01 พฤศจิกายน 2564

ข้อคิดจากงานประชุมราชวิทยาลัย ฯ "นาทีทอง" การรักษาหลอดเลือดตีบเฉียบพลัน

 ข้อคิดจากงานประชุมราชวิทยาลัย ฯ "นาทีทอง" การรักษาหลอดเลือดตีบเฉียบพลัน

เรื่องของแนวทางการรักษาหลอดเลือดแดงตีบตันเฉียบพลันทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง เรามีมานานเป็นสิบปีแล้ว จนตอนนี้การรักษานั้นได้เป็นมาตรฐานพื้นฐานของประเทศเราแล้ว ในแนวทางการรักษาใหม่ของปี 2020 2021 ได้พัฒนาในแนวทางเชิงลึก เพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนในอดีต

ผมขอย้ำเรื่องที่ประชาชนอย่างพวกเราควรรู้ควรปฏิบัติ เพื่อสานต่อเป็นเนื้อเดียวกับการรักษาทางการแพทย์

1. ความสำคัญที่สุดคือ การตระหนักรู้อาการ เมื่อมีอาการแบบนี้โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือด เช่น อายุมาก เบาหวาน ความดัน ไขมัน

ให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นโรคหลอดเลือดตีบ จนกว่าจะไปถึงโรงพยาบาลและพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่

- หลอดเลือดหัวใจ มีอาการเจ็บหน้าอกบีบแน่นรุนแรง เจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่หายไป มีอาการเป็นลมฉับพลัน

- หลอดเลือดสมอง มีอาการอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง มีอาการเดินเซใกล้จะล้ม ปากเบี้ยวมุมปากตก พูดไม่ชัด อาการทั้งหมดเป็นฉับพลัน

2. เมื่อมีอาการแล้ว สิ่งสำคัญคือ รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ย้ำว่าเร็วที่สุดที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะไปเอง หรือเข้าสู่ระบบบริการฉุกเฉิน 1669 หรือระบบฉุกเฉินของแต่ละโรงพยาบาล

เพราะแต่ละโรงพยาบาลจะมีแนวทางคัดกรองและจัดการเบื้องต้น รวมถึงประสานงานการส่งต่อที่ดี การจัดการเบื้องต้นนี้ หมายถึงการประสานงานและอาจให้ยากู้ชีวิตได้เลยที่รพ.นั้น ทำให้ไม่เสียโอกาสที่จะรักษา

3. สิทธิการรักษาฉุกเฉิน ทุกคนครอบคลุมหมด ถ้าเข้าข่ายต้องให้ยาหรือทำหัตถการเปิดหลอดเลือดว่าฉุกเฉินจริง ไม่ต้องเสียเงิน แต่หากประเมินแล้วว่าไม่เร่งด่วนขนาดนั้น ก็ให้การรักษาเบื้องต้นที่จำเป็นและส่งต่อไปสถานพยาบาลที่มีสิทธิการรักษา

4. เวลายังสำคัญที่สุด

- สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและวินิจฉัยได้ใน 10 นาทีแรกสำคัญมาก เราจึงต้องไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และหากเราไม่สามารถส่งผู้ป่วยไปทำหัตถการสวนหัวใจได้ภายใน 120 นาที (door to balloon time) ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด การให้ยาสลายลิ่มเลือดจะได้ประโยชน์กว่า ดีกว่าปล่อยเวลาเสียไปและกล้ามเนื้อหัวใจเสียไปเรื่อย ๆ

- สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง เราจะส่งไปทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองให้เร็วที่สุด เพื่อแยกเลือดออกในสมอง และภาพถ่ายนั้นสามารถวิเคราะห์ความเสียหายของสมองได้มากพอควรที่จะตัดสินการให้ยาได้ ปัจจุบันมีการส่งภาพไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาและประสาทวิทยา ทำให้สามารถตัดสินใจให้ยาได้ทันที ภายในเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ

5. การตัดสินใจรักษา อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องจำกัดเวลา มีโอกาสอันตรายจากการรักษาก็จริง แต่จากผลการศึกษาวิจัยและการเก็บข้อมูลรักษา ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง พบว่า

ด้วยการรักษาที่มีการเตรียมตัวที่ดีและมาตรฐานที่ดี (ในประเทศเราก็มีมาตรฐาน)​ อันตรายน้อยกว่าประโยชน์อย่างชัดเจน และสำคัญคือสามารถป้องกันโรคเรื้อรังและความพิการในอนาคตได้ด้วย ญาติและผู้ป่วยต้องร่วมตัดสินใจในการรักษาด้วย

6. การรักษาพื้นฐานที่สามารถเปิดหลอดเลือดที่ตีบตันและกู้พื้นที่ขาดเลือดไม่ให้ลุกลามคือ การให้ยาสลายหลอดเลือด fibrinolytic agents

ปัจจุบันแนะนำกลุ่ม fibin specific agents คือ ยา alteplase หรือ tenecteplase สามารถใช้ได้ทั้งหลอดเลือดหัวใจตีบและหลอดเลือดสมองตีบ

การตัดสินใจให้ยาเร็วภายใต้แผนการรักษาที่เตรียมไว้อย่างดี ถือว่าสำคัญมากเพราะ

**เวลาคือกุญแจดอกสำคัญที่สุด**

7. ในกรณีที่เลยระยะเวลาที่ดีที่สุดในการให้ยาทางหลอดเลือดดำตามข้อ 6 ปัจจุบันเราพบแนวทางการรักษาที่ยังสามารถช่วยกู้พื้นที่ขาดเลือดได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการทำหัตถการหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน การทำหัตถการผ่านสายสวนหลอดเลือดแดงสมอง ทั้งการดึงลากลิ่มเลือด การดูดลิ่มเลือด หรือการฉีดยาสลายลิ่มเลือดผ่านหลอดเลือดแดง

แต่การรักษาในข้อนี้ต้องอยู่ในที่มีทรัพยากรและประสบการณ์สูง ทางโรงพยาบาลต้นทางจะส่งตัวให้โดยเร็ว

8. ความลังเลที่จะเข้ารับการรักษาในข้อ 6 เพื่อจะไปศูนย์การแพทย์ที่ใหญ่และพร้อมกว่า แต่อาจเสียเวลาไปอย่างสูญเปล่าโดยไม่ได้รับการเปิดหลอดเลือด ผลการรักษาจะไม่ดีเท่าการให้ยาสลายลิ่มเลือดเพื่อเปิดหลอดเลือดอย่างเร็วที่สุด เพราะ

** เวลาคือกุญแจดอกสำคัญ** ที่จะบอกความสำเร็จของการรักษา

9. โดยมาตรฐาน หลังจากการให้ยาสลายลิ่มเลือดแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการส่งต่อไปประเมินหลอดเลือดซ้ำอีกครั้ง ว่าต้องทำการเปิดหลอดเลือดอีกหรือไม่

ไม่ว่าด้วยวิธีการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ การเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์พิเศษดูความมีชีวิตของเนื้อสมองและการกระจายของเลือด หากยังมีความผิดปกติจะทำการรักษาซ้ำ ขั้นตอนดังกล่าวต้องใช้เวลาและทีมงาน

จึงควรรักษาตามข้อ 6 หากมาในเวลาที่กำหนดหรือทำตามข้อ 7 หากพ้นเวลาที่ดีที่สุดไป ข้อ 9 จะทำเป็นลำดับหลัง

10. ดีที่สุด คือ อย่าให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงตีบตันเฉียบพลัน ทำได้โดย กินอาหารครบห้าหมู่ ลดอาหารหวานส่วนเกินและมันส่วนเกิน ลดความเค็ม ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ รักษาโรคและปัจจัยเสี่ยงของตัวเองให้ดี เลิกบุหรี่ เลิกเหล้า และติดตามเพจอายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียวเป็นประจำสม่ำเสมอ

อาจเป็นรูปภาพของ นาฬิกาข้อมือ และ ข้อความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม