05 กุมภาพันธ์ 2565

RM กรรมของใคร ?

 RM กรรมของใคร ?

ใครที่ชอบบันทึกประจำวัน แล้วกลับมานั่งอ่าน จะรู้สึกยิ้มและมีความสุข แต่บางเรื่องราว มันก็เป็นเรื่องเศร้าเช่นกัน บทบันทึกอันนี้ผมเอากระดาษเอสี่มาเย็บติดกับหน้าบันทึกในวันหนึ่งของปี 2564 เอามาเล่าให้ฟังโดยแปลงส่วนประกอบเนื้อเรื่อง แต่ใจความสำคัญคงเดิม (ที่ต้องเย็บเพิ่ม เพราะปกติเขียนบันทึกแบบบูโจ Bullet Journal เป็นการฝึกความคิดรวบยอดครับ)

ผู้ป่วยสูงวัยรายหนึ่ง มาพบแพทย์เนื่องจากมารับยาต่อเนื่อง ในรายชื่อยา มียาจิตเวชหนึ่งชนิด ยาควบคุมการเต้นหัวใจหนึ่งชนิด ยาแก้แพ้ที่ชอบใช้เป็นยาเจริญอาหารหนึ่งชนิด และวิตามินอีกหนึ่งชนิด

บันทึกการสั่งจ่ายยา พบว่ามีการจ่ายยาแบบนี้จากคุณหมอหลายท่าน โดยไม่มีการปรับ ไม่มีแผนการรักษาใด ๆ มาต่อเนื่องเป็นเวลา 26 เดือน

ผู้ป่วยมารับยาทุกครั้งเมื่อยาหมด และรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ รพ.สต. ใกล้บ้าน โดยทั้งสองสถานพยาบาล ไม่ทราบการรักษาของอีกที่หนึ่งเลย

เมื่อซักประวัติ ได้ความว่าผู้ป่วยสบายดี ไม่เคยทราบว่าตัวเองเป็นโรคจิตเวชหรือไม่

ไม่เคยทราบว่าตัวเองมีโรคหัวใจหรือไม่ ทราบแต่เวลาโมโหแล้วใจเต้นเร็วแรง หมอจึงให้ยาหัวใจ

ไม่เคยทราบว่าตัวเองได้รับยาวิตามิน และบอกว่าตัวเองก็กินอาหารได้ปรกติ

ส่วนเรื่องเจริญอาหารนั้น บอกว่ากินอาหารไม่ถูกปากมาหลายปีอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น แต่ก็กินได้ดี

เพิ่มเติมคือ ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียนบ่อย ๆ เวลาลุกนั่ง ปากแห้ง

…….

สำหรับคุณหมอ

ถ้าเรามารักษาคนไข้ภายหลัง แล้วไม่ทราบรายละเอียดการรักษาของคุณหมอคนก่อน ก็ไม่พึงต่อว่าคุณหมอคนเดิม หากพบว่าการรักษานั้นไม่สมเหตุผลหรืออาจก่อให้เกิดอันตราย ให้แนะนำคนไข้ ถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและความจำเป็นในการปรับยา

ถ้าข้อมูลการรักษาใดที่ไม่ชัดเจน และเราจะทำการสืบค้นใหม่ จะปรึกษาใคร พึงคิดไว้เสมอว่าสิ่งที่เห็น คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามระยะเวลาและผลจากการรักษา ผลที่ไม่เหมือนกันจะต้องอธิบายคนไข้ให้เข้าใจว่าไม่ใช่ใครถูกใครผิด

เมื่ออธิบายข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ให้ผู้ป่วยทราบแล้ว เปิดโอกาสให้ซักถาม ก็ควรจะถามความสมัครใจของผู้ป่วยว่าจะเลือกรักษาทางใด (โดยต้องไม่อันตรายกับผู้ป่วย) และต้องการติดตามการรักษาครั้งต่อไปกับที่ใด อย่าลืมสิทธิผู้ป่วยด้วยนะครับ

…….

สำหรับคนไข้

ถ้าเราไม่เข้าใจ สงสัยเรื่องการรักษา ให้ถามคุณหมอผู้รักษาและจ่ายยา เขาจะมีวิธีคิดและแผนการรักษาและอธิบายเราได้ดีที่สุด การไปปรึกษาคุณหมอท่านอื่น อาจได้ความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด และนำข้อมูลทั้งหมดมาตัดสินใจอีกครั้ง

แนะนำให้สอบถามจนทราบโรคที่เป็น แนวทางการรักษาคร่าว ๆ อย่างน้อยจะได้เข้าใจตรงกัน และหากไม่ได้พบแพทย์ท่านเดิมด้วยเหตุใด เราจะสามารถแจ้งคุณหมออีกท่านได้ว่า เราเป็นโรคนี้และคุณหมอวางแผนแบบนี้ จะได้ไม่ผิดแผกจากแนวทางที่วางไว้มากนัก ยกเว้นมีแนวทางใหม่ที่ดีขึ้นหรือแนวทางเดิมเริ่มเกิดอันตราย

แนะนำมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การรักษาเดียวกัน ใช้ไม่ได้กับทุกคน แต่ละคนที่ข้อจำกัดของการรักษาไม่เหมือนกัน หากเราไม่มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเห็นด้วยเห็นต่าง เราอาจไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะกับเราที่สุดก็ได้

………..

สำหรับน้อง ๆ หมอ ขอเตือนแบบพี่สอนน้อง

ขอให้น้องใส่ใจการรักษาทุกครั้ง การให้ยาแบบเดิม บางครั้งไม่เกิดประโยชน์และอาจเกิดโทษ โดยที่คนไข้เขาไม่รู้และไม่ผิดอะไร

น้อง ๆ จงใส่ใจกับการบันทึกเวชระเบียน เพื่อสื่อสารให้เข้าใจในการรักษาคนไข้อย่างต่อเนื่อง คิดเสียว่าเขียนตอบสอบ เน้นใจความสำคัญ ไม่ต้องยืดยาว ประโยชน์จะตกแก่ตัวคนไข้ และอาจจะตกแก่ตัวน้องหากเกิดปัญหาคดีความ

ถ้าไม่แน่ใจเรื่องการใช้ยา ให้ปรึกษาเภสัชกร เขายินดีช่วยเราเสมอ และเราเองก็ต้องเคารพในความเห็นที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาของเขาด้วย และรวมไปถึงสหสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกัน

และ ….

พี่ขออย่างนึง เขียนให้อ่านออกเถอะวะ บางทีพี่ดีใจที่เจอรอยปากกา พออ่านแล้วจะร้องไห้ นี่น้องเขียนอะไรรึ คำย่งคำย่อ ก็เอาที่มันเป็นสากล ประเภท PCM คือ paracetamol อันนี้ก็ยาก หนักสุดที่เคยเจอคือ Cxl คืออะไร ได้โอกาสถามกลับ ได้ความว่านี่คือ Cloxacillin !!!

ด้วยความปรารถนาดี

จาก พี่ลุงหมอ กองเชียร์ที่เหนียวแน่นแห่งทีมเบรนท์ฟอร์ด ที่จะบดขยี้ แมนเชสเตอร์ซิตี้ ถึงถิ่นเอติฮัดสเตเดี้ยม

อาจเป็นรูปภาพขาวดำของ เด็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม