04 ธันวาคม 2558

Timeline การรักษาโรคเอดส์

Timeline การรักษาโรคเอดส์

   เนื่องจากวันที่ 1 ธันวาคม เป็นวันเอดส์โลกจึงมีเอกสารเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของการรักษาออกมาพร้อมๆกันเป็นจำนวนมาก แต่ผมเลือกบทความของ Anthony Fauci และ Hillary Marston จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ในสองสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่คือ JAMA และ NEJM

  เริ่มต้นตั้งแต่เราใช้ยาต้านไวรัสแบบ HAART คือใช้ยาหลายๆชนิดออกฤทธิ์ยับยั้งการสืบสายพันธุ์ไวรัส ตั้งแต่ประมาณปี 1990 เริ่มจากการศึกษา SMART บอกเราว่าการให้การรักษาโดยใช้ยาหลายตัวอย่างต่อเนื่องนั้นสามารถรักษาคนไข้ได้ดีกว่าการรักษาตามอาการเป็นระยะๆ และควรเริ่มรักษาเร็วจะดีกว่าปล่อยให้โรคลุกลามไปมาก พวกที่รอหรือรักษาช้าแย่กว่ากลุ่มรักษาเร็ว 160%

  หลังจากนั้นเราก็พัฒนาไปถึง การศึกษา HPTN 052 อันลือลั่นบอกเราว่านอกจากรักษาตัวคนผู้ติดเชื้อแล้ว การให้ยาเร็วและแรงยังสามารถป้องกันคู่นอน คู่แต่งงานที่ยังไม่ติดเชื้อได้อีกด้วย ป้องกันได้ 96% เราจึงก้าวไปถึงขั้นลดการระบาดได้

  หลังจากนั้นเราก็พัฒนาไปถึงขั้นให้ยาในผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการและภูมิคุ้มกันยังดีอยู่ คือการศึกษา START และ TEMPRANO ที่บอกเราว่าไม่ต้องรอให้เกิดอาการ หาคนที่ติดเชื้อมาให้การรักษา ช่วยลดอัตราตายได้ดีกว่ารอ 57 % และ อัตราการแพร่กระจายเชื้อลงได้มากๆเลย

  เอาล่ะ การก้าวกระโดดในช่วง 20ปีมานี้ มีการประมาณการณ์จาก UNAIDs และ CDC ว่าเราสามารถให้ยาคนไข้ไป 13 ล้านคนแล้ว รักษาชีวิตนับไม่ถ้วน ปี 2014-2015 ให้ยาไป 700,000 ราย เพราะเข้าถึงยา เข้าถึงการรักษา และมีกองทุนสนับสนุนมากมายโดยเฉพาะจาก บิล เกตส์ ซีอีโอไมโครซอฟต์
  แต่..แต่ว่า การดูแลยังไม่ถึงเป้า มีแค่ 30% เท่านั้นที่ได้ยาแล้วกดไวรัสได้ ที่น่าเศร้าคือกว่า 60% ของคนที่รักษาล้มเหลวกดไวรัสไม่ได้ คือคนที่เคยรักษาแล้ว แต่กินยาและรักษาไม่สม่ำเสมอ ก็จะสิ้นเปลืองงบ เปลืองยา และทำให้เกิดสายพันธุ์ดื้อยาที่เป็นปัญหาต่อไป

  องค์กรเอดส์ทั่วโลก นำโดย UNAIDS จึงประกาศมาตรการ 90-90-90 ให้สำเร็จในปี 2020 คือ 90% ของผู้ติดเชื้อต้องทราบสถานะการติดเชื้อและระยะของโรค 90%ของผู้ที่ทราบว่าติดเชื้อต้องได้รับการรักษา และ 90% ของผู้ที่ได้รับการรักษาต้องสามารถกดไวรัสได้ ต้องอาศัยความร่วมมือมากๆของทุกๆประเทศ ผมเองจะคอยดูว่าสิ้นปี 2020 จะเป็นอย่างไร
   ท้ายสุดขอกล่าวถึงความก้าวหน้าขั้นต่อไปพอให้ตื่นเต้น คือการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อและเป็นโรค การพัฒนาวัคซีนเอดส์ที่มีฐานในไทยยังได้ผลไม่ดีนัก 50-60% แต่การศึกษาล่าสุดทำในกลุ่มคนที่เสี่ยงที่สุดคือกลุ่มชายรักชาย คือ IPERGAY study เพราะยังพบอัตราการติดเชื้อและแพร่กระจายที่สูงมาก พบว่าการใช้ยา on-demand ด้วยยา tenofovir/emticirabine คือใช้เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์ (คนกลุ่มนี้ยังไม่ติดเชื้อครับ) 2 เม็ดใน24ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์ ตามด้วยอีก1เม็ดหลังมีเพศสัมพันธ์ ด้วยการป้องกันแบบนี้ลดอัตราการติดเชื้อได้ถึง 87% ก็เป็นนวัตกรรมการป้องกันเพื่อไม่ให้ติดเชื้อแบบใหม่ (ใส่ถุงยางง่ายกว่าไม๊น้า...)

  ก็จะเห็นวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ วางแผนเพื่อป้องกันและผลักดันให้เกิดประสิทธิผลขององค์กรระดับโลก ไม่ได้ใช้อารมณ์และความรู้สึกเป็นใหญ่ เหมือนบางประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม