ไม่มีใครชนะ ในสงคราม
27 กุมภาพันธ์ 2565
ไม่มีใครชนะ ในสงคราม
26 กุมภาพันธ์ 2565
คริปโตคอคคัส (cryptococcus)
คริปโต ง่ายนิดเดียว
Pseudo-Folliculitis Barbae (PFB)การอักเสบของรูขุมขนบริเวณเครา
หนวดบาง ๆ และเครา คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้
25 กุมภาพันธ์ 2565
ยา empagliflozinใช้รักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
ยา empagliflozinใช้รักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
maligmant melanoma
Malignant Melanoma มะเร็งผิวหนังอีกหนึ่งชนิดที่พบได้
24 กุมภาพันธ์ 2565
ยาลดความดันในหญิงตั้งครรภ์
ยาลดความดันในหญิงตั้งครรภ์
หญิง : ลุงหมอขา หญิงเป็นโรคความคัน เอ้ย โรคความดัน จะใช้ยาอะไรดีคะ
ลุงหมอ : ก็ถ้ามีโรคร่วมอื่นให้ใช้ยาที่มีประโยชน์กับโรคร่วมนั้น ถ้าไม่มีก็เลือกเอา จะใช้อะไรก็เลือกเอา
หญิง : แต่หญิงวางแผนจะตั้งครรภ์ด้วยนะคะ
ลุงหมอ : ถ้าวางแผนแล้วก็อย่าใช้ยากลุ่ม ACEI, ARB, DRI เอาไว้ไม่คิดจะท้องค่อยกิน
หญิง : แล้วถ้าหญิงเกิดท้องขึ้นมาล่ะ
ลุงหมอ : ยาลดความดันในคนท้องที่แนะนำก็มี labeterol, nifedipine, methyldopa แต่ต้องให้หมอควบคุมใกล้ชิดนะหนู
หญิง : แล้วถ้าหญิงไม่ท้องล่ะคะ
ลุงหมอ : อันนั้นไม่ต้องมาปรึกษาลุงหมอ หนูไปคุยกับแฟนหนูนะ ขยันสักหน่อย การบ้งการบ้านก็หัดทำซะบ้างจ้ะ
จบ
23 กุมภาพันธ์ 2565
Conflict of Interest การควบคุมยาสูบ
Conflict of Interest หรือไม่
การควบคุมยาสูบนั้น มีหนึ่งข้อที่คณะกรรมการควบคุม (regulator) ของเกือบทั้งโลกกำหนดคือ ควบคุมการสนับสนุนในกิจกรรมทางสังคมหรือกิจกรรมเชิงวิชาการจากบริษัทที่ผลิตหรือจำหน่ายยาสูบ ในประเทศไทยเองก็มีกฎนี้เช่นกัน
ข่าวลงตีพิมพ์ในสารสาร Nature เมื่อ 28 มกราคม 2565 ว่าสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจในหลายประเทศของยุโรปและอเมริกา ได้ปฏิเสธการตีพิมพ์วารสารทางวิชาการจากผู้แต่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ (ไม่ได้ระบุส่วนเกี่ยวข้องว่าสัมพันธ์ในระดับใด) ปฏิเสธการนำเสนองานวิจัยของผู้แต่งท่านนั้นในงานประชุมนานาชาติ ด้วยมูลเหตุดังนี้
บริษัทบุหรี่ขนาดยักษ์ใหญ่ข้ามชาติบริษัทหนึ่ง ได้ทำการซื้อกิจการบริษัทผลิตภัณฑ์ยาและวิจัยยา “V” ชื่อดังในยุโรป บริษัท “V” ที่ว่านี้ เชี่ยวชาญในการวิจัย พัฒนาและผลิตยาโรคระบบทางเดินหายใจ ที่ใช้สูดลงปอดทั้ง dry powder inhaler และ metered dose inhaler หรือสารละลายยาที่ให้กับเครื่องพ่นละอองฝอยสูดลงปอด ซึ่งยาเกือบทั้งหมดเป็นยาและอุปกรณ์ในการรักษาโรคอันเกิดจากบุหรี่ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมร่วมสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจให้ความเห็นว่า มีโอกาสที่บริษัทบุหรี่จะซื้อกิจการเพื่อนำเอาเทคโนโลยีของยาต่าง ๆ เหล่านั้นมาใช้เพื่อทำผลิตภัณฑ์บุหรี่ เพื่อนำส่งนิโคตินให้ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น
ทำให้มีข้อกังวลเกี่ยวกับจริยธรรมทางการแพทย์และผลประโยชน์ทับซ้อน จึงออกแนวทางการปฏิเสธดังกล่าว พร้อมกับแนะนำคนใช้ให้หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มาจากบริษัท “V” หลังถูกซื้อกิจการอีกด้วย
ทางฝ่ายบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ทางบริษัทไม่ได้มีแนวคิดและนโยบายที่จะทำเทคโนโลยีของการรักษามาใช้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์บุหรี่ การลงทุนและซื้อกิจการนี้ เป็นกิจกรรมทางธุรกิจการค้าทั่วไป ทางบริษัทยินดีรับฟังข้อเสนอและคำวิจารณ์เกี่ยวกับการซื้อและควบรวมกิจการในรูปแบบการค้าการลงทุน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะยกข้อนี้มาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ และไม่เห็นด้วยที่จะทำให้ผู้ป่วยขาดโอกาสในการใช้ยา
ทั้งนี้ยังไม่มีข้อยุติจากทั้งสองฝ่าย หรือยังไม่มีกรรมการคนกลางมาตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ นี้
แหม ประเด็นแบบนี้มีความอ่อนไหวมากเลยนะครับ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในทางธุรกิจกับการพัฒนาความรู้ทางการแพทย์ และตั้งแต่มีการใช้ evidence-based medicine เรื่องประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาวิจารณ์กันไม่รู้จบสิ้น
ที่ยกตัวอย่างมาก็เพื่อจะบอกว่า การศึกษาเรื่องสถิติการแพทย์ การวิเคราะห์วารสารและข้อมูลการแพทย์ เพื่อสกัดความจริงออกมาจากข้อคิดเห็น ทราบเรื่องความโน้มเอียง ตัวแปรปรวน การเล่นกลทางสถิติ การพิจารณาอย่างรอบด้าน ครบมิติ ไม่ใช่เพียงวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เท่านั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการเรียนและการทำงานในอนาคตครับ
การใช้ NIV หรือ HFNC หลังถอดท่อ
ในยุคที่เรามีเครื่องมือที่ดีขึ้น
ในอดีต เมื่อเราจะถอดท่อช่วยหายใจ เราดูว่าผู้ป่วยหมดข้อบ่งชี้การใส่ท่อและต่อเรื่องหรือยัง หายใจได้เองอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ สามารถไอเอาเสมหะออกมาได้ และสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี อาจจะใช้ค่าดัชนีบางอย่างมาช่วยบ่งบอกโอกาสสำเร็จเวลาถอดท่อเช่น rapid shallow breathing index และเมื่อเราถอดท่อ เราจะเฝ้าสังเกตอาการหลังถอดท่อ 2-3 ชั่วโมงว่าจะสำเร็จหรือไม่
มาถึงยุคปัจจุบัน เรามีอุปกรณ์คือ non invasive ventilator คือหน้ากากอัดแรงดันอากาศ โดยไม่ต้องใส่ท่อ และเครื่องสุดฮิต high flow oxygen เพื่อให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง ที่นิยมใช้กันมากในยุคโควิด
อุปกรณ์ทั้งสองชนิดนี้ นอกจากมีข้อบ่งใช้ในการรักษาการหายใจล้มเหลวแล้ว อีกหนึ่งข้อบ่งชี้คือ ใช้หลังจากถอดท่อช่วยหายใจ เพื่อลดโอกาสการใส่ท่อและใส่เครื่องซ้ำ เรียกว่าเป็นอุปกรณ์เพื่อพยุงร่างกายในช่วงรอยต่อ ระหว่างที่เครื่องช่วยหายใจช่วยเต็มที่ เปลี่ยนถ่ายมาเป็นสรีรวิทยาของการหายใจปกติ แต่ในช่วงเปลี่ยนนี้ ร่างกายต้องทำงานหนักมาก เพื่อที่จะพ้นภาวะพึ่งพาจากเครื่อง ในผู้ป่วยบางรายที่เตรียมตัวไม่ดี ก็อาจล้มเหลวจนต้องกลับไปใส่เครื่อง
ล่าสุดมีการศึกษาแบบรวบรวมงานวิจัย systematic review ตีพิมพ์ใน intensive care medicine (ที่ปีนี้ผมจะไม่ต่ออายุสมาชิกแล้ว แพง!!) รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับความสำเร็จในการถอดท่อโดยไม่ต้องใส่กลับ ระหว่างการใช้ NIV, HFNC และวิธีปกติคือถอดออกแล้วใส่สายให้ออกซิเจนธรรมดา จำนวน 36 การศึกษาที่ทำในไอซียู
ผลการศึกษาออกมาในทางเดียวกันหมด คือ การใช้ NIV หรือ HFNC หลังถอดท่อ (ใส่เลย ไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยแย่ลง) มีความสำเร็จสูงกว่าวิธีปรกติถึง 35% แต่ทั้งสองวิธีหากเปรียบเทียบกันเองจะไม่ต่างกัน เรียกว่าใช้อะไรก็ได้ที่มี ผลพอ ๆ กัน
แต่การใช้อุปกรณ์ทั้งสองไม่ได้ไปลดอัตราการเสียชีวิตแต่อย่างใด แค่ลดโอกาสการใส่ท่อซ้ำ แน่นอนก็จะลดการใช้เครื่องช่วยหายใจ ลดการติดเชื้อ ลดจำนวนวันนอน ลดการใช้ทรัพยากรอีกมากมาย ถ้าถามผมในแง่ผู้ให้บริการและผู้บริหารทรัพยากรก็คุ้ม ยิ่งไปถามคนไข้ว่าหากไม่ต้องใส่ท่อซ้ำ อันนี้ยิ่งคุ้มเกินคุ้ม คุ้มกว่าแฟลตปลาทองเสียอีก
ท่านใดอยู่ในสายงานนี้ ลองพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ที่ว่ามาประยุทต์ใช้ในงานตัวเองดูนะครับ จะได้พัฒนาศักยภาพ ทำเป็น R2R เป็นผลงานได้อีกด้วย
Fernando, S.M., Tran, A., Sadeghirad, B. et al. Noninvasive respiratory support following extubation in critically ill adults: a systematic review and network meta-analysis. Intensive Care Med 48, 137–147 (2022). https://doi.org/10.1007/s00134-021-06581-1
