อาการแสดงทางการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดอันหนึ่ง นิ้วปุ้ม (clubbing of finger) นานมากแล้วคุณหมอผู้เป็นบิดาแห่งการแพทย์เป็นคนแรกที่บรรยายลักษณะของนิ้วปุ้มเป็นคนแรก ในผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง..ผู้นั่นคือ Hippocrates
Clubbing น่าจะมาจาก club ที่แปลว่าไม้ตะบองที่มือจับเล็กๆแต่ส่วนปลายที่ใช้ตีนั้นขยายใหญ่ หรือมีลักษณะเป็นไม้กลอง ตรงกับรูปของนิ้วที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า นิ้วปุ้ม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและลักษณะชองนิ้วปุ้มนั้น ก็จะเริ่มจากมีความผิดปกติที่ยังมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่ถ้าไปตรวจก็จะเริ่มมีหลอดเลือดฝอยบริเวณโคนเล็บเพิ่มปริมาณขึ้น เริ่มมีสารกระตุ้นการเจริญเติบโตที่ผิดปกติมาอยู่บริเวณนี้ จำเจ้าสารนี้ไว้นะครับ เดี๋ยวจะมาพูดถึงสารนี้อีกครั้ง
ระยะต่อมา ก็จะเริ่มมีการหนาตัวที่บริเวณโคนเล็บ ตอนนี้ให้คุณยกนิ้วขึ้นมาในระดับสายตานะครับ จะเห็นมุมระหว่างเนื้อโคนเล็บกับเล็บ ทำมุมไม่เกิน 165 องศา เรียกมุมนี้ว่า Lovibond angle ถ้าเนื้อส่วนโคนเล็บมากขึ้นองศาจะมากขึ้นมากกว่า 165 หรืออาจเลย 180 องศาได้ ลองดูในภาพประกอบนะครับ
แต่การวัดมุมทำได้ยากครับ อีกวิธีที่ใช้ตรวจสอบนิ้วปุ้มระยะแรกๆคือการตรวจที่เรียกว่า Schamroth’s sign เหมือนเดิมครับ ยกนิ้วขึ้นมาให้เล็บชนกัน ยกนิ้วนางสองข้างมาชนกันก็ได้ อย่ายกนิ้วกลางนะ จะเห็นช่องว่างเล็กๆรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่เรียกว่า Schamroth’s window ถ้าเนื้อโคนเล็บนูนขึ้น ช่องว่างนี้ก็จะหายไปครับ
ระยะต่อมาก็จะเริ่มมองเห็นชัดและถ้าไปคลำและกดบริเวณโคนเล็บก็จะพบว่านุ่มๆ หยุ่นๆ และเมื่อต่อไปก็จะปุ้มเต็มพิกัดครับ ดังภาพ ไม้ต้องตรวจมากมายใช้ตามองเท่านั้น
นิ้วปุ้มนี้สัมพันธํกับภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง ส่วนใหญ่ก็จะเกิดในโรคปอดเรื้อรัง เช่น มะเร็งปอด ฝีในปอด โพรงหนองในเยื่อหุ้มปอด หลอดลมขยายเรื้อรัง ***แต่จะไม่พบในโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพองนะครับ** ถ้าพบก็จะมีโรคอื่นๆร่วมด้วย คุณฮิบโปเครตีสเป็นคนที่บรรยายนิ้วปุ้มคนแรกเมื่อหลายพันปีก่อน ก็บรรยายจาก หนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด (empyema thoracis) นี่แหละครับ
อีกภาวะที่เกิดนิ้วปุ้มได้บ่อยๆ คือ โรคหัวใจที่มีภาวะเขียวซึ่งมักเป็นมาแต่กำเนิดครับ คุณ Leo Schamroth ที่บรรยาย Schamroth’s sign ดังกล่าวก็เป็นแพทย์โรคหัวใจ มาจากโรคหัวใจครับ ส่วนภาวะไทรอยด์เป็นพิษ thyroid acropachy, หลอดเลือดผิดปกติ, ลำไส้อักเสบ ก็พบนิ้วปุ้มได้บ้าง ประปรายๆ นะครับ
Clubbing เป็นแค่อาการนำพาไปสู่การวินิจฉัยโรคที่แท้จริง ส่วนตัวนิ้วที่ปุ้มนั้น ก็จะไม่คืนสภาพเดิมครับ แต่ก็ไม่ได้มีอันตรายแทรกซ้อนแต่อย่างใด ไม่มียาหรือการผ่าตัดรักษานิ้วปุ้มนะครับ
ปล. อาการนี้ใช้ไม่ได้กับเฉพาะ..คนชื่อ”ปุ้ม” เท่านั้น เพราะไปตรวจไม่ว่าอย่างไรเขาก็จะ นิ้วปุ้ม เสมอ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น