14 ตุลาคม 2567

วัคซีน RSV สำหรับผู้ใหญ่

 วัคซีน RSV สำหรับผู้ใหญ่

โรคติดเชื้อไวรัส RSV respiratory syncytial virus เราอาจจะเคยได้ยินว่าทำให้เกิดปัญหาในผู้ป่วยเด็ก และมีการให้ยาชีวภาพ monoclonal antibody เพื่อป้องกันโรคในเด็กกลุ่มเสี่ยง แต่ในความเป็นจริงในผู้ใหญ่เราก็มีรายงานการติดเชื้อนี้นะครับ ที่พบน้อยเพราะเราไม่ค่อยได้ตรวจ เนื่องจากอาการไม่ได้รุนแรงและไม่มียารักษาที่เฉพาะกับโรค
แต่เช่นเดียวกับการติดเชื้อไวรัสทุกชนิด พบว่าจะมีอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้น และความรุนแรงของโรคมากขึ้นในผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยลงมาก บวกกับมีโรคร่วมอื่น ๆ ทำให้การติดเชื้อรุนแรง ผู้สูงวัยจึงเป็นกลุ่มที่ควรรับวัคซีนเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน โรคติดเชื้ออาร์เอสวีนี้ก็เช่นกัน
ตอนนี้เรามีวัคซีนอาร์เอสวีในกระบวนการพัฒนาหลายชนิดและประกาศใช้มาแล้วสองชนิด และมีการพัฒนาสูตรใหม่ adjuvant ใหม่ ทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันโรคดีขึ้น จนมีการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ เรียกว่า RSVPreF3 OA พัฒนาโดยบริษัทแกล็กโซสมิทธ์ไคลน์
** ผมขอความอนุเคราะห์เอกสารงานวิจัยฉบับเต็มมาจากบริษัทผู้จำหน่าย โดยไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ ทั้งสิ้น และบริษัทก็ไมได้มีอิทธิพลเหนือบทความแต่อย่างใด **
เรามาดูข้อแนะนำการฉีดก่อนนะครับ วัคซีนอาร์เอสวีจะฉีดให้กับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี โดยไม่ต้องตรวจวัดระดับภูมิมาก่อน ฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่งเข็มเท่านั้น
ส่วนวัคซีนชื่อการค้า arexvy ที่เป็นตัวใหม่ที่กล่าวถึง สามารถฉีดให้กับคนที่อายุ 50-59 ปีที่มีโรคประจำตัวอันทำให้เกิดความเสี่ยงโรครุนแรงได้ด้วย เป้าวัตถุประสงค์ของวัคซีน RSV คือ ลดการเจ็บป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ “ส่วนล่าง” เป็นหลักนะครับ
ผมจะมาเล่าสั้น ๆ ให้ฟังถึงการศึกษาเพื่อรับรองวัคซีนครับ การศึกษาแรกลงตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 เป็นการศึกษาใน 17 ประเทศทั่วโลกแต่ส่วนมากผู้เข้าร่วมคือ ชาวผิวขาว อายุเฉลี่ยที่ 70 ปี สุขภาพร่างกายโดยรวมไม่แย่เท่าไร จำนวน 24966 รายแบ่งเป็นฉีดวัคซีนและยาหลอกอย่างละครึ่ง ฉีดก่อนช่วงระบาดและติดตามไปอย่างน้อยหนึ่งฤดูระบาด พบว่าประสิทธิภาพวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ ”ส่วนล่าง” อยู่ที่ 82.6% ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอาหารและยา และต่างจากยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ”รุนแรง” อยู่ที่ 92% โดยผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่ต่างจากยาหลอกและมีน้อยมาก
แต่หากใครไปอ่านวิเคราะห์จะพบข้อสังเกตหลายประการในการศึกษานี้ อย่างแรกคือ อัตราการเกิดโรคค่อนข้างต่ำ (7 คนในกลุ่มวัคซีน และ 40 คนในกลุ่มยาหลอก) คนกลุ่มใหญ่ผิวขาวและอยู่ทางซีกโลกเหนือ (ซีกโลกเหนือใต้ มีผลต่อชนิดเชื้อและการระบาด)
การวิเคราะห์นี้ส่วนมากเกิดเพียง 1 ฤดูกาลระบาดเท่านั้น ต้องวิเคราะห์เร็วกว่าที่คาดจึงสามารถเกิด type I error ได้มาก ซึ่งทางผู้วิจัยได้ปรับเกณฑ์ความเชื่อมั่นจาก 95% เพิ่มเป็น 96.95% เพื่อ “ชดเชย” ทางสถิติ และการศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีน
การศึกษาที่สองลงตีพิมพ์ใน Clinical Infectious Disease เมื่อเดือนมกราคม 2024 ที่ผ่านมานี้เอง เป็นการศึกษาในกลุ่มประเทศยุโรป (ซีกโลกเหนือ) จำนวน 24967 ราย อายุเฉลี่ยสองช่วงคือ 60 ปีและ 70 ปี สุขภาพโดยรวมค่อนข้างดี นำมาศึกษาสองตอน ตอนแรกแบ่งฉีดยาหลอกและวัคซีนอย่างละครึ่ง เพื่อหาประสิทธิภาพวัคซีน ในช่วงอย่างน้อยหนึ่งฤดูระบาดหลังรับยา
ในการศึกษาตอนที่สอง นำกลุ่มที่เคยได้วัคซีนในตอนแรกมาแบ่งเป็นสองส่วน ได้วัคซีนเข็มสองอีกเข็มในอีกหนึ่งปี ส่วนอีกกลุ่มได้ยาหลอก เพื่อวัดประสิทธิภาพของเข็มสอง เรียกว่าเป็นการต่อยอดจากการศึกษาแรก ผลปรากฏว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มที่หนึ่งอยู่ที่ 67.2% และหากวัดประสิทธิภาพรวมสองเข็มจะอยู่ที่ 67.1% ส่วนการป้องกันติดเชื้อรุนแรงที่ 78% พอกัน
แต่วัดผลเพียง 1-2 ฤดูระบาดเท่านั้น ไม่ได้มีการยืนยันผลเคร่งครัดเหมือนการศึกษาแรก การศึกษานี้มีอัตราการเกิดโรคสูงกว่า (แล้วแต่ช่วงระบาด) และการศึกษานี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทใด
ก็สรุปว่า ในคนที่อายุตั้งแต่ 60 ปี การรับวัคซีนอาร์เอสวีชนิด RSVPreF3 OA ป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างได้และการติดเชื้อรุนแรงได้ดีกว่ายาหลอก และการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียวก็เพียงพอ
ทั้งนี้ยังต้องรอผลในระยะยาวที่กำลังเก็บข้อมูลต่อ ว่าการปกป้องที่มากกว่า 2 ปี จะมีประสิทธิภาพอย่างไรด้วย
น่าจะพอเข้าใจกันและเป็นข้อมูลว่าจะฉีดหรือไม่ได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม