ใส่สายหลอดเลือดดำใหญ่..ต่างจากแทงเส้นน้ำเกลือที่แขนไหม
การดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยหนักในไอซียูนั้น บางครั้งผู้ป่วยต้องใช้ยาและสารน้ำหลายอย่าง ก็จะต้องให้น้ำเกลือหลายสาย บางครั้งก็ต้องเอามาเชื่อมต่อกัน ถ้าสารละลายต่างๆนั้นเชื่อมต่อกันได้ แต่ในบางครั้งก็ถึงขีดจำกัดของหลอดเลือดดำส่วนปลาย ก็จะต้องมาใส่หลอดเลือดดำส่วนกลางครับ
หลอดเลือดดำส่วนกลางจะมีขนาดใหญ่ เลือดไหลเวียนเร็ว สามารถรับความเข้มข้นของยาหรือสารน้ำ สารอาหารต่างๆได้อย่างมากมาย โดยทั่วไป เส้นเลือดส่วนปลายจะสามารถรับความเข้มข้นได้ประมาณสามเท่าของความเข้มข้นเลือด ยาบางอย่างเช่น เคมีบำบัด สารอาหารทางหลอดเลือดดำ มีความเข้มข้นมากกว่าเลือด 4-4.5 เท่า ถ้าให้ทางหลอดเลือดส่วนปลายไปตลอด ก็จะเกิดผนังหลอดเลือดเสียหาย แข็ง แตก ใช้ไม่ได้ ก็ต้องใช้หลอดเลือดส่วนกลาง
นอกจากนี้ หัตถการบางอย่างก็ต้องใช้หลอดเลือดส่วนกลาง เช่น การใส่สายเพื่อฟอกเลือด ใส่สายเพื่อวัดแรงดันหัวใจ ใส่สายเพื่อใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือหลอดเลือดส่วนปลายไม่มีแล้ว ในผู้ป่วยอ้วนมากๆ หรืออายุมากๆ บางครั้งหลอดเลือดส่วนปลายจะเสื่อมหรือไม่แข็งแรง
หลอดเลือดที่นิยมมีสามที่ คือที่ขาหนีบ (femoral vein), ที่ไหปลาร้า (subclavian vein), ที่ต้นคอด้านหน้า (internal jugular vein) แต่ละจุดมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน และหมอผู้ใส่สายก็จะมีความชำนาญไม่เหมือนกัน
ที่ขาหนีบ หลอดเลือดจะอยู่ตื้น ขนาดใหญ่ ใส่ง่าย ถ้าเลือดออกจะสามารถกดหยุดได้ง่าย แต่ว่าก็จะปนเปื้อนง่าย อายุการใช้งานสั้น
ที่ไหปลาร้า ตำแหน่งนี้จะไม่รำคาญ ใช้ได้นาน แต่ว่าใส่ยากกว่าโอกาสทะลุเข้าปอด เกิดลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดได้ กดหยุดเลือดลำบาก
ที่ต้นคอด้านหน้า หลอดเลือดอยู่ตื้น ใส่ง่าย กดหยุดเลือดง่าย ไม่ค่อยมีความแปรปรวนมากนัก แต่ว่าโอกาสหลุดง่ายมาก และผู้ป่วยรำคาญ
ส่วนตัวผมถ้าใส่เพื่อให้สารละลายจะใช้ที่ไหปลาร้าครับ หรือใส่เป็น port a cath คือ ที่ฉีดยาฝังอกเลย แต่ถ้าจะวัดค่าต่างๆจะใส่ที่ต้นคอครับ มันจะตรงเข้าหัวใจ และใส่ง่ายใช้เวลาน้อยในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน การใส่อาจจะใส่โดยใช้อัลตร้าซาวนด์ช่วย อันนี้โอกาสใส่เข้าจะเพิ่มขึ้น มีการศึกษามายืนยันแล้ว อีกวิธีคือ ใส่โดยใช้ตำแหน่งต่างๆของร่างกายช่วยบ่งบอก เช่น ใส่ที่ไหปลาร้า ก็จะใส่ที่จุดกึ่งกลางไหปลาร้า ชี้เข็มเข้ากลางตัว เฉียงบนเล็กน้อย อันนี้ก็แม่นยำดีสำหรับผู้มีประสบการณ์
ข้อห้ามจริงๆในการใส่คือมีการติดเชื้อบริเวณผิวหนังตรงนั้น การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ แต่ที่อยากให้คิดจริงๆ คือ มีข้อบ่งชี้จริงๆหรือไม่ และควรถอดออกเมื่อหมดข้อบ่งชี้ เพราะจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในกระแสเลือดครับ
วิธีใส่..จะบอกคร่าวๆ คือ จัดท่าให้ถูก ทายาฆ่าเชื้อ ปูผ้าสะอาด ฉีดยาชาตรงจุดที่จะแทงเส้น หลังจากนั้นจะใช้เข็มกลวงเบอร์ 12 หรือ 14 ยิ่งเบอร์เล็กจะยิ่งมีขนาดใหญ่ สอดผ่านผิวหนังและเนื้อเยื่อเข้าไปที่หลอดเลือดนั้น หลังจากนั้น ใส่เส้นลวดปลายงอที่โค้งได้ เป็นเส้นลวดตัวนำทาง เข้าไปในหลอดเลือด หลังจากนั้นถอดเข็มกลวงออก เหลือแต่ลวดตัวนำ ต่อจากนั้นก็ใส่พลาสติกถ่างขยาย เพื่อเปิดทางให้เป็นโพรงเล็กๆ จากผิวหนังไปสู่หลอดเลือด คราวนี้ก็ถึงเวลาเอาสายสวนจริงๆสอดเข้าไปทางลวดตัวนำ จนถึงตำแหน่งที่ต้องการ ปลายสายอยู่ในหลอดเลือด แล้วเอาลวดตัวนำออก เย็บสายสวนติดกับผิวหนัง กันหลุด ปิดแผลก็เป็นอันเสร็จพิธี
คราวนี้ก็จะต่อสายน้ำเกลือ ยา สารอาหาร เข้าทางนี้ครับ แต่ละวันต้องตรวจว่าเลือดซึมหรือไม่ ติดเชื้อหรือไม่...และหมดข้อบ่งชี้หรือยัง ถ้าหมดข้อบ่งชี้การใช้ก็เอาออกครับ เอาออกนี่ง่ายมาก ตัดไหมและดูดเลือดออกทางสายเล็กน้อยพร้อมๆกับดึงออก เพื่อกันลิ่มเลือดที่อยู่ปลายสายจะหลุดไปอุดตามที่ต่างๆ กดไว้สักครู่ และปิดแผลได้เลย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น