26 กุมภาพันธ์ 2565

Pseudo-Folliculitis Barbae (PFB)การอักเสบของรูขุมขนบริเวณเครา

 หนวดบาง ๆ และเครา คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้

หนุ่ม ๆ และไม่หนุ่มทั้งหลาย น่าจะมีประสบการณ์โกนหนวดเครากันทุกคน ไม่ว่าจะใช้ใบมีด ใช้เครื่องโกน ใช้แม่บ้านโกน และบางคนอาจจะเคยประสบปัญหานี้ ตุ่มหนองอักเสบหลังโกนเครา
Folliculitis Barbae คือการอักเสบของรูขุมขนบริเวณเครา มักจะพบเป็นจุดแดงรอบรูขุมขน อาจจะนูนขึ้น หรือเป็นตุ่มน้ำตุ่มหนองได้ เกิดจากเวลาเราโกนโดยใช้ใบมีดนั้น มีการบาดเจ็บต่อรูขุมขน เกิดเป็นแผลเปิดที่ตามองไม่เห็น แต่เชื้อโรคมองเห็น โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย staphylococcus เชื้อแบคทีเรียเจ้าประจำที่ผิวหนัง
เมื่อเชื้อโรคมองเห็น ก็เข้าไปอยู่อาศัย เกิดเป็นชุมชนเชื้อโรค ร่างกายก็เข้าไปต่อต้านเกิดเป็นการอักเสบและตุ่มหนองขึ้นมานั่นเอง ส่วนใหญ่ก็หายเองได้ บางคนก็มือซนบีบออก หรือถ้าเป็นมากก็อาจใช้ยาฆ่าเชื้อแบบครีม ทาสักสามสี่วันก็จะดีขึ้น
หากเป็นบ่อย ๆ ไม่หาย นอกจากการดูแลการโกนหนวดเคราที่ถูกวิธี ก็ควรแยกเชื้ออื่น เช่น เชื้อรา หรือการอักเสบแบบอื่น เช่น เกิดเซลล์อีโอสิโนฟิลไปทำให้เกิดหนองจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกาย และอีกหนึ่งโรคที่ต้องแยกคือ Pseudo-Folliculitis Barbae (PFB)
PFB เกิดจากหลังโกนหนวดแล้ว หนวดที่ขึ้นมาแทนที่จะขึ้นตรง ๆ แบบหน่อไม้ แต่กลับม้วนงอแทงย้อนกลับไปในชั้นหนังกำพร้า หรือแทงเฉียงแทงขนานไปกับผิวหนัง จึงเกิดปฏิกิริยาของร่างกายทำให้เกิดเป็นตุ่ม คัน นาน ๆ เป็นเหมือนรูขุมขนอักเสบเรื้อรังได้
เนื่องจากมันไม่ใช่รูขุมขนที่แท้จริง เป็นเพียงก้อนการอักเสบเรื้อรัง ดูเหมือน folliculitis barbae เราจึงเรียกมันว่า "สูโด" คือ ของปลอมนั่นเอง
PFB จึงมักเกิดกับคนที่ผมหยิก เคราหยิกติดหนัง เช่นกลุ่มชาติพันธุ์แอฟริกา หรรือเส้นขนบริเวณที่หยิกมาก ๆ โดยทั่วไปการรักษาคือ ปล่อยให้มันยาวออกมาเพื่อพ้นผิวหนังแล้วตัดใหม่ แต่เนื่องจากบางคนก็คันมาก อาจใช้ครีมสเตียรอยด์ในระยะสั้น ๆ ได้ บางคนเป็นรุนแรงและตุ่มนูนคล้ายแผลเป็น ถ้าไม่หายและเป็นปัญหารบกวนอาจต้องไปผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์รูขุมขน
เราก็มีวิธีป้องกันการเกิดโรคอันเกิดตามหลังการโกนหนวดและเครา
1. ยิ่งมีดโกนมีใบมีดหลายใบในชุดโกน แม้จะโกนเกลี้ยงเกลาแต่จะเพิ่มโอกาสบาดเจ็บและเกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น
2. เลือกใช้มีดโกนไฟฟ้า ในบางรายจะดีขึ้นเพราะไม่ได้เสียดสีและไม่ได้ตัดถึงโคนเส้นขน
3. การดึงผิวหนังให้ตึงก่อนลงมีด จะเพิ่มโอกาสเกิดการบาดเจ็บและโรคหลังโกน
4. ควรโกนในทิศทางขนานเส้นขน อย่าย้อนศร ย้อนศรอาจเกิดแผลได้ง่าย
5. ล้างหน้า ฟอกสบู่ เพิ่มความชุ่มชื้นก่อนโกน และเลือกใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ช่วยโกนหนวด จะได้ไม่บาดเจ็บ โกนง่ายขึ้น ลดแรงเสียดทานระหว่างใบมีดกับผิวหนัง
6. อย่าใช้ใบมีดทื่อ มันเพิ่มการบาดเจ็บ และอย่าลืมล้างใบมีดหลังใช้ เพราะมันคือแหล่งสะสมของแบคทีเรียและเชื้อรา
7. โกนขนบริเวณอื่นก็เกิดอาการแบบนี้ได้ แต่จะไม่เรียกว่า folliculiti barbae หรือ pseudofolliculitis barbae เพราะมันไม่ใช่ "เครา"
"มีดโกนคมคมเอาไว้โกนเครา
ลุงหมอเจ้าเก่าไร้เคราและเร้าใจ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม