19 มกราคม 2563

เทคโนโลยี

สวัสดีทุกท่าน ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผมมีกิจกรรมมากมาย จึงห่างหายไปจากหน้าเพจนี้ไปหน่อย มาเล่าให้ฟังนะครับ
มีโอกาสได้ใช้และเห็น VR ที่เป็นเกม ซอฟต์แวร์หาคู่และเซ็กซ์ ไม่ต้องถามหาวาร์ปเด้อครับ บอกแค่เหมือนจริง มันพัฒนาไปไกลมาก ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เขาบอกว่ามีมหาวิทยาลัยในอเมริกา ได้ทดลองทำหลักสูตรทางการแพทย์ด้วย ไม่ว่าทักษะทางการผ่าตัด ทำคลอด หัตถการ และในอนาคตจะมีการฝึกแพทย์โดยจำลองสถานการณ์คนไข้โดยการใช้ AI ด้วย
คนในวงการเขามองว่า AI จะมาช่วยเราได้อย่างไร ไม่ใช่จะมาแย่งงานได้อย่างไร นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (คนนี้ระดับหัวหน้าวิศวกร) เขาบอกว่าคนที่คิดว่าจะมาแย่งงาน คือคนที่ไม่ปรับตัวและไม่ประยุกต์ใช้ต่างหาก เขาบอกว่าหุ่นยนต์หรือเอไอ ทำงานได้หลายอย่างจริง แต่มันไม่มีทางยึดอำนาจหรือมาแย่งงานคน เหมือนอย่างในหนังได้ เพราะโค้ดในการควบคุมมันจำกัด ดังนั้นเราควรเรียนรู้และเข้าใจเอาไว้บ้างนะครับ
ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทขายและจัดการหนังสือ เขาบอกว่าธุรกิจหนังสือยังไปได้ ทั้งหนังสือเล่มและอีบุ๊ก ผู้บริโภคยังซื้อหนังสือและผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตกำลังปรับตัวหาแหล่งใหม่ ๆ ของข้อมูล เพื่อมาให้ตลาดผู้บริโภค
ผู้เขียน ผู้พิมพ์จำหน่ายในไทยยังพออยู่ได้ ตลาดที่กำลังขยายคือหนังสือแปลจากต่างประเทศ เป็นข่าวที่น่าท้าทาย เพราะเรากำลังจะมีหนังสือดี ๆ แปลไทยมาอ่าน
สำหรับตำราแพทย์ เริ่มมีคนที่ทำพาร์ทเน่อร์การค้ากับบริษัทตำราในต่างประเทศที่ถูกลิขสิทธิ์ เข้ามาจำหน่ายในบ้านเรามากขึ้น เนื่องจากการจัดส่งและการโฆษณามันง่ายขึ้น เข้าถึงผู้อ่านได้มากขึ้น ก็จะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ สมัยก่อนผมอยากอ่านแทบตาย แต่ไม่มีหนังสือ ยอมรับว่าเคยใช้หนังสือถ่ายเอกสาร เพื่อนแพทย์จากต่างประเทศมาเห็นเข้าแล้วแปลกใจ และบอกผมตรง ๆ ว่ามันผิด ตั้งแต่นั้นก็เลิกใช้เลย
เพื่อนจากต่างแดนมาเที่ยวเมืองไทย (แต่เขาไปภาคใต้ เราจึงไม่ได้มีโอกาสเจอกัน) เขาเป็นคนในวงการการศึกษาแพทย์ของต่างแดน ช่วยอัพเดตข้อมูลและส่งแหล่งข้อมูลมาให้บ่อย ๆ เขาบอกว่า
ในอนาคต การศึกษาและการประชุมวิชาการ จะเข้าสู่โลกดิจิตอลมากขึ้น เพื่อทลายกำแพงเรื่องระยะทาง เวลา และเงินทุน จะมีการจับมือกันของหลายหน่วยงาน แน่นอนแม้จะมีประโยชน์ทางธุรกิจด้วย แต่จะทำให้ข้อมูลเหล่านี้ส่งออกไปสู่สาธารณะมากขึ้น ไม่ใข่แค่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ แต่ออกไปสู่ทุกคน และทุกคนสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้ได้ทั้งสิ้น
ข่าวดีคือ เราสามารถเรียนรู้แบบไม่จำกัด ข้อเสียคือ เราต้องมีวิจารณญาณ และต้องรู้เท่าทัน
สองปีมานี้ ผมติดตามงานประชุมใหญ่ ๆ ระดับโลกผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต เสียเงินค่าเน็ตเพิ่ม บางอย่างก็เสียค่า pay per view ถ้าไม่ได้ลงทะเบียนทั้งงาน เพื่อนคนนั้นบอกว่า อีกไม่นานผู้ให้บริการวารสารและสื่อทางการแพทย์จะเพิ่มช่องทางมากขึ้น เราไม่ต้องสมัครสมาชิกรายปีแบบผูกขาดก็ได้ จ่ายแบบออนดีมานด์ หรือสะสมแต้มเงิน หรือจ่ายเป็นอีเว้นต์ก็ได้
มีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนผู้ประกอบการรายหนึ่ง บอกว่าอนาคตน่าจะมีการให้ข้อมูลทางการแพทย์แบบย่อยง่าย ส่งตรง เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการข้อมูลมากขึ้น สงครามการค้าข้อมูลกำลังจะกลายเป็นสินค้าหลัก
เมื่อข้อมูลต่าง ๆ ออกมามากมายและเข้าถึง ปัญหาของการเลือกหา จัดส่ง จึงต้องถูกจัดการ ใครจัดการข้อมูลได้ดีและเร็ว จะคว้าโอกาสนั้นไป น่าสนใจทีเดียว
แต่ที่ตอนนี้ไม่ค่อยอยากคุยเท่าไร คือ....กรมสรรพากร ครับ
ท่าทางผู้ชายคนนี้จะรักการอ่านมาก..(อีกแล้ว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม