15 พฤศจิกายน 2564

Oskar Minkowski ผู้ค้นพบว่าตับอ่อนเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน

 ตับอ่อน ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน

ฟังประโยคนี้ตอนนี้ก็ดูไม่แปลกอะไรนะครับ ปัจจุบันเรารู้ว่ากลุ่มเซลล์เล็ก ๆ ในตับอ่อนมีความไวต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง และปล่อยโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อว่าอินซูลิน ทำหน้าที่ช่วยเผาผลาญและเก็บน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง กลุ่มเซลล์เล็ก ๆ เราตั้งชื่อว่าเบต้าเซลล์ แล้วเรารู้ตั้งแต่เมื่อไรว่าตับอ่อนมาเกี่ยวข้องกับเบาหวาน

ย้อนกลับไปในราวปลายศตวรรษที่ 19 ยุควิคทอเรีย ถนนเรียงด้วยหิน การเดินทางด้วยรถม้า การปฏิวัติอุตสาหกรรมเบ่งบาน การค้าทาสและล่าอาณานิคม แต่ถ้าเราพูดถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ยุคนี้ถือว่าก้าวกระโดดมาก งานวิจัยและความรู้ทางการแพทย์มากมายเกิดขึ้นตอนนี้

โรคเบาหวาน มีการกล่าวถึงเรียบร้อยในสมัยปี 1880 รู้จักอาการ ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาสะมีมดตอม ผอมลง แต่ว่ายังไม่มีใครรู้ว่าเกิดได้อย่างไร แน่นอนยังไม่รู้จะรักษาอย่างไรด้วย แต่ความบังเอิญจากการศึกษาเรื่องหนึ่งก็ทำให้เกิดความรู้อีกโรคหนึ่ง ทำให้ประกายความหวังเรื่องเบาหวานเริ่มจุดขึ้น

ปี 1850-1889 สมัยที่ยุโรปยังแบ่งการปกครองเป็นอาณาจักร เชื่อมสัมพันธ์ด้วยการแต่งงานระหว่างอาณาจักร เขตแดนการปกครองไม่ชัดเจน แน่นอน ไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีวีซ่า กำแพงการศึกษาไม่มีเลย ใครอยากย้ายเมืองไปศึกษาที่ใด ทำได้สะดวกมาก เหมือนเช่นคุณหมอท่านนี้

Oskar Minkowski เกิดที่เมือง Aleksotas ปัจจุบันคือเขตแดนประเทศลิทัวเนีย ด้วยความที่ตอนนั้นลิธัวเนียยังไกลปืนเที่ยง ใครอยากเรียนก็ต้องเข้ามาศึกษาที่เวียนนา บูดาเปสต์ ฟลอเรนซ์ ปารีส เวนิส อิสตันบูล แต่คุณหมอมินคอฟสกี้ เลือกไปศึกษาที่ปรัสเซีย หนึ่งในดินแดนที่มีคนเก่งที่สุดในยุคนั้น จนจบปริญญา และย้ายไปศึกษาอีกหลายที่ จนสุดท้ายมาศึกษาและมาทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก

มหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก สมัยนั้นก็เป็นเอกอุนะครับ เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยปี พ.ศ. 2081 ใช่แล้วครับ ต้นกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงครั้งที่หนึ่ง สร้างบรรดายอดมนุษย์ของโลกมากมาย เช่น หลุยส์ ปาสเตอร์, เฟเดอริก เดเนียล ฟอน เรคกิ้งเฮาเซ่น (ใครจำได้บ้าง ชื่อโรค neurofibromatosis I), พอล ออร์ลิกช์ ผู้ค้นพบสีย้อมเนื้อเยื่อทางการแพทย์และต้นคิดยาซัลฟา

เรากลับมาที่คุณหมอมินคอฟสกี้ คุณหมอมาทำวิจัยและทำหน้าที่เป็นครู เป็นโปรเฟสเซอร์ที่มหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก ตอนนั้นคุณหมอสนใจเรื่องน้ำย่อยของตับอ่อน ตอนนั้นเราเพิ่งรู้ว่ามีเอนไซม์หลั่งจากตับอ่อน ออกมาทางท่อตับอ่อน ออกมาเปิดที่ลำไส้ เอนไซม์นี้ช่วยย่อยกรดไขมัน (ปัจจุบันเราที่เรารู้จักคือ เอนไซม์ลิเปสนั้นเอง) คุณหมอได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ในสัตว์ทดลองมากมาย ส่วนหนึ่งที่มาศึกษาที่นี่เพราะมีคุณครูที่สอนอยู่ทำวิจัยและตีพิมพ์เรื่องเอนไซม์ตับอ่อนนี้อยู่ ชื่อ Joseph von Mering

คุณหมอมินคอฟสกี้และคุณหมอแมริ่ง ทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องน้ำย่อยไขมันของตับอ่อน เราเรียกหน้าที่ แบบนี้ว่า exocrine function เพราะหลั่งสารส่งทางท่อขนส่งเฉพาะจากต้นทางไปปลายทาง ส่วนอีกหน้าที่เรียกว่า endocrine function คือ หลั่งสารออกมากโดยไม่มีท่อส่ง แต่เข้ากระแสเลือดและมีโปรตีนนำพาไป อวัยวะที่ต้องการใช้งานจะสร้างตัวรับขึ้นมาเพื่อดักจับโปรตีนที่เรียกว่า ฮอร์โมน เราเลยเรียกสาขาย่อยทางอายุรศาสตร์เกี่ยวกับฮอร์โมนต่าง ๆ ว่า endocrinology

สิ่งที่คุณหมอทั้งสองพบหลังจากตัดตับอ่อนของสุนัขไปก็มีความบกพร่องการย่อยและดูดซึมไขมันจริง แต่สิ่งอื่นที่พบคือ สุนัขมีอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก และน้ำตาลในเลือดสูง … สุนัขเป็นเบาหวาน

ค้นพบอวัยวะที่รับผิดชอบการเกิดโรคเบาหวานแล้วคือตับอ่อนนี่เอง เป็นการพบโดยคาดไม่ถึงจากการศึกษาเรื่องน้ำย่อยตับอ่อน หลังจากที่คุณหมอทั้งสองได้ลงตีพิมพ์การค้นพบนี้ ก็มีการศึกษาต่อยอดจนค้นพบว่าอินซูลินของมนุษย์หลั่งออกมาจากตับอ่อน เป็นการหลั่งแบบไร้ท่อ สมัยนี้ก็คงเรียกว่าหลั่งแบบบลูทูธ จึงจัดโรคเบาหวานเป็นโรคต่อมไร้ท่อครับ

คราวนี้ความก้าวหน้าของเบาหวานไปอย่างก้าวกระโดดเลยครับ มีการค้นพบเบต้าเซลล์ที่ตับอ่อน และมีการค้นพบและสร้างอินซูลิน ใครจำได้บ้าง คนที่พบและสังเคราะห์อินซูลินในปี 1921 … เฟดริก เบนทิง ชาวแคนาดานั่นเอง

คุณหมอมินคอฟสกี้โด่งดังอย่างมากจากการค้นพบนี้ คุณหมอได้เข้าร่วมการศึกษาเบาหวานอีกมากมาย ได้เข้าร่วมทีมรักษาบุคคลสำคัญของโลกคือ วลาดิมีร์ เลนิน อีกด้วยและต่อมาได้มีการจัดตั้งรางวัลเพื่อเป็นเกียรติให้คุณหมอมินคอฟสกี้ จัดให้โดย European Associations for the Study of Diabetes ให้กับนักค้นคว้าวิจัยความรู้ใหม่ ๆ ในสาขาวิชาโรคเบาหวาน ผู้รับรางวัลคนล่าสุดคือศาสตราจารย์ Gian Paulo Fadini จากมหาวิทยาลัยปาโดว่า อิตาลี สำหรับการค้นคว้าการรักษาเบาหวานด้วยสเต็มเซลล์

ปัจจุบันนี้ถ้าเรามีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมดีมากอยู่แล้ว และจู่ ๆ ก็ควบคุมไม่ได้ขึ้นมาโดยหาเหตุอื่นไม่พบ อาจต้องระวังโรคของตับอ่อนนะครับ โดยเฉพาะเนื้องอกตับอ่อนที่แทบจะตรวจอะไรไม่พบ แต่ถ้าโชคเข้าข้าง สังเกตอาการตรงนี้ได้ก็อาจมีหนทางแก้ไขได้ครับ

หรือผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ก็เพิ่มโอกาสการเกิดเบาหวานได้เช่นกันครับ เพราะอวัยวะต้นกำเนิดอินซูลินมันเสื่อมสลายไปมากแล้วนั่นเอง

ความรู้สนุก ๆ สำหรับวันเบาหวานโลก 14 พฤศจิกายน ครับ

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ เครา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม