16 พฤศจิกายน 2567

การเดินทางของไทรอยด์

 การเดินทางของไทรอยด์

หลายวันก่อนมีคำถามเข้ามาว่า ผู้ป่วยตรวจพบก้อนใต้คาง ปรากฏว่าเป็นก้อนต่อมไทรอยด์ เท่าที่เขาทราบ ไทรอยด์น่าน่าจะอยู่ตรงกระเดือก ตกลงว่าเป็นก้อนอะไรกันแน่
เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ ผมขอพาท่านผู้อ่านย้อนอดีต (แสดงว่าอ่านกันยาว ๆ แน่นอน) ไปในสมัยที่เรายังมีอายุประมาณ 4 สัปดาห์ และยังอยู่ในนิวาสถานมดลูกอันแสนอบอุ่น ...ไปกันครับ
ตัวอ่อนของมนุษย์และสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหลาย เริ่มต้นชีวิตในช่วงแรกคล้ายกัน หลังจากนั้นจึงวิวัฒนาการไปเป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ สำหรับมนุษย์ เมื่อมีการปฏิสนธิจนได้เซลล์ต้นกำเนิดและแบ่งตัว ข้อมูลจากรหัสพันธุกรรมจะกำหนดการสร้างโปรตีนและแปรสภาพเซลล์ไปเป็นอวัยวะต่าง ๆ
เรามาเริ่มต้นที่สัปดาห์ที่สี่ของชีวิต
ตอนนั้นเรามีลักษณะหัวโต ๆ ร่างกายเป็นแท่งกลมยาวไปจรดหาง มีถุงกลางท้องเป็นถุงไข่แดงและสายเชื่อมต่อกับรก ที่เรารู้จักกันชื่อสายสะดือ พื้นที่ตรงใต้ต่อหัวโต ๆ ของตัวอ่อน จะมีกลุ่มเนื้อเยื่อที่หนาตัวขึ้นทางด้านหน้าลำตัว เป็นที่ราบสูงขึ้นมา เรียกพื้นที่นี้ว่า pharyngeal arch เดิมทีเรียกว่า brachial arch แต่มาใช้คำนี้เพราะคำว่า brachial มันไม่เฉพาะเจาะจงกับมนุษย์เท่านั้น ใช้ pharyngeal เพื่อบอกว่านี้คือมนุษย์ ส่วน brachia มีความหมายเหมือน gill คือเหงือกปลา จะว่าไปก็พัฒนาการมาจากแหล่งเดียวกันนี้แหละ
พื้นที่ราบสูง pharyngeal arch จะเริ่มแบ่งตัวเป็นแท่งยาว นั่นคือมีแท่งนูนขึ้นและรอยแยกที่เว้าตัวลง เราเรียกว่า bar และ cleft แบ่งเจ้า arch เดิมออกเป็น 6 arch ซึ่งแต่ละ arch จะพัฒนาการไปเป็นอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าและลำคอ โดยการเจริญโค้งเข้าหากันตรงกลาง เราก็จะเห็นว่าใบหน้าที่สมบูรณ์จะสมมาตรซ้ายขวา ถ้าเกิดการแบ่งที่ไม่ดี จะเกิดความผิดปกติได้ เช่น arch ที่หนึ่งซึ่งเจริญไปเป็นกระดูกกรามบน เกิดไม่มาติดกัน จะเกิดเป็นปากแหว่งเพดานโหว่
Arch จะเจริญไปเป็นส่วนต่าง ๆ คือ คอ ลิ้น กล้ามเนื้อของคอหอย กล้ามเนื้อของลิ้น กล้ามเนื้อและกระดูกของกล่องเสียง โดยขณะที่กำลังพัฒนาไปเป็นอวัยวะต่าง ๆ จะมีเซลล์ประสาทจากแถวกระดูกสันหลัง เคลื่อนที่มาเพื่อช่วยควบคุมการทำงานและการรับสัญญาณประสาทของอวัยวะเหล่านี้ด้วย เซลล์ประสาทสั่งการต่าง ๆจะมารวมกันที่ก้านสมอง ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังเพดานปากและหลังจมูก เพราะพัฒนามาพร้อมกัน เลยอยู่ชิดติดกัน
และยังอธิบายด้วยว่าอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้จึงถูกควบคุมและรับสัมผัสด้วยเส้นประสาทสมองนั่นเอง เช่น กล้ามเนื้อบนใบหน้าที่พัฒนาการมาจาก arch ที่สอง จะมีกลุ่มเส้นประสาทมาควบคุมเหมือนกัน คือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เส้นประจำ arch ที่ 2 ไม่ว่ากล้ามเนื้อจะเคลื่อนที่ไปที่ใด เส้นประสาทสมองคู่ที่เจ็ดก็จะยืดยาวตามไปควบคุม หรือกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ในหู ที่ชื่อ stapedius มีต้นกำเนิดจาก arch ที่สองเช่นกัน แม้กล้ามเนื้อจะอยู่ในหูก็ควบคุมด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เช่นกัน ผู้ป่วยหน้าเบี้ยวจากเส้นประสาทสมองคู่ที่เจ็ดอักเสบ ในบางรายถึงมีเสียงดังในหู
เราพอเข้าใจการจัดเรียงอวัยวะของใบหน้าและลำคอแล้วนะครับ
เรามาที่รอยต่อ arch ที่ 1 และ 2 ตรงพื้นที่กลางตัว พื้นที่ส่วนริมจะกลายไปเป็นกระดูกกรามและลำคอ พื้นที่ตรงกลางจะมีรอยนูนขึ้นเรียกว่า Tuberculum impar และ Copula ตามลำดับ จำชื่อสองอันนี้ไว้ เดี๋ยวจะมาต่อภายหลัง พื้นที่ระหว่างกลางของรอยนูนจะเกิดการพัฒนาการกลุ่มเซลล์เล็ก ๆ ที่จะเจริญไปเป็นเซลล์ต่อมไทรอยด์ แถมตรงพื้นที่นั้นจะเป็นหลุมเป็นโพรงชื่อว่า foramen caecum เอาล่ะ มาถึงไคลแม็กซ์แล้ว
กลุ่มเซลล์บริเวณ Tuberculum impar และพื้นที่รอบ ๆ มีการเจริญเติบโตที่เร็วและขยายใหญ่มาก กลายไปเป็นลิ้นส่วนหน้า กินพื้นที่ 2/3 ของลิ้นทั้งหมด ส่วนพื้นที่ Copula และเซลล์รอบ ๆ จะพัฒนาไปเป็นลิ้นส่วนหลัง จะสังเกตว่ามาจาก arch ต่างกัน เมื่อโตขึ้นเราจึงเห็นพื้นผิวต่างกันจนแยกได้ ตรงรอยแยก sulcus ระหว่าง arch ที่หนึ่งและสอง เราก็ยังเห็นเป็นเส้นขอบเขตของลิ้นทั้งสองส่วนนั่นเอง มีชื่อว่า ternimal sulcus หรือชื่อละตินว่า sulcus terminalis
แถมประสาทรับสัมผัสเจ็บปวดร้อนเย็น (ไม่ใช่รับรสนะ) ก็มาจากเส้นประสาทสมองประจำ arch คือเส้นที่ 5 และ 7 ตามลำดับ พื้นที่ต่างกันของลิ้นจึงรับสัมผัสจากเส้นประสาทสมองต่างกันตามที่มาต้นกำเนิดของพื้นที่นั่นเอง เซลล์ลิ้นมันโตเร็วและขยายขนาดและเบียดกลุ่มเซลล์ไทรอยด์ต้องเคลื่อนที่หนี หนีไปไหน หนีลงล่าง
และเนื่องจากกลุ่มเซลล์มันอยู่ตรงกลางตัวพอดี แนวทางการเคลื่อนจึงเคลื่อนตามแนวกลางตัวจาก foramen caecum ลงไปจนถึงขอบของ arch ที่สองที่ถูกโคนลิ้นเบียดลงไป ลงไปอยู่ที่พื้นที่บริเวณกระดูกไฮออยด์และกระดูกอ่อนไทรอยด์ (กระเดือก) และจับจองครอบครองปรปักษ์ ใช้เวลาเคลื่อนที่ลงมาประมาณ 3 สัปดาห์ จากจุดกำเนิดมาจุดปัจจุบัน
เส้นทางที่ไทรอยด์เคลื่อนที่ลงมา เรียกว่า thyroglossal duct คำว่า thyro ก็คือไทรอยด์ glossal,glossus คือ ลิ้น หมายถึงทางหลวงเชื่อมไทรอยด์และลิ้นนั่นเอง ซึ่งต่อไปทางหลวงนี้จะปิดตัวเองและสลายตัวไป
นั่นจึงเป็นคำตอบว่า อาจพบเนื้อเยื่อไทรอยด์หลงเหลือตามจุดต่าง ๆ ที่เคลื่อนที่ลงมาได้ โดยการตรวจนั้นหากให้แลบลิ้น คือการเคลื่อนที่ของลิ้นไปข้างหน้า เราก็จะเห็นก้อนไทรอยด์ที่หลงเหลือนี้ขยับขึ้นตามไปด้วย เพราะมันยึดต่อถึงกันในอดีต หรือหาก thyroglossal duct นี้ไม่สลายไป อาจเกิดเป็นซีสต์ในแนวกลางคอ ตามการเคลื่อนที่ของมัน เรียกว่า thyroglossal duct cyst ได้ด้วย
เมื่อเนื้อเยื่อเริ่มต้นของไทรอยด์มาถึงตำแหน่งปัจจุบันในช่วงสัปดาห์ที่เจ็ดแห่งชีวิต ก็เจริญออกทางด้านข้างเป็นกลีบซ้ายและขวา เพราะมีพื้นที่ในการเจริญมากกว่าตรงกลาง และรับเลือดมาเลี้ยงมากกว่า ทำให้กลีบซ้ายและขวาของไทรอยด์ไม่ได้สมมาตรกันดังเช่นอวัยวะกลางทั้งหลาย เพราะไม่ได้เกิดจากเจริญเข้าหากันตรงกลาง
ตำแหน่งตรงกลางของไทรอยด์ จึงแคบและบางเรียกว่าส่วน isthmus ที่แปลว่าตีบแคบ ช่องแคบ และบางครั้งบางคนอาจจะเห็นเนื้อเยื่อไทรอยด์ต่อไปด้านบนตรงกลาง ตามแนวการเคลื่อนที่ของไทรอยด์ครั้งยังเยาว์วัย เห็นเป็นต่อมรูปสามเหลี่ยมตรงกลางที่เรียกว่า pyramidal lobe ร่องรอยการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของไทรอยด์ครั้งเมื่อกาลก่อน
น่าจะพอได้คำตอบนะครับ หรือว่า ได้คำตอบนานแล้วเฟร้ย มาอธิบายอะไรเป็นคุ้งเป็นแคว ถามแค่ประโยคเดียวเอง ฮ่า ๆ ก็นี่แหละ ลุงหมอกงยู จาก อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว
May be an image of x-ray and text
See insights and ads
Boost
All reactions:
ร้านวีบุ๊ค and 82 others

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม