนมาจะเป็นวิธีมุ่งเน้นการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์และเป้าหมายทางธุรกิจ แต่มันไม่ใช่เป้าหมายของผมที่จะมาแนะนำคอนเท้นต์ครีเอเตอร์ทางสุขภาพในแบบเฉพาะทางมุ่งเป้าแบบนั้น
ตัวอย่างที่ไม่ดี คือตัวผมเอง ไม่ได้มีความเป็นมืออาชีพใด ๆ นึกจะทำอะไร จะเขียนอะไรก็ทำตามใจตัวเอง ใครอยากอ่านก็มา ใครไม่ชอบก็แยกกันเดิน (เอ๊ะ..คุ้น ๆ นะ)
เพราะไม่ได้อยากเป็นคอนเท้นต์ครีเอเตอร์ อยากแค่เป็นเพื่อนกับพวกคุณ.. แค่นั้น

01 มีนาคม 2567

นวัตเภสัชกรรม pharmacy innovation

 นวัตเภสัชกรรม pharmacy innovation

ในบรรดาหนังสือเล่าเรื่องราวและกรรมวิธีงานวิจัยมากมาย ผมว่าเรื่องนี้มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครและ "เขียนนอกกรอบ" มากที่สุด คือปกติก็จะอ่านว่า หัวข้อวิจัยคืออะไร จะตั้งคำถามแบบไหน จะใช้วิธีใด จะตีพิมพ์อย่างไร คือสอนการทำวิจัยจาก กรรมวิธีมาสู่ผลลัพธ์
แต่อาจารย์ประยุทธพลิกวิธีใหม่ โดยใช้งานวิจัยที่ตัวเองทำเอง แล้วนำมาประกอบเล่าเรื่องว่า ตอนจะคิดหัวข้อ มันมีที่มาอย่างไรดูจากงานวิจัยนี้ ตอนที่จะต้องหาความเห็นต่าง จะไปขอความเห็นใคร แบบไหน ก็อธิบายว่า เอ..จะทำอย่างไรดี ได้บอกเล่าสิ่งที่ตัวเองคิดในการทำวิจัย แล้วที่คิดน่ะ ตอนไปทำ ทำแบบไหน ติดต่อใคร เริ่มยังไง โดยใช้งานวิจัยของตัวเอง มันจึงกระจ่างชัดในคำตอบ คำอธิบาย
ใครยังนึกภาพไม่ออก คุณคิดถึงตำราทำอาหาร ที่เขียนว่าเมนูนี้คืออะไร ใช้อะไร ผสมแบบไหน อบกี่นาที แต่ตำราฉบับประยุทธ จะสอดแทรกเรื่องราวว่า เออ ต้องใช้กระเทียมเจียวนะ เจ้าอื่นเขาเจียวแบบนี้มันเจอปัญหา แล้วเราไม่อยากได้แบบเดิม เราจะเจียวอย่างไร พอเจียวแบบนี้หั่นกระเทียมแบบนี้ มันไม่เวิร์ก มันติดอะไร งั้นไปถามรุ่นพี่แบบนี้ เข้าหาแบบนี้ เขาให้คำแนะนำแบบนี้ เฮ้ยมาปรับใช้แล้วมันเวิร์ก แสดงว่า painpoint ตรงนี้นี่หว่า…. เขียนแบบเล่าเรื่อง storytelling
ทำให้เราอ่านแล้วเข้าใจกรรมวิธีการวิจัย และไม่น่าเบื่อไงครับ เอาจริง ๆ อาจารย์ท่านมีจิกกัดสิ่งต่าง ๆ และระบบอันน่าเบื่อหน่ายพอสมงาม พออ่านไป เราจะรู้ว่า อ๋อ เขาทำกันแบบนี้
ที่สำคัญทุกงานวิจัย จะเป็นงานวิจัยชนิดที่ เห็นปัญหาการทำงานในชีวิตประจำวัน แล้วจะมาแก้ไขโดยการวิจัยแบบใด แปลคำถามบ้าน ๆ เป็นคำถามวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แปลวิธีที่เราคิดเป็นระเบียบวิธีได้อย่างไร ทำให้ทุกคนสามารถทำตามได้ เป็น routine to research ที่แก้ไขปัญหาได้จริง ไม่ใช่ทำเพื่อจบหรือทำเพื่อเลื่อนตำแหน่ง แต่ไม่มีคุณค่าต่อไปเลย
อีกจุดที่อาจารย์ประยุทธเน้นมากคือ แล้วจะเอาผลงานวิจัยไปใช้อย่างไร เอาไปแก้ไขปัญหาที่แท้จริงอย่างไร รวมทั้งถ้าจะต่อยอดไปเป็นธุรกิจ จะติดต่อใคร ตอนที่ทำประสบปัญหาใด เขียนเล่าละเอียดมาก
บอกตรง ๆ เหมือนบันทึกความทรงจำมากกว่าตำรา อ่านแล้วได้ความรู้แบบ "ไม่ตั้งใจ" และเอาไปใช้ได้แบบ "ไม่รู้ตัว"
ที่สำคัญ อาจารย์เป็นคนคิดนอกกรอบที่แท้จริง หลายปัญหามันเป็นเส้นผมบังภูเขา เพราะเราถูกสอนถูกอบรมมาแบบนี้ คิดแบบเดิม มันเลยแก้ปัญหาเดิมไม่ได้ไง ลองอ่านวิธีคิดนอกกรอบในเล่มนี้ดู ซึ่งนอกจากอาจารย์ท่านจะคิดนอกกรอบตามแนวปฏิวัติความคิดแล้ว ท่านยัง "นอกกรอบ" เพราะทีมแมนยูของท่านยิงไม่ค่อยเข้ากรอบอีกด้วย
เหมาะกับนักศึกษาที่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัย เหมาะกับคนที่จะต้องเริ่มจับทำงานวิจัย และเหมาะกับคนที่ทำวิจัยแล้วแต่ต้องการหาความเฉียบคมมากขึ้นในการทำวิจัย
แต่ว่าจะไม่มีรายละเอียดในเชิงวิชาการที่เป็นรูปแบบ หรือข้อมูลเชิงลึกแบบไว้เพื่อเรียน หรืออ้างอิง ไม่สามารถใช้เป็นตำราไปตอบสอบได้ แต่ใช้เพื่อเสริมหรือปลุกแนวคิดได้ดีครับ ใครคาดหวังว่าเป็นตำราเป็น textbook ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่แบบนั้นนะครับ
หนังสือขนาดเอห้า จำนวน 232 หน้า พิมพ์ด้วยกระดาษถนอมสายตา ตัวหนังสือขนาดพอดี ขาวดำทั้งเล่ม (อันนี้ชอบ ประหยัดดี และเนื้อหาไม่จำเป็นต้องมีสี) เย็บกาว ก็ระวังนิดนึงเวลาเปิดกางมาก ๆ หน้าปกแบบมินิมอลมาก ๆ สีเรียบสวย
หนังสือแต่งโดย ผศ.ดร.ประยุทธ ภูวรัตนาวิวิธ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร ราคาปกเล่มละ 260 บาทจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร

XVIVO Heart Assist Transport ขนส่งหัวใจทางเครื่องบิน

 ปกติไม่ค่อยลงข่าว แต่ข่าวนี้มันยิ่งใหญ่มาก

ลงตีพิมพ์ใน lancet ถึงความสำเร็จของการนำส่งหัวใจของผู้บริจาค จาก French West Indies หมู่เกาะในแอตแลนติกแถวอเมริกากลาง ในเขต french antiles (พื้นที่แรก ๆ ตอนค้นพบทวีปอเมริกา จุดกำเนิดยาสลบ succinylcholine)
ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกว่า 6700 กิโลเมตร ใช้เวลานาน 12 ชั่วโมง เพื่อนำมาเปลี่ยนให้กับผู้รอรับบริจาคที่ปารีส ฝรั่งเศส
โดยใช้อุปกรณ์ XVIVO Heart Assist Transport ที่สามารถปั๊มเลือดและหล่อเลี้ยงหัวใจผ่านตู้ขนาดตู้เย็นย่อม ๆ เท่านั้น และส่งมากับสายการบินพาณิชย์ปรกติ (แอร์ฟรานซ์) เสียด้วย
เรียกว่าพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้จริง และถ้านำไปทำซ้ำ ขยายผล พัฒนา น่าจะพลิกวงการปลูกถ่ายอวัยวะ ช่วยชีวิตคนได้อีกเป็นล้าน ถ้ามีเครือข่ายข้อมูลดี ๆ เครือข่ายหมอและขนส่งดี ๆ อาจจะพลิกโลกได้อีกครั้ง
ผู้ป่วยที่รับหัวใจที่ปารีส ประสบความสำเร็จ หัวใจและไตทำงานดี กลับบ้านได้แล้ว
หนึ่งในเรื่องสุดยอดทางการแพทย์เลยนะครับ ส่งอวัยวะแบบไม่ยุ่งยาก ทางการขนส่งปรกติ
อ่านเรื่องเต็มได้ที่นี่

บทความที่ได้รับความนิยม