การจัดการความเสี่ยงโรคหัวใจสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ตอนที่สอง ยา SGLT2 inhibitors
✔✔ยา SGLT2i สามารถลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยรวมประมาณ 15% เมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐาน ลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมลงประมาณ 12-15% ซึ่งก็มาจากการลดโรคหัวใจนี่เอง ยาชนิดนี้จะมีประโยชน์จากยาพอกันในทุกตัวในกลุ่ม เรียกว่า มี class benefit แต่จะมีรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยที่ต่างกัน ต่างกันเนื่องจาก ***การศึกษาที่แตกต่างกันในยาแต่ละตัว***
1. สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหรือโรคหัวใจ ข้อสรุปจากทุกการศึกษาชัดเจนว่า การใช้ยา SGLT2i นอกจากลดน้ำตาลแล้ว โอกาสการเกิดโรคหัวใจจะลดลงอย่างชัดเจน ตรงกันทุกตัวยา ทุกการศึกษา โดยสามารถใช้ยา SGLT2i ร่วมกับการรักษาหลักที่มีอยู่ได้เลย
2. สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความเสี่ยงการเกิดไตเสื่อม ข้อสรุปโดยตรงที่ตั้งใจศึกษาการลดความเสี่ยงโรคไต มาจากการศึกษาชื่อ CREDENCE จากยา canagliflozin พบว่าลดโอกาสที่จะเกิดไตเสื่อมไปกว่าเดิม ส่วนยาตัวอื่นก็สามารถลดการเกิดโรคไตจากเบาหวานลงได้เช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ศึกษาตรง ๆ แบบยา canagliflozin
🔷️แต่ก็สามารถใช้ยากลุ่มนี้ได้ทุกตัว ในผู้ป่วยเบาหวานที่เสี่ยงเกิดโรคไต เช่น เริ่มมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ค่าการทำงานของไตเริ่มเสื่อม โดยสามารถใช้ยาได้แม้ไตเสื่อม แต่ทว่าไม่มีข้อมูลการศึกษาหากไตเสื่อมมาก จึงไม่แนะนำให้ใช้หากค่า GFR ต่ำกว่า 45 (เว้นยา canagliflozin ที่รับได้ถึง GFR ต่ำกว่า 30)
3. สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ในภาพรวมยาทุกตัวในกลุ่มสามารถลดการเกิดหัวใจล้มเหลวทั้งเกิดใหม่หรือเกิดซ้ำ (ในผู้ป่วยโรคหัวใจ) แต่ข้อมูลก็ไม่ได้มาจากการศึกษาตรง ๆ มาจากการเก็บข้อมูลโรคหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย จนเมื่อไม่นานมีการศึกษาชื่อ DAPA-HF ที่ตั้งใจศึกษาว่า ยา dapagliflozin จะลดการเกิดโรคหัวใจวายซ้ำหรือไม่ นำผู้ป่วยหัวใจวายมาทำการศึกษาเลย ปรากฏว่าสามารถลดอัตราการเกิดหัวใจวายซ้ำ ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาหัวใจวายไปมากมาย ที่สำคัญคือ
*** ไม่ว่าผู้ป่วยหัวใจวายนั้นจะเป็นเบาหวานหรือไม่ก็ตาม ***
ทำให้ยา dapagliflozin ได้รับอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยหัวใจวาย เป็นยาโรคหัวใจ นอกเหนือจากยาเบาหวานอีกด้วย
🔷️โดยรวมสามารถใช้ได้ทุกตัวในกลุ่ม แต่ถ้าจะเพื่อโรคหัวใจล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานหรือไม่ก็ต้องใช้ dapagliflozin ตามการศึกษาที่ทำออกมา
4. กล่าวโดยสรุป หากเป็นเบาหวานและมีโรคหลอดเลือด หรือมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือด หรือความเสี่ยงโรคไตจากเบาหวาน หรือเป็นโรคไตจากเบาหวาน แนะนำให้ใช้ยา gliflozin เพื่อช่วยลดความเสี่ยงเพิ่มจากการปฏิบัติตัวและการใช้ยาเดิม โดยใช้ยาเพียงขนาดเดียวไม่จำเป็นต้องปรับขนาดขึ้น การปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นจะไม่ได้ลดความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่จะลดน้ำตาลมากขึ้น
5. สิ่งที่ต้องระวังคือ ผลข้างเคียงจากยาที่มีไม่น้อย ที่พบร่วมกันเกือบทุกตัวคือ
▪การติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และท่อปัสสาวะ โดยเฉพาะเชื้อรา
▪การเกิดเลือดเป็นกรด diabetic ketoacidosis และเป็นภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวานที่น้ำตาลมักไม่สูง
▪ภาวะขาดน้ำ หากมีการสูญเสียน้ำหรือเสียเลือด และแนะนำให้งดยานี้ก่อนผ่าตัดด้วย
6. ส่วนเรื่องการถูกตัดนิ้วหรือตัดเท้าพบน้อยและจากการศึกษาจะพบในยา canagliflozin ชัดเจนกว่าตัวอื่น (แต่ก็นับว่าไม่มาก)
7. สมาคมแพทย์โรคหัวใจยุโรปและสมาคมแพทย์โรคเบาหวานยุโรปได้รับรองให้ใช้ยา gliflozin เป็นยาตัวแรกไม่จำเป็นต้องใช้ metformin ก่อน แต่ฝั่งอเมริกายังไม่เห็นด้วย ฝั่งอเมริกาให้ใช้ metformin ก่อน หรือควบคู่กับ gliflozin สำหรับในไทยยังแนะนำ metformin ก่อนนะครับ สำหรับเรื่องนี้มีการถกเถียงกันมาก แล้วแต่มุมมองของหมอแต่ละคน ไว้ว่าง ๆ จะมาเขียนมุมมองของผมบ้าง
ยังไม่จบ อย่าลืมติดตามตอนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น