รำลึกถึงพ่อหลวง..โรคเรื้อน สิ่งที่พระองค์ช่วยคนไทย
"...พระราชทานพระราชทรัพย์จากทุนอานันทมหิดล เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างอาคารวิจัยและฝึกอบรมวิชาโรคเรื้อน 1,236,000 บาท และเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2501 พระราชทานนามว่า "สถาบันราชประชาสมาสัย” ..."
บทความตอนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ นพ.โสภณ เมฆธน ใน Hfocus.org เรื่องพระมหากรุณาธิคุณในการริเริ่มการกำจัดโรคเรื้อนในประเทศไทย จนปัจจุบันโรคเรื้อนแทบจะสูญหายไปจากคนไทย มาทำความรู้จักโรคเรื้อนกันนะครับ
โรคเรื้อนมีมานานมากนะครับ มีมาเป็นพันๆปีก่อนคริสตศักราช มีหลักฐานครั้งแรกจากกระดูกมนุษย์และบันทึกจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ต่อไปถุงดินแดนเอเชียไมเนอร์และอิสราเอล การระบาดของโรคเรื้อนเริ่มมีมากตั้งแต่ยุคกลางที่ผู้คนเริ่มไปมาหาสู่กัน โรคเรื้อนระบาดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยและเชื่อว่าแหล่งสะสมอีกแหล่งหนึ่งของเชื้ออยู่ที่เยื่อบุโพรงจมูก และติดต่อทางหยดสารคัดหลั่งน้ำมูกน้ำลาย จนคนในสมัยก่อนจะนำผู้ป่วยโรคเรื้อนไปอยู่รวมกันเพื่อควบคุมการระบาด ไม่ให้แพร่ออกนอกนิคมโรคเรื้อน
การค้นพบสาเหตุเพิ่งมาพบในปี 1873 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวนอร์เวย์ชื่อ H.Armauer Hansen จึงเรียกชื่อโรคนี้ว่า Hansen disease ตามชื่อผู้ค้นพบโรค เชื้อโรคนั้นเป็นเชื้อญาติของวัณโรค มีความสามารถในการก่อโรคเรื้อรัง อยู่อาศัยได้นานในดินและน้ำตามธรรมชาติ เรียกว่า Mycobacterium leprae ส่วนวัณโรคคือ Mycobacterium tuberculosis สมัยก่อนใช้ปรอทในการรักษาผู้ป่วยซึ่งแปลงมาจากการรักษาซิฟิลิส นำมาสู่การพัฒนายาตัวที่เกิดประโยชน์ในการรักษาอย่างแพร่หลาย คือ ยา dapsone เพิ่งมีเพิ่งใช้ในปี 1950 หรือ ปี พ.ศ.2493 ในยุคสมัยของในหลวงรัชกาลที่เก้านั่นเองครับ
อาการของโรคเรื้อน ขึ้นกับจุดที่เชื้อไปสร้างอาณานิคมตัวเอง ก่อเกิดเป็นการอักเสบเรื้อรังเรียกว่า granulomatous ร่างกายก็มาทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังไปเรื่อยๆ ยื้อกันไปยื้อกันมา เชื้อก็ไม่ตายสักที ภูมิคุ้นกันก็ไม่ชนะซะที ขยายเขตสงครามไปเรื่อยๆจนเกิดอาการ ที่คลาสสิคคือ อาการที่ผิวหนัง จะเป็นปื้นสีจางกว่าผิวหนังปกติ หนา และลักษณะที่สำคัญคือจะไม่มีความรู้สึกตรงผื่นผิวหนังนั้น เนื่องจากเส้นประสาทรับความรู้สึกถูกทำลายไป อาการคลาสสิคอย่างที่สองคือ จะพบเส้นประสาทหนาขึ้น จนคลำได้ ปกติเราจะคลำเส้นประสาทไม่ได้เลยครับ เส้นประสาทที่จะคลำได้ชัดเพราะอยู่ตื้นมากคือ ulnar nerve ที่อยู่ตรงข้อศอกครับ อาการคลาสสิคอย่างที่สามคือเชื้อไปอยู่ที่เยื่อบุโพรงจมูก ก็จะลุกลามกินกระดูกอ่อนและผิวหนังบริเวณจมูก ข้างจมูก โหนกแก้ม จนออกไปทางหน้าแบนๆ หนังหนา คล้ายสิงโต (leonine facies)
การทำงานของเส้นประสาทจะเสียไปด้วย การวินิจฉัยได้จากประวัติสัมผัสโรค การตรวจดูผื่นและการทำงานของเส้นประสาท สุดท้ายต้องเอาเนื้อเยื่อตรงที่มีอาการไปย้อมดูเชื้อ และเพาะเชื้อครับ เชื้อมักจะอยู่ในบริเวณขอบขัณฑสีมาของร่างกาย เช่นใบหู ปลายจมูก มีสมมติฐานว่า มันชอบความเย็น เราจึงตัดผิวหนังบางส่วนไปย้อมสี ที่เรียกว่า slit skin smear test จะพบติดสีทนกรด (acidfast bacilli) ผิวหนังส่วนที่เป็นก็จะไม่มีความรู้สึก เราจึงพบว่าด้านชาและเป็ยแผล ถูกเสียดสีจนมือกุด เท้ากุด นั่นเอง เส้นประสาทที่ติดเชื้อก็พิการ พบมือหงิกงอ ผิดรูป ขยับไม่ได้ และ ด้านชา
การรักษาผมจะพูดคร่าวๆ ในชีวิตจริงเคยเจอแค่สามราย วิ่งไปเปิดหนังสือทุกรายเพราะพบน้อย ใครเคยรักษาโรคเรื้อนมากๆนี่จะบอกอายุได้นะครับ การรักษาจะแบ่งตามจำนวนเชื้อที่พบและจำนวนพื้นที่ทีเป็น การรักษาจะใช้เวลาพอๆกับวัณโรคคือ กินยาประมาณหกเดือนครับ ปัจจุบันสูตรยาที่ใช้จะเป็นยาหลายขนานรวมกันเพื่อป้องกันการดื้อยา ประกอบด้วย dapsone, clofazimine, rifampicin แบ่งการให้เป็นกลุ่มต่างๆ ผมทำลิงค์มาให้อ่านเพิ่มเติม..ภาษาไทย..อ่านง่าย..ฟรี จากสถาบันโรคผิวหนัง และ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นแนวทางอันเดียวกันทั้งโลกเหมือนกับขององค์การอนามัยโลก ที่ต้องการควบคุมโรคนี้ให้ได้
http://thaileprosy.ddc.moph.go.th/site/documents/GuidelineforLeprosyScreening.pdf
http://58.137.211.174/news/file/12.Leprosy.pdf
หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้จัดตั้ง ราชประชาสมาสัย การพัฒนาในเรื่องการรักษาและการควบคุมโรคในประเทศก็ก้าวหน้ามากขึ้น จนประสบผลสำเร็จในการกำจัดเชื้อและโรคนี้ได้ (เรียกว่าผู้ป่วยรายใหม่น้อยมากๆ) แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการพบผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้น ในยุคโลกไร้พรมแดน มีการย้ายถิ่นฐานมากขึ้น เชื้อโรคนี้อยู่นานและถ้าอาการไม่รุนแรงก็จะไม่รู้ตัว และหมอก็วินิจฉัยยาก จึงเริ่มกลับมาพบเห็นอีกครั้ง
นอกจากนี้พระองค์ยังตั้งโรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่อำเภอพระประแดง เพื่อให้ลูกหลานผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ ได้ทำการศึกษาเล่าเรียน โรงเรียนก็ยังทำการเรียนการสอนอยู่จนถึงทุกวันนี้ ส่วนสถาบันราชประชาสมาสัยก็ยังคงสืบสานแนวทางตามพระราชดำริ อยู่จนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เข้าไปชมเว็บไซต์และศึกษาเรื่องโรคเรื้อนจากตักศิลาแห่ง leprosy ได้ที่
http://thaileprosy.ddc.moph.go.th/index1.htm
สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คุณูปการแด่วงการสาธารณสุขไทย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น