14 กุมภาพันธ์ 2565

โรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังควรรับการตรวจหาภาวะขาดธาตุเหล็ก

 วันนี้เรามารู้จัก หัวใจ-เหล็ก-ละลาย

คำแนะนำการรักษาโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังของสมาคมแพทย์โรคหัวใจยุโรป แนะนำว่าผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังควรรับการตรวจหาภาวะขาดธาตุเหล็กเป็นระยะ และหากมีภาวะขาดธาตุเหล็ก ก็ควรรับการแก้ไขโดยใช้ยาธาตุเหล็กชนิดสารละลายเข้าทางหลอดเลือดดำ ไม่ว่าจะมีภาวะโลหิตจางหรือไม่ก็ตาม

ธาตุเหล็กจะไปเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ออกซิเจนของเนื้อเยื่อได้ มีการศึกษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวทั้งการบีบตัวไม่ดีและการบีบตัวดี หากขาดธาตุเหล็ก ไม่ว่าจะโลหิตจางหรือไม่ จะสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มการออกแรง ได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก และต่อมาเมื่อมีการศึกษารวบรวมข้อมูลก็พบว่าหลาย ๆ การศึกษาที่ศึกษาการใช้ธาตุเหล็กในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว สามารถลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ด้วย แต่ไม่พบว่าลดอัตราการเสียชีวิตทั้งอัตราโดยรวมและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ

ตอนนี้มีการศึกษาชื่อ AFFIRM-AHF ที่ศึกษาการให้ยาธาตุเหล็กทางหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวที่กำเริบเฉียบพลันหลังแก้ไขอาการให้คงที่ ก็สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ (ไม่ได้วัดผลลดอัตราตาย)

โดยเกณฑ์การให้ธาตุเหล็กคือ หากค่า Ferritin น้อยกว่า 100 ng/mL หรือ 100-299 ng/mL ร่วมกับ transferrin saturation ต่ำกว่า 20% เกณฑ์ที่กำหนดมาจากข้อกำหนดผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษา โดยไม่คิดว่าค่าความเข้มข้นของฮีโมโกลบินที่จะกำหนดภาวะซีดเป็นเท่าไร

ส่วนเกณฑ์การวินิจฉัยโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กคือ พบภาวะโลหิตจาง ร่วมกับยืนยันโดยการตรวจวัดระดับธาตุเหล็กในเลือด ferritin น้อยกว่า 10 ng/mL หรือวัดค่าความอิ่มตัวของ transferrin น้อยกว่า 16% หากมีภาวะนี้ร่วมกับหัวใจวายจะให้เลือด แต่ถ้าแค่ขาดธาตุเหล็กแต่ไม่มีโลหิตจาง ก็จะให้แต่ธาตุเหล็กครับ

สำหรับยาที่ใช้คือ Ferric carboxymaltose ขนาด 50 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร ขวดขนาด 10 มิลลิลิตร คือมี 500 มิลลิกรัม โดยให้ยาครั้งละ 500-1000 มิลลิกรัมแล้วแต่น้ำหนักตัวและระดับฮีโมโกลบิน จะเลือกใช้หยดเข้าหลอดเลือดช้า ๆ หรือฉีดเข้าหลอดเลือดก็ได้ ทั้งสองวิธีต้องระวังการแพ้ยาเฉียบพลันด้วย ยานี้มีจำหน่ายในประเทศไทยเช่นกัน

ที่มา
1.N Engl J Med 2009; 361:2436-2448 (FAIR-HF trial)

2.ESC Heart Fail. 2020 Dec; 7(6): 3392–3400.

3.Indian Heart J. 2017 Nov-Dec; 69(6): 736–741.

4.Eur J Heart Fail. 2018 Jan;20(1):125-133.

5.Naser Yamani, Aymen Ahmed, Priyanka Gosain, Kaneez Fatima, Ali Tariq Shaikh, Humera Qamar, Izza Shahid, Muhammad Sameer Arshad, Talal Almas, Vincent Figueredo,Effect of iron supplementation in patients with heart failure and iron deficiency: A systematic review and meta-analysis,IJC Heart & Vasculature,Volume 36,2021,100871

6.The effect of intravenous ferric carboxymaltose on health-related quality of life in iron-deficient patients with acute heart failure: the results of the AFFIRM-AHF study, European Heart Journal, Volume 42, Issue 31, 14 August 2021, Pages 3011–3020,

อาจเป็นรูปภาพของ ลูกกวาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม