05 ธันวาคม 2558

การตรวจสุขภาพของผู้สูงวัย

การตรวจสุขภาพของผู้สูงวัย

วันพ่อ 5 ธันวาคม มีเรื่องสบายๆบอก คิดว่าพ่อของหลายๆท่านที่อ่านเพจของผมน่าจะอายุเกิน 50 ปี ผมจึงได้คิดหาของขวัญวันพ่อมาให้พวกท่าน เป็นการตรวจคัดกรองสุขภาพที่มีหลักฐานทางการแพทย์และเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขรองรับ ว่าคุ้มค่าและไม่โอเว่อร์ครับ ข้อมูลจาก NICE guideline ของอังกฤษ ผมถือว่าเป็น guideline ที่ขี้เหนียวที่สุดในโลก, จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และ USPSTF ของอเมริกา

1. การวัดความดัน ฆาตกรเงียบตัวจริงครับ ไม่มีอาการอะไรถ้าไม่วัด

2. การตรวจฟัน ใช่ครับปัญหาสำคัญ ทำให้เคี้ยวไม่สะดวก ติดเชื้อต่างๆง่าย เชื้อโรคส่วนมากก็ติดมาจากปากและฟันที่สกปรกครับ

3. ชั่งน้ำหนัก ถูกสุดและเห็นชัดสุด ยิ่งอ้วน...จะลำบากในอนาคต

4. การตรวจร่างกายหาไฝผิดปกติ อันนี้พบมากในต่างประเทศนะครับคือ มะเร็งผิวหนังชนิด เมลาโนมา ในประเทศไทยพบไม่มาก เอ..หรือไม่ค่อยได้ตรวจ แต่ถ้ามีไฝที่โตเร็ว ไฝที่มีลูกหลานกระจายออกมา อาจต้องให้หมอเขาตัดชิ้นเนื้อไปตรวจนะครับ

5. ตรวจตาและหู การได้ยินที่บกพร่อง ต้อลมต้อเนื้อ หรือสายตาที่เสื่อมลง เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต การสื่อสารและหลายๆโรคเราก็แก้ไขได้ครับ ทำให้คุณภาพชีวิตท่านดีขึ้นมาก

6. ตรวจเลือด...หาเบาหวานครับ งดอาหารมาเจาะเลือด 6-8 ชั่วโมง ทำทุกรายได้ก็ดีครับ แต่ถ้าต้องการประหยัดงบ ผมว่าเฉพาะท่านที่เสี่ยงคือ มีประวัติเครือญาติเป็นเบาหวาน (ไม่ได้พูดถึงเบาหวานจากการตั้งครรภ์ เพราะ พ่อ..ไม่ตั้งครรภ์)
และปัจจุบันมีข้อมูลการตรวจและรักษาไขมันในเลือดสูง จึงควรตรวจคัดกรองไขมันในเลือดทั้ง 4 ชนิด cholesterol, triglyceride, LDL, HDL แล้วเอามาคำนวณความเสี่ยงตามสมการนะครับ ไม่ได้ใช้ตัวเลขตรงๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดใน 10 ปี และประเมินว่าต้องกินยา--เพื่อป้องกันก่อนเกิดเหตุหรือไม่—ตรวจเลือดนี่แค่สองตัวเอง

7. การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำใช้การส่องกล่องลำไส้ใหญ่ทุก 10 ปี หรือทำ CT-colonography แทนก็ได้ แต่ถ้างบไม่พอ ใช้การตรวจอุจจาระเพื่อหาเลือดที่ออกในลำไส้แทนได้ ตรวจปีละ 1 ครั้ง ครั้งหนึ่งตรวจ 3 วัน ต้องเป็นการตรวจหาเลือดมนุษย์ในอุจจาระนะครับ iFOBT = immunochemical fecal occult blood test

8. การตรวจทางรังสีอื่นๆ ไม่แนะนำทำทุกราย แต่ทำเมื่อเสี่ยง คือถ้าอายุ 65-75 และสูบบุหรี่จัดอาจตรวจอัลตร้าซาวนด์ท้อง คัดกรองหาหลอดเลือดแดงใหญ่ในท้องโป่งพอง ส่วนการวัดมวลกระดูกในผู้ชายยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีประโยชน์ครับ (ถ้าไม่มีความเสี่ยงใด)
9. การฉีดวัดซีน
a. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทุกปี
b. วัคซีนโรคปอดอักเสบ 13 valent conjugated vaccines เมื่ออายุ 50ปี 1 เข็ม 1 ครั้ง
c. วัคซีนรวม คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก Tdap 1 เข็ม ทุกๆ 10ปี หรือถ้าต้องฉีดเพื่อป้องกันบาดทะยักเวลามีแผล ก็ให้
ฉีด Tdap แทน บาดทะยักธรรมดา 1 เข็มในชุดการฉีด 3 เข็ม
d. ถ้า-ยังไม่มีภูมิไวรัสตับอักเสบบี ให้วัคซีนตับอักเสบบี 1 ชุด (3เข็ม) 1 ครั้ง
e. ถ้า-ยังไม่มีภูมิไวรัสตับอักเสบเอ ให้วัคซีนตับอักเสบเอ 1 ชุด (2เข็ม) 1 ครั้ง
f. วัคซีนงูสวัด เมื่ออายุมากกว่า 60 ปี 1เข็ม 1ครั้ง
g. ถ้า-ไม่เคยเป็นอีสุกอีใส หรือ ตรวจไม่พบภูมิคุ้มกัน ให้ฉีดวัคซีนโรคสุกใส 1 เข็ม 1ครั้ง

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การถ่ายภาพรังสีปอด การตรวจการทำงานของไต ไม่มีผลเชิงป้องกันแต่อย่างใด แต่อาจมีประโยชน์ในแง่เก็บเอาไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานของตัวเอง ไว้เทียบเวลาเจ็บป่วยในอนาคต โดยทั่วไปก็ไม่ได้แนะนำให้ตรวจครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม