ตรวจคัดกรองแล้วจะทำอะไรต่อ ?
อ่านเปเปอร์แล้วได้ข้อคิด เอามาบ่นให้ฟัง
หลาย ๆ คนอาจจะเคยตรวจ อาจจะเคยมีญาติพี่น้องไปทำการตรวจที่เรียกว่า การตรวจคัดกรอง คือ ตรวจก่อนเกิดโรคในตอนที่ร่างกายปกติ ยังไม่มีโรคใด
ซึ่งในความจริงแล้ว มีการตรวจไม่กี่อย่างเท่านั้นที่มีความไวมากพอที่จะแยกผู้ป่วยออกจากผู้ไม่ป่วยได้ และหลายอย่างที่เราตรวจก็ไม่ไวไม่จำเพาะ และไม่เหมาะกับการคัดกรอง ไม่ว่าจะไม่รู้ ไม่ว่าจะถูกจัดโปรแกรมให้ ไม่ว่าจะถูกบังคับจากหน่วยงาน หรือเกิดจากความเข้าใจก็ตามที
สิ่งที่เราต้องคิดเสมอก่อนที่จะตรวจคือ ตรวจแล้วจะทำอะไรต่อไป ไม่ว่าผลออกมาจะบวกหรือลบ
1.คุณอาจจะต้องตรวจต่อไปนะ เพราะการตรวจหลายอย่างยังไม่ถึงที่สุด เช่น การคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม ถ้าเจออาจจะต้องตัดชิ้นเนื้อ ถ้าไม่เจอเราจะต้องตรวจอีกครั้งเมื่อไร
2.การตรวจขั้นต่อไปอาจจะไม่ง่าย ไม่สะดวกอย่างที่ผ่านมา เพราะการตรวจคัดกรองจะเลือกวิธีที่ง่าย คัดกรองได้ดีพอควร ใช้กับคนหมู่มากได้ เช่นการตรวจกรองมะเร็งปากมดลูก หากผลออกมาเป็นบวกอาจจะต้องนัดหมอ เตรียมตัวตัดชื้นเนื้อ หยุดงาน และที่สำคัญเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น สิทธิประโยชน์ในการคัดกรองพื้นฐานที่ได้รับ อาจจะไม่ครอบคลุมในขั้นต่อไป
3.เมื่อคิดจะตรวจต้องคิดจะเปลี่ยน ถ้าตรวจแล้วก็ช่างมันก็อย่าตรวจ เช่นการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ถ้าคุณยังสูบบุหรี่อยู่แล้วไม่คิดจะเลิก อย่าไปคัดกรองเลยครับ เพราะไม่ยอมลดความเสี่ยงการเกิดโรค จะไปคัดกรองทำไม
4.เมื่อได้ผลมา ใช้ผลให้คุ้มค่า หลายคนมีสมุดตรวจสุขภาพกองโต พบว่าโลหิตจางทุกครั้งแต่ไม่เคยไม่ปรึกษาแพทย์เลย เพราะตัวเองแข็งแรงดี… โอ๊ะ ๆ ฮัลโหล อย่าลืมว่า เรา..คัด..กรอง..ใน..คน..ปรก..ติ นะครับ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคหรือวินิจฉัยให้เร็ว รักษาได้ทัน
ยกตัวอย่างดีกว่า งานวิจัยลงใน JAMA network เขาเก็บข้อมูลคนปรกติ ความเสี่ยงทั่วไป ที่เข้ารับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดในอุจจาระ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ไม่รุกล้ำ สะดวก ราคาไม่แพง มีความไวพอสมควรแต่ไม่จำเพาะ คือถ้าบวกแล้วต้องตรวจต่อไป ข้อมูลในอเมริกา (ที่การส่องกล้องมีมากพอ แต่แพง) เก็บข้อมูลก่อนโควิด จะได้ไม่ติดขัดเรื่องการเดินทางไปตรวจ พบว่าจากผู้ที่ผลการตรวจอุจจาระผิดปกติคือพบเลือด 32769 ราย มีคนไปเข้ารับการส่องกล้องเพื่อตรวจต่อเนื่องเพียง 56% ทั้ง ๆ ที่ผลตรวจผิดปกตินะ
หลายการศึกษาวิเคราะห์ผลของการตรวจอุจจาระคัดกรองมะเร็งว่าไม่ค่อยได้ผล ส่วนหนึ่งต้องมาคิดแยกคนที่ติดตามตรวจตามคำแนะนำกับคนที่ไม่เข้ารับการตรวจด้วย อย่างในงานวิจัยนี้
ไม่ได้วิเคราะห์วารสารแบบ critical appraisal แต่มาเสนอแนวคิดในอีกมุมครับ
อ่านฟรี
Mohl JT, Ciemins EL, Miller-Wilson L, Gillen A, Luo R, Colangelo F. Rates of Follow-up Colonoscopy After a Positive Stool-Based Screening Test Result for Colorectal Cancer Among Health Care Organizations in the US, 2017-2020. JAMA Netw Open. 2023;6(1):e2251384. doi:10.1001/jamanetworkopen.2022.51384
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น