22 กุมภาพันธ์ 2565
ตัวเลขการติดเชื้อที่เพิ่ม กับตัวเลขการป่วยการตาย เราทำอย่างไร
ตัวเลขการติดเชื้อที่เพิ่ม กับตัวเลขการป่วยการตาย เราทำอย่างไร
อ่านมาหลายที่ รวม ๆ กัน ก็เอาไปปรับใช้กัน
1. การล้างมือยังสำคัญมาก ล้างบ่อยเท่าที่ทำได้ ล้างน้ำและสบู่ ถ้าไม่มีก็ใช้เจลแอลกอฮอล์แบบชุ่มมือ ถูให้ทั่ว
2. รวมตัวเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงที่แออัดและอากาศไม่ถ่ายเท ทำงานทำการยังพอได้นะ ป้องกันตัวเองด้วย
3. หน้ากากอนามัย คงยังต้องใส่อยู่ ในสถานการณ์กับข้อแนะนำของบ้านเรา ใส่ให้กระชับ ถ้าไม่มั่นใจว่ากระชับก็ใส่สองชั้น เพื่อกระชับมากขึ้น
4. ตั้งแต่อายุ 18 ปี ควรรับวัคซีนทุกคนถ้าไม่มีข้อห้าม เพราะลดความรุนแรงได้จริง ผู้ป่วยหนักเวลานี้ส่วนใหญ่คือ ไม่รับวัคซีน
5. ตั้งแต่อายุ 18 ควรอย่างยิ่งที่จะรับวัคซีนกระตุ้นเข็มสาม ชนิด mRNA. โดยเร็ว ส่วนเข็มสี่ห้าหก ให้แค่บางราย ปรึกษาหมอใกล้ตัว แต่เข็มสามนี่จำเป็นครับ
6. เด็ก ๆ ก็ควรฉีดตามประกาศของสาธารณสุขครับ ลดป่วย และเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ เราจะได้ปลอดภัยกันทุกคน
7. ถ้าติดเชื้ออาการไม่หนัก รักษาที่บ้านได้นะครับ ยกเว้นที่บ้านไม่พร้อม ไม่ใช่ทุกรายที่ต้องเข้ารพ. ไม่ใช่ทุกรายที่ต้องได้ยาต้านไวรัส
8. เมื่อเสี่ยง ก็ตรวจ ATK ได้ แต่ต้องตรวจให้ถูก และหากไม่มั่นใจผล ให้ปรึกษา รพ.ใกล้บ้านเสมอ
ดู ๆ ไปแล้ว ก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก ยกเว้นการฉีดวัคซีน ที่เน้นมาก เพราะช่วยแก้ไขโรคและช่วยโลกได้จริง
เราต้องอยู่กับมันได้ครับ เราต้องได้เห็นบอลไทยไปบอลโลก
ไตบาดเจ็บเฉียบพลัน (acute kidney injury)
ไตบาดเจ็บเฉียบพลัน (acute kidney injury) ที่ชอบพูดคำนี้บ่อย ๆ ในเพจ หมายถึงอะไร
ไตมนุษย์เป็นอวัยวะสำคัญมากในการปรับสมดุลและสรีรวิทยาร่างกาย ถ้าเป็นภาษาบู๊ลิ้มจะเรียกว่าผู้คุ้มกฎ คอยควบคุมให้ยุทธจักรร่างกายสมดุล แต่ในขณะเดียวกันตัวมันเองกลับมีความเปราะบางอย่างมาก ไม่ต่างจากรัฐบาลไทย เพียงมีปัจจัยใดมากระทบ ก็ส่งผลต่อความมั่นคงทันที
แต่ก่อนเราเรียก acute kidney injury ว่าไตวายเฉียบพลันหรือ acute renal failure แต่เมื่อเรามีข้อมูลมากขึ้นก็ทราบว่า ไตยังไม่วายนะ มีการปรับตัวเพื่อให้ร่างกายอยู่รอด แต่การทำงานผิดไปเท่านั้น หากเราสามารถตรวจจับภาวะนี้ได้และแก้ไขได้ทัน ไตจะกลับสู่การทำงานปรกติได้ด้วย ดังนั้นหนึ่งในเป้าหมายการรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤตนอกจากระบบไหลเวียน หัวใจและหลอดเลือด สิ่งสำคัญคือ ต้องปกป้องไตให้ได้ด้วยนั่นเอง
เราจำกัดความไตบาดเจ็บเฉียบพลันด้วยการเพิ่มขึ้นของครีอะตินีนในเลือดในระยะเวลาสั้น ๆ คือเพิ่มอย่างน้อย 0.3 mg/dL ในเวลา 48 ชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นจากค่าเดิม 1.5 เท่าในเวลาไม่เกิน 7 วัน การเจาะเลือดติดตามผลครีอะตินีนจึงสำคัญมาก ส่วนค่า estimated GFR หรือค่าการกรองของไต มักไม่ได้เอามาใช้ในสถานการณ์นี้มากนัก เพราะ GFR มุงดูการกรองของไตเป็นหลัก ส่วนการบาดเจ็บต่อไต เกิดได้กับทุกการทำงานของไต
ถามว่า “ไตบาดเจ็บเฉียบพลัน” มีอาการไหม คำตอบคือแทบไม่มีอาการ หลายคนคิดว่าไตบาดเจ็บก็จะปัสสาวะน้อยลง อันนี้ไม่จริงเสมอไปครับ การบาดเจ็บต่อไตหลายชนิดปัสสาวะปกติ หรือบางชนิดปัสสาวะมากกว่าปกติด้วยซ้ำ ส่วนอาการปัสสาวะเป็นเลือด ปวดเบ่ง ปัสสาวะไม่ออก อาการเหล่านี้มักจะบอกถึง “สาเหตุ” ไตบาดเจ็บมากกว่าบอกว่า ตอนนี้ไตฉันกำลังแย่นะ
ความสำคัญรองจากการตรวจพบที่รวดเร็วเพื่อรีบแก้ไข คือ สาเหตุของไตบาดเจ็บว่าเกิดจากอะไร เพราะการรักษาหลักคือ ประคับประคองไตให้ดี และรักษาสาเหตุ (การรักษาโดยการฟอกเลือด ถือเป็น การรักษาแบบประคับประคองนะครับ) ผมขอแบ่งสาเหตุเป็นแบบเก่า ที่เข้าใจง่ายและรักษาง่าย เพราะนี่คือเพจอายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียวครับ
แบ่งเป็น pre-renal cause, intrinsic renal cause, post renal cause
Pre-renal cause คือสาเหตุอื่นนอกไต คือ การเสียสมดุลของเลือดที่มาเลี้ยงไต เช่น เสียเลือดมากทำให้เลือดมาที่ไตลดลง ,หัวใจวายทำให้ปั๊มเลือดมาที่ไตลดลง, เกิดช็อกติดเชื้อสารน้ำในเลือดไปอยู่ที่อื่น เลือดก็มาที่ไตลดลง, สมดุลเลือดเข้าออกไตบกพร่องจากยาเช่น ยาแก้ปวด NSAIDs, ACEI, ARB สาเหตุข้อนี้มักมีประวัติชัดเจน การตรวจแยกสาเหตุมักใช้การตรวจเลือดคู่กับการตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจสัดส่วนเกลือแร่ในเลือดและในปัสสาวะ (fractional excretion) แยกจาก intrinsic renal cause ส่วนการรักษาก็รักษาสมดุลสารน้ำให้ไปที่ไต และแก้ไขสาเหตุ
Intrinsic renal cause สาเหตุจากตัวไตเอง ทั้งจากหน่วยกรอง จากท่อไต จากเนื้อไต จากหลอดเลือดฝอยที่ไต เช่นจากยาฆ่าเชื้อ Aminoglycosides ,จากโปรตีน Myoglobin ที่มาจากกล้ามเนื้อบาดเจ็บ, จากภูมิคุ้มกันตัวเองที่ผิดปกติในโรคเอสแอลอี แยกโรคได้จากประวัติที่ดี การตรวจหา fractional excretion และอย่าลืมตรวจหา urine sedimens ที่ช่วยแยกโรคได้ดีจาก pre renal cause ส่วนการรักษาก็เหมือนเดิม คือ ประคับประคองให้อยู่รอดรอครบวาระ ...ไม่ใช่ล่ะ ให้ไตฟื้นสภาพ และแก้ไขโรคที่เป็นสาเหตุ
Post renal cause อันนี้คือการอุดตัน การตีบแคบของท่อปัสสาวะ ตั้งแต่กรวยไตไปจนถึงปลายท่อปัสสาวะ เช่น เนื้อตายไปอุดตันท่อ, มีนิ่วไปอุดตัน, เนื้องอกไปเบียดคอท่อปัสสาวะ, ยาบางอย่างที่ทำให้คอกระเพาะปัสสาวะบีบรัดตัว การแยกไตบาดเจ็บอันนี้จะง่ายสุด ประวัติปัสสาวะไม่ออก ปวดถ่าย และตรวจอัลตร้าซาวนด์จะพบการอุดตันชัดเจน เมื่อมีการอุดตัน แรงดันย้อนกลับจะมาก ไตก็บาดเจ็บ การรักษาต้องแก้ไขจุดอุดตัน หรือใส่อุปกรณ์เพื่อลดแรงดัน เช่น สายสวนปัสสาวะ และอย่าลืมแก้ไขต้นเหตุของโรค
เน้นขั้นตอนการตระหนักว่าจะเกิด ตรวจจับการบาดเจ็บได้เร็ว ประคับประคองให้ดี แก้ไขสาเหตุให้ตรงจุด รับรองว่าไตบาดเจ็บจะไม่น่ากลัว ขอแต่ตัวไม่น่าอยู่ไกล ก็พอนะจ๊ะ
21 กุมภาพันธ์ 2565
วิเคราะห์เรื่อง สารน้ำในการรักษาผู้ป่วยวิกฤต
วิเคราะห์เรื่อง สารน้ำในการรักษาผู้ป่วยวิกฤต (ยาวมาก)
สองสามปีก่อน เราพูดถึงเรื่องการให้สารน้ำเวลาแก้ไขช็อก โดยเฉพาะช็อกติดเชื้อว่า หากใช้น้ำเกลือนอร์มัล (0.9% NaCl) เราจะพบภาวะบาดเจ็บต่อไตและอันตรายจากคลอไรด์เกิน และเมื่อปลายปีที่แล้วมีแนวทางการรักษา sepsis และ septic shock ประกาศใช้ คำแนะนำเรื่องสารน้ำที่ใช้ในการ resuscitation เป็น balanced solution คือ สารละลายที่มีเกลือแร่ใกล้เคียงกับองค์ประกอบของน้ำเลือดของเรา แทนที่การใช้น้ำเกลือนอร์มัลที่เราใช้มานาน (ใกล้เคียงเพียงออสโมลาริตี้ของสารน้ำ)
** แต่ว่าเป็นคำแนะนำระดับ weak recommendation มาจากหลักฐาน poor evidences ที่มาของคำแนะนำมาจากบางส่วนของการศึกษาเรื่องการให้สารน้ำในภาวะช็อก ไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของการศึกษา และบางส่วนมากจากกรณีศึกษาหรือการรวบรวมเคสที่เกิด **
ในขณะที่คำแนะนำการรักษา septic shock ประกาศใช้ มีการศึกษาอันหนึ่งชื่อว่า BASICS ทำใน 75 ไอซียูในบราซิล ตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine เป็นการศึกษาเรื่องชนิดและความเร็วของสารน้ำในการรักษาผู้ป่วยวิกฤต ระหว่างน้ำเกลือนอร์มัล กับ balanced solution ว่ามีผลต่ออัตราการเสียชีวิตต่างกันไหมและหากใช้ในอัตราที่ต่างกัน ผลจะออกมาเป็นอย่างไร มีการคิดแยกเรื่องการบาดเจ็บต่อไต และวัดผลที่ระดับคลอไรด์ด้วย (สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาในของเดิม)
แน่นอนว่าแนวทางการรักษาช็อกติดเชื้อ 2021 ย่อมไม่ได้รวมการศึกษานี้เข้าไปด้วย และในเวลาใกล้กันก็มีการศึกษา PLUS ที่ทำแบบเดียวกันกับ BASICS แต่ศึกษาในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตีพิมพ์ใน Critical Care Resuscitation 2021
ทำให้ข้อมูลเรื่องการใช้สารน้ำในผู้ป่วยวิกฤตอาจจะเปลี่ยนแปลงในแนวทางครั้งหน้า ผมจะมาเล่าให้ฟัง ไม่ได้แปลให้ฟังนะครับ ว่าทั้งสองการศึกษานี้อาจจะเปลี่ยนแนวทางในครั้งหน้าอย่างไร
เรามาที่การศึกษา BASICS กันก่อน การศึกษานี้เป็นการศึกษาค่อนข้างใหญ่ในสายงานเวชบำบัดวิกฤต แม้จำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาจะไม่มากเหมือนการศึกษาทางโรคหัวใจหรือโรคติดเชื้อ เพราะสเกลของโรคมันแคบและบีบเกณฑ์เข้าร่วมที่แคบเพื่อโฟกัสปัญหาชัดเจน
หลัก ๆ คือ เทียบระหว่าง Normal Saline กับ Balance Solution สำหรับการศึกษานี้เลือก Plasmalyte-148 โดยแบ่งศึกษาย่อยออกเป็นสองคำถาม (แต่เป็นการศึกษาเดียวกัน คิดแยกข้อมูลสองคำถาม) คือ ระหว่างสารน้ำสองชนิด และอัตราเร็วการให้สารน้ำที่ต่างกัน ว่ามีผลต่ออัตราการเสียชีวิตที่เก้าสิบวันต่างกันไหม ถึงแม้อัตราการเสียชีวิตที่เก้าสิบวันจะเป็นเป้าหมายหลักในการรักษาผู้ป่วยวิกฤต หลายคนคงคิดว่ามันนานไปนะ มีเป้าหมายรองไหม
ก็มีเป้าหมายรอง ไม่ว่า การบาดเจ็บต่อไตต่างกันไหม ระดับคลอไรด์ระหว่างสองสารน้ำต่างกันจริงไหมและถ้าต่างกันจริง มันมีผลต่อการบาดเจ็บของไต มีผลต่อการรักษาด้วยการฟอกเลือดหรือไม่ ผลระยะสั้นในเรื่องจำนวนวันรักษาในไอซียู หรือผลต่อการใช้เครื่องช่วยหายใจต่างกันไหม โดยเก็บข้อมูลเป็นแบบ pre specified analysis คือกำหนดตัวแปรที่ส่งผลต่อผลการศึกษาหลักเอาไว้เลย และคิดแยกแต่ละปัจจัยแบบคิดผลรวมเลย ไม่ได้เอาผลรวมมาแยกวิเคราะห์ภายหลัง
ผู้วิจัยเลือกใช้กลุ่มผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่ต้องรักษาในไอซียูจากภาวะวิกฤต ที่ต้องบอกว่าเกือบครึ่งคือ 48% เป็นภาวะหลังผ่าตัด และเป็นการผ่าตัดที่นัดหมายมาผ่าตัดด้วย ผู้ป่วยกลุ่มช็อกติดเชื้อหรือวิกฤตแบบอื่นมีสัดส่วนไม่มากเท่า ดังนั้นก็ไม่ใช่ critical ill ที่หนักมาก อันนี้ก็ยืนยันด้วยระบบคะแนน APACHE II ที่บอกโอกาสเสียชีวิตในไอซียู พบว่าคะแนนอาปาเช่ไม่ได้สูงมาก
และในผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องมีข้อบ่งชี้ที่จะได้รับการน้ำเพื่อแก้ไขภาวะวิกฤตระบบไหลเวียน ก็จะได้ให้สารน้ำได้ไง แต่ว่า ไม่ใช่ 'ช็อค' ทุกรายนะครับ ดังนั้น การศึกษานี้อาจจะไม่ได้แปลผลถึงผู้ป่วยช็อกติดเชื้อได้ทุกรายหรือได้ทุกกรณี ความหมายจึงอาจจะไม่ตรงกับ fluid resuscitation แบบการแก้ช็อกเสียทีเดียว
นอกจากนี้เกือบทั้งหมดของผู้ป่วยได้รับสารน้ำมาก่อนเข้าร่วมศึกษา ปริมาณ 500-1000 มิลลิลิตร และได้รับมาปนกันทั้งสองกลุ่ม ดังนั้นผลการศึกษาอาจมีข้อมูลส่วนนี้มาปนเปื้อน และอย่างที่กล่าว อาจจะไม่ใช่การ resuscitation ตั้งแต่แรกที่แท้จริง
มีคนไข้จำนวน เข้าร่วมการศึกษา แบ่งเป็น
▪ รับ normal saline เป็นกลุ่มควบคุมจำนวน 5290 รายและรับ balanced solution จำนวน 5230 ราย
▪ อัตราเร็วการให้สารน้ำ 1 ลิตรต่อชั่วโมงเป็นกลุ่มควบคุมจำนวน 5814 รายและอัตราการให้สารน้ำช้าลงที่ต้องการทดสอบ 333 mL/hr จำนวน 5838 ราย (หลังจากพ้นวิกฤตทีต้องให้สารน้ำ จึงปรับอัตราเร็วสารน้ำตามแต่หมอคนที่ดูแล)
ผลที่เกิดคือใช้สารน้ำประมาณ 1.5 ลิตรในวันแรกทั้งสองกลุ่มและรวมสามวันประมาณ 4 ลิตร อัตราการเสียชีวิตที่เก้าสิบวันและผลย่อยที่ต้องการวิเคราะห์แบ่งออกสองคำถามดังนี้
สำหรับคำถามว่าชนิดของสารละลายแบบใดดีกว่ากัน พบว่าใช้ NSS อัตราการเสียชีวิตที่เก้าสิบวันคือ 27.2% ส่วนสารน้ำ balanced solution อยู่ที่ 26.4% ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (ข้อสังเกตคืออัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าที่คาดคือ 35% ในทั้งสองกลุ่ม ส่งผลถึง power ของการศึกษาลดลงและ error เพิ่มขึ้น อาจเพราะไม่ใช่ผู้ป่วยที่วิกฤตมากจริง) จะมีแต่เพียงกลุ่มย่อยจากการบาดเจ็บทางสมองจากอุบบัติเหตุเท่านั้นที่อัตราการเสียชีวิตจะต่ำกว่าในกลุ่มที่ได้ balanced solution
ถ้ามาพิจารณาประเด็นที่เป็นคำถามคือ ระดับคลอไรด์ในเลือดพบว่าไม่ต่างกันนัก การเกิดไตบาดเจ็บไม่ต่างกัน ต้องเข้าสู่กระบวนการฟอกเลือดไม่ต่างกันครับ
โดยรวมแล้ว การใช้สารน้ำในผู้ป่วยวิกฤตดูไม่ต่างกันไม่ว่าจะใช้ NSS หรือ balanced solution ก็ตาม คราวนี้เรามาดูที่อัตราเร็วบ้าง เป็นการเปรียบเทียบอัตราเร็วเดิม 1 ลิตรต่อชั่วโมงกัยอัตราที่ช้าลงในสารน้ำแต่ละชนิดคือ 333 มิลลิลิตรต่อชั่วโมง จะเป็นอย่างไร
*** เดิมเรามีการศึกษาปริมาณและความเร็วของสารน้ำจากแบบเดิมที่ให้แบบถล่ม early goal directed therapy เทียบกับการให้แบบปรับเป็นระยะ ในการศึกษา PROMISE, ARISE และ PROCESS พบว่าการปรับสารน้ำตามพลศาสตร์การไหลเวียนเลือด ดีกว่าการให้แบบมาก ๆ ให้ถึงเป้าโดยเร็วแบบ EGDT เดิม แต่ใน BASICS กำหนดตัวเลขมาเลย 333 mL/hr ***
คนไข้กลุ่มเดียวกันนั่นแหละ ผลออกมาว่าถึงแม้ 'อัตราเร็ว' ในการให้สารน้ำจะต่างกันแต่ปริมาณสารน้ำที่ได้ไม่ต่างกันนัก ประมาณ 1.1-1.2 ลิตรในวันแรก (อย่าลืมว่าก่อนเข้าการศึกษา เกือบทั้งหมดได้สารน้ำมาก่อนแล้วครึ่งลิตรถึงหนึ่งลิตร)
อัตราการเสียชีวิตที่เก้าสิบวันในกลุ่มควบคุมคือให้สารน้ำเร็ว 27.0% ส่วนกลุ่มทดลองคือให้สารน้ำช้าคือ 333 mL/hr เท่ากับ 26.6% ผลการศึกษารองและกลุ่มย่อยอาจจะดูแตกต่างกันบ้างในสามวันแรก แต่พอถึงวันที่เจ็ดเป็นต้นไปก็ไม่ต่างกันแล้ว
ไม่ว่าจะให้ NSS ช้าหรือ balanced solution ช้า ก็ไม่ต่างกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่ได้เปรียบเทียบตามระดับพลศาสตร์การไหลเวียนที่ต่างกัน ซึ่งมันเป็นประเด็นสำคัญของการให้เร็วหรือช้า
สรุปว่าจาก BASICS ชนิดและความเร็วของสารน้ำ ในผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องแก้ไขโดยการให้สารน้ำนั้น ไม่ได้แตกต่างกันระหว่าง normal saline กับ balanced solution
เมื่อเราเข้าใจ BASICS แล้ว เรามาฟัง PLUS ที่ออกแบบคล้ายกันบ้าง ทำใน 53 ไอซียูในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เช่นกัน ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 18 ปี แอดมิตในไอซียูและมีข้อบ่งชี้เพื่อให้การรักษาด้วยสารน้ำเช่นกัน โดยกลุ่มควบคุมใช้น้ำเกลือนอร์มอล เทียบกับกลุ่มทดลองโดยใช้ balanced solution เช่นกัน ส่วนอัตราการให้ ปริมาณการให้ อันนี้ขึ้นกับหมอผู้ดูแลคนไข้เป็นผู้ตัดสิน ข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้การศึกษานี้แปรปรวน แต่มองอีกแง่มันคือความเป็น reality ที่เรียกว่า pragmatic design ออกแบบตามสถานการณ์ในชีวิตจริงนั่นเอง
*** และเช่นกัน ความจำเป็นในการให้สารน้ำในไอซียู แม้จำเป็นเพราะมีระบบไหลเวียนบกพร่อง แต่ไม่ได้หมายถึงการ resuscitation แบบตรงตัวอย่างใน guideline ***
การศึกษานี้วัดผลอัตราการเสียชีวิตที่ 90 วันเช่นกัน และวัดผลรองคือการบาดเจ็บต่อไต การรักษาด้วยการฟอกเลือด เหมือนกับ BASICS และต่อไปนี้คือข้อสังเกตสำคัญของ PLUS trials
การศึกษานี้ทำในช่วงที่คาบเกี่ยวกับการระบาดของโควิด แรกเริ่มตั้งใจจะเก็บตัวอย่าง 8800 คน พอมีการระบาดจึงขัดข้องด้านเงินทุนและเทคนิคจึงต้องยุติการศึกษาก่อนกำหนด ในขณะเก็บตัวอย่างได้เพียง 5000 ราย จากการคำนวณพบว่า 5000 คนนี้มี power ของการศึกษาที่ 90% (เหมือนกับหากคิดว่าเก็บตัวอย่างได้ 8800 คน) เมื่อผลต่างอัตราการเสียชีวิตที่เก้าสิบวันต้องมากกว่า 3.8% หมายถึงถ้าผลการศึกษาออกมาอัตราการเสียชีวิตต่างกันเกิน 3.8% ก็จะถือว่าแม้ทำไม่ครบจำนวนที่กำหนด ก็พอเชื่อถือการสึกษานี้ที่ทำแค่ 5000 คนได้
เรามาดูผลการศึกษากัน ออกมาว่ากลุ่มอายุที่ศึกษาประมาณ 60 ปีและคะแนนอาปาเช่ที่บ่งบอกการพยากรณ์โรคในไอซียู เท่ากับ 19 (ยิ่งมากยิ่งแย่) เรียกว่ากลุ่มคนไข้ใน PLUS ดูหนักกว่าใน BASICS แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ กลุ่มใหญ่เป็นผู้ป่วยที่นัดมาผ่าตัด มีช็อกติดเชื้อไม่เกินครึ่ง และผู้ป่วยเกือบทั้งหมดได้รับสารน้ำมาก่อนเข้าศึกษา ได้รับ 500-1000 มิลลิลิตรเช่นกัน
อัตราการเสียชีวิตที่ 90 วันของกลุ่มควบคุมคือ 22.0% ส่วนกลุ่มที่ได้ balanced solution คือ 21.8% ต่างกันแบบไม่มีนัยสำคัญ … อัตราการเสียชีวิตในกลุ่มควบคุมคาดไว้ที่ 23% (ของ BASICS จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ทำให้ power ลดลง) เรียกว่าใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ แต่ผลต่างอัตราการเสียชีวิตแค่ 0.2% นอกจากต่างกันอย่สงไม่ทีนัยสำคัญแล้ว ยังไม่สามารถใช้แสดงผลว่าแตกต่างกันในกรณีเก็บตัวอย่างแค่ 5000 คน อีกด้วย เป็น power ที่ลดลงในอีกกรณีทางสถิติ (ลองย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าบนอีกที)
ไม่ว่าจะคิดกลุ่มย่อยจากการผ่าตัด การช็อกติดเชื้อ ผลก็เหมือนกัน และหากไปดูผลการศึกษาย่อยเรื่องการบาดเจ็บต่อไตและการฟอกเลือด พบว่าไม่ต่างกัน แม้ว่าในช่วงสามวันแรกกลุ่มที่ได้ Normal Saline จะมีระดับคลอไรด์ในเลือดที่สูงกว่าก็ตาม และกลับมาเท่ากันหลัง 7 วัน
สรุปว่า สำหรับผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องให้สารน้ำเพื่อกู้ระบบไหลเวียน จะใช้ normal saline หรือ balanced solution ผลก็ไม่ต่างกัน ในรูปแบบ pragmatic design ที่เหมือนชีวิตจริง
สองการศึกษาคือ BASICS และ PLUS บอกเราว่าการให้สารน้ำรักษาภาวะวิกฤต เราจะใช้อะไรก็ไม่ต่างกัน การบาดเจ็บต่อไตและการฟอกเลือดก็ไม่ต่างกัน ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแนวทางการรักษาในอนาคตได้เพราะเป็นข้อมูลในระดับ randomized controlled trials แต่ต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่า ถ้าจะนำไปใช้ในการกู้ภาวะวิกฤตตั้งแต่แรก เมื่อไม่ได้สารน้ำอื่นมาก่อน ผลการศึกษานี้จะยังจริงอยู่หรือไม่
เมื่อการศึกษาใหม่ ไม่สนับสนุนข้อมูลเดิม ต้องติดตามดูว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร
20 กุมภาพันธ์ 2565
Android e-book reader
Android e-book reader
วันนี้เรามารู้จักเครื่องอ่านอีบุ๊กกันอีกครับ
กระแสการอ่านอีบุ๊กในบ้านเราโตขึ้นมาก ร้านค้าอีบุ๊กออนไลน์โตขึ้น มีหลายเจ้า หนังสือ นิตยสาร การ์ตูน ลงเป็นอีบุ๊กมากขึ้น ทำให้นอกจากเครื่องคินเดิลที่ใข้อ่านจากร้านหนังสือแอมาซอน เรามีเครื่องอื่นมากขึ้น
ก่อนจะไปเครื่องอ่านแอนดรอยด์ (android 10,11) เรามาทบทวนคินเดิลก่อน เครื่องคินเดิลจะทนทาน เสถียรมาก ใช้ระบบปฏิบัติการเฉพาะสำหรับคินเดิล สามารถเชื่อมต่อได้ดีกับร้านหนังสือแอมาซอนที่มีหนังสือทั่วทุกมุมโลก ทุกภาษา ส่งมาให้คุณเพียง 10 วินาทีหลังสั่งซื้อ แถมระบบจ่ายเงินก็ง่ายและปลอดภัยมาก (one click system) ข้อเสียคือ แทบไม่มีหนังสือไทย
ทำให้คนที่ต้องการอ่านหนังสือไทยจากร้านต่าง ๆ เช่น meb, ookbee, hytexts, naiin, TK park ต้องหาทางเลือกอื่น นั่นคือเครื่องอ่านอีบุ๊กระบบแอนดรอยด์ ที่สามารถลงแอปอ่านหนังสือไทยได้ แม้แต่จะลงแอปคินเดิลสำหรับอ่านหนังสือของแอมาซอนก็ได้
เครื่องจะคล้ายแทบเล็ต แต่จะใช้จอแบบ e-ink (electronic ink) ที่ไม่แสบตา ไม่มีแสงพุ่งเข้าหาตาเราเหมือนแทบเล็ตหรือไอแพด แต่ให้ความรู้สึกเหมือนหมึกพิมพ์ ที่อ่านได้แม้ในที่สว่างจ้า และเปลืองพลังงานน้อยมาก อ่านได้ทนอ่านได้นาน ไม่แสบตา หากอ่านในที่มืดจะมีไฟสว่างแบบไม่แสบตาด้วย
แต่ด้วยความที่ e-ink มันไม่เหมือนจอของเหลว LCD ทำให้การตอบสนองมันไม่ไว จะมาลาก ปัด ย่อ หุบ แบบเร็วลื่นคงไม่ได้ ต้องเข้าใจสภาพของมัน ซึ่งเหมาะกับการอ่านหนังสือมากกว่าเล่นแอป
เมื่อเป็นแอนดรอยด์เวอร์ชั่นใหม่ จึงสามารถดาวน์โหลดแอปอีบุ๊กไทยมาลง และเลือกซื้อ เลือกอ่านจากแอปได้เลย แม้จะช้ากว่าแทบเล็ตและไอแพดแต่อ่านหนังสือได้ดีแน่นอน ภาพชัดเจนเพราะหนังสือมันขาวดำ หรือในหน้าสีก็มีการไล่โทนสีเทาดำให้ ส่วนอีบุ๊กแบบสี มันสีไม่จัดจ้านเลยและการตอบสนองต่ำ เรียกว่าพออ่านได้ ไม่ดีเท่าไอแพดครับ ผมใช้ทั้ง meb , ookbee, hytexts, tk park ใช้ได้ดีหมดครับ และพวกนี้จะมีเวอร์ชั่นอีบุ๊กให้ด้วย เวลาใช้งานกับเครื่องอีบุ๊กจะดีมาก
หรือจะวางไฟล์อีบุ๊กนามสกุลต่าง ๆ เช่น epub, mobi, doc, txt ก็สามารถอ่านได้เลย เครื่องมีแอปสำหรับอ่านอีบุ๊กทุกตัวมาให้อยู่แล้ว ...อ้าวแล้วไฟล์ pdf ล่ะ หนังสือไทยส่วนมากก็เป็น pdf หรือตำราทางการแพทย์ที่เรามีแบบ เอ่อ แบบ แบบนั้นน่ะ ส่วนมากก็ pdf จะอ่านได้ไหม
ต้องบอกว่าเครื่องที่เหมาะกับการอ่าน pdf จะเป็นเครื่องขนาด 10 นิ้วขึ้นไป จะได้ไม่ต้องเลื่อนมาอ่านทีละส่วน ซึ่งเลื่อนช้ามากนะครับ เพราะ pdf มันเปลี่ยนขนาดอักษร จัดหน้า ตัดคำตามขนาดหน้าและขนาดอักษรไม่ได้ เอกสารเอสี่ pdf จึงเหมาะกับอีบุ๊กขนาดสิบนิ้วขึ้นไป ซึ่งจะหนัก เทอะทะ พกพายาก และราคาตั้งแต่ 13,000 บาทขึ้นไป ส่วนไฟล์อีบุ๊กแบบอื่นไม่มีปัญหา เพราะสามารถลดขนาดอักษร ปรับหน้า ตัดคำ ตัดบรรทัดได้แล้วแต่เราจะปรับครับ
นอกเหนือจากนี้ เครื่องอีบุ๊กยุคใหม่ยังสามารถใช้แอปหนังสือเสียงได้ด้วย เช่น audible, storytel โดยมีปลั๊กหูฟังหรือเชื่อมต่อหูฟังบลูทูธได้ แนะนำเครื่องที่สเป๊คสูงหน่อยเช่น แรม 3 gB แต่จริง ๆ ควรฟังจากโทรศัพท์มากกว่าครับ เมื่อมีบลูทูธก็สามารถถ่ายโอนไฟล์ทางบลูทูธได้ด้วย ส่วนการอ่านในแอปจะใช้ WiFi ครับ และโหลดหนังสือที่จะอ่าน มาอ่านผ่านแอปแบบออฟไลน์ได้
ถามว่าจะจุหนังสือได้มากไหม บอกเลยว่าถ้านิยายมาตรฐานก็เป็นพันเล่มครับ ส่วนเรื่องแบต ถ้าไม่ออนไลน์บ่อย ก็ชาร์จทุก ๆ 10-15 วันได้เลย บางยี่ห้อซื้อไมโครเอสดีการ์ดได้อีก จุกันเข้าไป และเชื่อมต่อพื้นที่จัดเก็บแบบ cloud ผ่านทางไวไฟได้ด้วย
มีให้เลือกทั้งขนาด 6,7,7.8,9,10,มากกว่า 10 นิ้ว ราคาก็สูงตามขนาดจอ แบบประหยัดก็ 3000-4000 บาท แบบมาตรฐานก็ 9000-12000 จอใหญ่ก็ 15000-50000 ยี่ห้อที่วางขายในไทยแบบมีตัวแทนมี boox, meebook (likebook เดิม) สามารถไปจับตัวจริงได้ที่ร้านบีทูเอส และสามารถซื้อออนไลน์ผ่านตัวแทนจำหน่าย hytexts, ereader ok ได้ครับ ส่วนคินเดิลสามารถซื้อผ่านแอมาซอนสโตร์ หรือที่บีทูเอส หรือ hytexts, EreaderOK ก็ได้ มีฟิล์มกันรอย เคส ซอง เครื่องจับอ่าน อุปกรณ์เปลี่ยนหน้าแบบบลูทูธ ให้เลือกใช้เป็นอุปกรณ์เสริมด้วย
ส่วนตัวผมมี
▪ Kindle PaperWhite ขนาด 6 นิ้ว เอาไว้อ่านหนังสืออังกฤษและตำรา ขอบอกว่าหนังสือลดราคาเยอะมาก บ่อยมาก บางทีปกดัง ๆ 60-100 บาทเอง
▪ Boox N96CML ขนาด 10 นิ้ว อันนี้มี SD card เอาไว้อ่านเปเปอร์ pdf ทั้งหลาย โหลดมาในนี้หมด SD card ขนาด 128 gB มีวารสาร ตำราเพียบ แต่เป็นแอนดรอยด์ 4.0 เชื่อมต่อลงแอปอะไรไม่ได้แล้ว
▪ boox Leaf ขนาด 7 นิ้ว เอาไว้อ่านหนังสือไทย แอปหนังสือไทย , epub ไทยและเทศ พกง่ายดี จุ 32 gB รุ่นใหม่สุด
สามอันนี้รักมากกว่า PS5 + Xbox Series S + Nintendo Switch ที่นอนเฝ้าห้อง อีกนะครับ
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
เล่าเรื่องเชื้อดื้อยา มนุษย์เราได้มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาตั้งแต่ยุคของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังต้องพัฒนาต่อไป เพร...
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...