เรื่องเล่าจากคลินิก
สุภาพสตรีวัยประมาณ 50 ปีท่านหนึ่ง เดินมาคนเดียว เข้ามาปรึกษาในร้าน..แต่ว่าไม่ได้ปรึกษาเพื่อตัวเอง
คุณผู้หญิงเดินเข้ามาปรึกษาและสอบถาม เพราะเห็นป้ายหน้าร้านว่าที่นี่รับปรึกษาเลิกบุหรี่ จึงสอบถามว่ารับปรึกษาเลิกเหล้าด้วยไหม เธออยากมาปรึกษาเรื่องสามีติดเหล้า เคยป่วยจากเหล้าหลายครั้ง เคยคุยเรื่องเลิกเหล้ากับสามีแต่ไม่สำเร็จ ชวนมาปรึกษาแพทย์ด้วยกันก็ไม่มา
ผมสอบถามเรื่องภาวะร่างกายของสามี เท่าที่จำได้ เธอบอกว่าไม่มีเวลาไปตรวจเพราะทำงานในเวลาทำการ จะลางานก็ลำบาก จำได้แต่ว่าตอนป่วยหมอแจ้งว่าตับอ่อนอักเสบ และเคยตรวจพบค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดพันกว่า ๆ
คุยกันจนถึงปัญหากระทบกระทั่งในครอบครัว ปัญหาเรื่องหนี้สิน ปัญหาเริ่มลุกลามมาที่ลูกที่ต้องมาช่วยดูแลพ่อที่ป่วยบ่อยจนขาดเรียน เธอเข้มแข็งมาก แม้น้ำตาซึม แต่ยังมีสติและสมาธิเล่าปัญหาด้วยเสียงราบเรียบ ใจเย็น
เธอสอบถามว่า มียาอะไรที่ทำให้เลิกเหล้าได้ไหม หรือกินน้อยลงก็ยังดี ตอนนี้มืดแปดด้านไม่รู้จะทำอย่างไร
มันสะท้อนอะไรบ้างครับ
1.พวกเราต้องยอมรับว่าการติดสุราคือปัญหา ปัญหาที่ซับซ้อน มีขนาดความสำคัญตั้งแต่เล็กมากคือไม่มีเงินซื้อข้าว ไปจนยิ่งใหญ่คือโรคตับแข็งและมะเร็ง ปัญหาต่อผู้อื่นคือเมาแล้วขับ ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ดื่มเหล้าจะเกิดปัญหาทุกคน แต่มันก็ทำให้เกิดปัญหากับอีกหลายคน ทั้งที่ทราบปัญหาแล้วละเลย และไม่รู้ว่ามันอาจสร้างปัญหาในอนาคต
2.หลายคนที่คิดว่าดื่มเหล้าเมามายหรือมีพิษ ก็คือพิษต่อตัวเอง กินเองก็ต้องยอมรับข้อเสียเองได้ แต่ในความเป็นจริง มีคนที่ทุกข์ใจและเสียใจจากการดื่มเหล้าติดเหล้าของสมาชิกในครอบครัว ทั้งที่พูดไม่ได้ ทั้งที่พยายามเต็มที่อย่างกรณีคุณสุภาพสตรีนี้ ทั้งที่ท้อใจจนไม่อยากจะเอ่ยถึง แต่เชื่อเถอะ ยังมีคนทุกข์ใจจากการดื่มเหล้าจนติดแบบนี้อีกมาก
3.คนที่สำคัญที่สุดที่จะลดเหล้า เลิกเหล้า คือคนที่ดื่ม ต้องมีความคิดริเริ่มที่จะเลิกลดก่อน อย่างในกรณีนี้ โอกาสสำเร็จน้อยมาก เพราะสามีเธอไม่ได้อยากจะเลิก ได้ยาช่วยเลิกเหล้าก็จะไม่กิน การรักษาต่าง ๆ ก็สูญเปล่ามาก
4.ขอบอกว่า ระบบการเข้าถึงการเลิกเหล้า ไม่ง่ายเลยครับ ร้อยละแปดสิบเก้าสิบจะอยู่ที่แผนกจิตเวชศาสตร์ ที่ผู้ติดเหล้าทุกคนจะคิดว่าเขาไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวช (จริง ๆ แล้วก็มีส่วนเป็นโรคอยู่นะ) การรักษาที่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือของครอบครัวสูงมาก การบริการใกล้บ้านแทบไม่มี (ทางไกลไม่ต้องพูดถึงเลย) ยารักษาการติดเหล้าโดยตรงก็ไม่มี การเข้ารับการบำบัดสารเสพติดก็ยากที่จะเบิกจ่ายได้ด้วย
5.ตรงข้ามกับข้อสี่ คือ เหล้าหาง่ายกว่ากระบวนการและยาเลิกเหล้า
สิ่งที่ทำได้ สิ่งที่ช่วยสุภาพสตรีท่านนี้ได้ คือ ให้คำแนะนำว่าเริ่มพาสามีมาตรวจโรคจากเหล้า แล้วค่อย ๆ ปรับสภาพจิตใจ พูดคุยทีละขั้นตอนเริ่มจากรักษาโรค ลดความเสี่ยง ลดเหล้า เมื่อเห็นรูปธรรมแล้วจึงหยุดเหล้า
เปิดช่องทางให้ติดต่อเพื่อลดความเครียดของคนในครอบครัวที่ต้องเผชิญกับผู้ติดเหล้า หากคุณภรรยาท้อแท้ เครียดมาก ใครจะช่วยสามีและครอบครัวเขาอีกล่ะ
ยากกว่าการรักษาผู้ป่วยวิกฤตที่แก้ไขกลไกการเกิดโรค แต่นี่ต้องปรับ mindset ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ที่สำคัญคือ ตัวผู้รักษาเอง ก็ต้องเข้มแข็งเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น