จริงหรือไม่ ?
ภาพการส่งต่อข้อมูลในโซเชียลออนไลน์ ที่แฟนเพจของเราส่งมาให้ดู แจ้งว่ามีคนส่งต่อกันมากและเชื่อกันมากทีเดียว เราลองมาถอดความแกะเทปแล้ววิเคราะห์กันนะครับ
1.เราจะเผชิญความร้อน 40-50 องศาเซลเซียสหรือไม่ แม้มีการรายงานค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยา แต่นั่นคือค่าดัชนี ส่วนอุณหภูมิจริงหรือความรู้สึกจริงอาจแตกต่างออกไปขึ้นกับ ลม ความชื้น หรือแม้แต่คุณไปนั่งแช่ในห้างทั้งวัน
2.ถ้าร้อนมากแล้วแช่น้ำทันที ต่อให้เป็นน้ำเย็นมาก ตัวเราก็ไม่มีส่วนใดระเบิดหรอกนะครับ หลอดเลือดฝอยที่ผิวหนังจะตอบสนองต่อความร้อนโดยขยายตัวเพื่อระบายความร้อน ส่วนอากาศเย็นก็หดตัวเพื่อสงวนความร้อน ตามระบบประสาทร่างกายสั่งและฮอร์โมนใกล้เคียง ใช้การตอบสนองเป็นหลักนาที
3.ร่างกายมีระบบปรับอุณหภูมิมากมาย เพื่อรักษาอุณหภูมิกายให้อยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส (เราเป็นสัตว์เลือดอุ่น) ไม่ใช่เหล็กร้อนเผาไฟที่เอาไปจุ่มน้ำแล้วจะรุนแรงแบบนั้น นอกเหลือจากนี้ น้ำในเซลล์และนอกเซลล์ อันประกอบอยู่ในร่างกายมากกว่า 60% คือตัวปรับอุณหภูมิที่ดีมาก (buffer system)
4.ตามองไม่เห็นเฉียบพลัน ไม่มีกลไกใดเกี่ยวข้องกับเท้าจุ่มน้ำเลย คุณเอาเท้าจุ่มน้ำแข็ง หลอดเลือดที่สมองและลูกตาก็ปกติ ยิ่งหลอดเลือดในกะโหลกนะ มีระบบป้องกันสารเคมี อุณหภูมิ เชื้อโรค และไหลเวียนสำรองอีกด้วย จะเกิดขึ้นได้กรณีเดียวคือหลอดเลือดที่ดวงตาฉีกขาดหรืออุดตันจังหวะเดียวกับเท้าจุ่มน้ำเป๊ะเลย
5.น้ำจะเย็นแค่ไหน ดื่มเข้าไปร่างกายก็จะปรับให้เข้ากับอุณหภูมิกายอยู่ดี ดังนั้นอุณหภูมิภายนอกจะเท่าไร ไม่มีส่วนใดเกี่ยวกับ อุณหภูมิน้ำที่ดื่มเข้าไปอยู่ดี เหมือนกับคุณอยู่ขั้วโลก ฉี่ออกมาก็อุ่นเหมือนกัน เพราะมันคืออุณหภูมิกาย
6.ถ้าร้อนมาก หรือไข้สูง หรือลมแดด หรือ hyperthermia วิธีการรักษาคือ ทำให้เย็นอย่างรวดเร็วที่สุด เช่นพ่นละอองฝอยน้ำ อาบน้ำ เช็ดตัว ไม่จำเป็นใด ๆ ที่จะต้องปรับอุณหภูมิกายให้ลดลงก่อน และถามว่าคุณจะปรับอย่างไร คุณไปบังคับมันไม่ได้ มันคือระบบประสาทอัตโนมัติ และอยู่ที่ร้อนแค่ไหน อุณหภูมิกายก็ 37 ครับ
7.ดื่มน้ำเย็นทันที ไม่มีทางให้หลอดเลือดหดถึงขนาดตีบจนเกิดอัมพาตได้ เย็นมากสุดก็ที่กระเพาะ จะข้ามเข้าหลอดเลือดสมองได้อย่างไร อัมพาตเกิดจากการตีบตันเฉียบพลัน ร้อยละ 99.9% เกิดจากการอุดตันด้วยก้อนไขมัน ลิ่มเลือด
ถามว่าน้ำเย็นจะทำให้หลอดเลือดแดงตีบเฉพาะเส้นนั้นนี้ได้อย่างไร เพราะอัมพาตคือ เสียการทำงานของสมองตามพื้นที่ที่หลอดเลือดนั้นรับผิดชอบนะครับ
8.ขากรรไกรเกร็งค้าง ไม่ใช่อัมพาต อาจเป็นข้อต่อล็อก อาจเป็นบาดทะยัก อาจเกิดจากกระดูกขากรรไกรหัก แต่ไม่ใช่อัมพาต อัมพาตจะมีอาการหน้าเบี้ยว เคี้ยวไม่สะดวก พูดไม่ชัด
9.อุณหภูมิภายนอกสูง ก็ให้ดื่มน้ำมาก ๆ อุณหภูมิภายในสูง เช่นไข้ ก็ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ห้าม "ปล่อยให้ร่างกายร้อนต่อไป" นะครับ
10.มันไปเกี่ยวอะไรกับ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย อีกอย่าง ไม่มีประเทศไหนข้างต้นโดนคลื่นความร้อนเลย ตอนนี้ที่น่ากังวลคือพายุฤดูร้อน โอกาสที่ประเทศแถบนี้จะมีคลื่นความร้อนน้อยมาก เพราะเป็นประเทศที่เป็นหมู่เกาะ ฝนตกเกือบทั้งปี ลมมรสุมพัดกันให้ฮึ่ม ๆ
11.เชื่อได้อันเดียว เวลาดื่มน้ำให้ค่อย ๆ ดื่ม เพราะเดี๋ยวมันจะสำลักครับ
เจอแบบนี้อย่าส่งต่อเลยครับ
See insights and ads
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น