21 ตุลาคม 2567

วันพยาบาลแห่งชาติ : Mary Seacole

 วันพยาบาลแห่งชาติ : Mary Seacole

วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นวันพยาบาลแห่งชาติ พี่น้องผองเพื่อนพยาบาลก็จะมาทำกิจกรรมรำลึกถึงความสำคัญของงานพยาบาล รำลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ท่านเป็นพยาบาลเช่นกัน รำลึกถึงตะเกียงไนติงเกล ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล นางฟ้าในใจพยาบาลทุกท่าน
วันนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับพยาบาลอีกหนึ่งคน ที่อดทน ต่อสู้ เพื่อผู้ป่วยและสิทธิของผู้ด้อยโอกาส .. แมรี่ ซีโคล
แมรี่ ซีโคล เป็นพยาบาลผิวสี ดำรงชีวิตอยู่ในช่วงปี 1806-1881 ใช่แล้วช่วงเดียวกับฟลอเรนซ์ ไนติงเกลนั่นเอง แต่หนทางสู่อาชีพพยาบาลต่างจากไนติงเกลลิบลับ ไนติงเกลมีต้นทุนชีวิตที่ค่อนข้างพร้อม เกิดมาในตระกูลที่มีอำนาจและเงิน เป็นชาวยุโรปที่มีโอกาสในการศึกษา สามารถเข้าร่วมและมีบทบาทในกองทัพในสงครามไครเมีย สงครามที่สร้างชื่อให้กับไนติงเกล แต่ต่างจากซีโคล
ซีโคลเกิดที่จาไมก้าในปี 1806 โดยที่คุณแม่ของเธอเป็นทาส ใช่ครับในปี 1806-1807 เป็นปีที่อาณาจักรบริเตนยกเลิกการค้าทาส แล้วแต่อเมริกายังมีทาสอยู่ โดยเฉพาะทาสแรงงานในโซนประเทศอเมริกาตอนใต้ มีทาสจากแอฟริกา อเมริกาใต้
แต่ซีโคลโชคดี ที่แม่ของเธอได้แต่งงานกับนายทหารและหลุดพ้นความเป็นทาสก่อนให้กำเนิดเธอ ถึงกระนั้นชีวิตก็ไม่ง่าย การเหยียดสีผิว สงครามชนชั้น ทำให้ชนผิวสีอย่างเธอขาดโอกาส ทั้งโอกาสในชีวิต โอกาสทางการศึกษา ไม่เพียงแต่สีผิว แต่ความเป็นสตรี ยังถูกกีดกันจากโอกาสทุกอย่างทางสังคม เธอเรียนวิธีการรักษาพยาบาลแบบครูพักลักจำจากกองทหารและชาวพื้นเมือง จนพอทำการรักษาได้
เมื่ออายุ 12 ปี เธอมีโอกาสติดตามญาติของเธอ ย้ายครอบครัวมาที่อังกฤษ แม้ว่ายังมีการเหยียดผิวและเชื้อชาติ แต่ไม่รุนแรงเท่าอเมริกา ที่นี่เธอได้มีโอกาสเรียนการแพทย์แผนปัจจุบันจนชำนาญ และไม่นานเธอก็แต่งงาน แต่ทว่า ฟ้าลิขิตให้เธอเป็นพยาบาล
ตอนที่อาศัยในจาไมก้า เธอรับหน้าที่ดูแลพ่อที่ป่วย หลังจากแต่งงานไม่นาน สามีเธอก็ป่วยและเสียชีวิต ตามมาด้วยแม่ของเธอก็ล้มป่วยและเสียชีวิต ทุกคนได้รับการดูแลอย่างดีจากพยาบาลผิวสีผู้ซึ่งผสานความรู้ทางการแพทย์ยุโรปและแคริบเบียนอย่างลงตัว เธอจึงกลับอเมริกากลางในปี 1850 ที่กำลังมีการระบาดของอหิวาตกโรค
ช่วงปี 1850-1854 เธอใช้ความรู้ทุกอย่างจากยุโรปมาต่อสู้กับอหิวาตกโรค ไม่ว่าจะเป็นการจัดสุขาภิบาลที่ดี อนามัยที่ดี และสูตรยามากมาย ความทุ่มเทและชื่อเสียงของเธอเริ่มเป็นที่ยอมรับ ในปี 1853 เธอได้รับเชิญจากทางการจาไมก้า ให้มาช่วยเมืองที่เธอเกิด เมืองคิงส์ตัน เมืองหลวงของจาไมก้า
ที่นั่นเธอปรับปรุงบ้านเก่าของเธอที่ถูกไฟไหม้ ให้เป็นโรงพยาบาล ทำการดูแลรักษาประชาชนและทหารที่ประจำการในจาไมก้า (จาไมก้าอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรบริเตนตั้งแต่ 1707-1962) ที่นั่นกองทัพอังกฤษเห็นศักยภาพของเธอ เธอจึงได้เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในทีมพยาบาลของสงครามไครเมีย
สมรภูมิเดียวกันกับฟลอเรนซ์ ไนติงเกล
สงครามไครเมียในปี 1853-1856 เป็นสงครามระหว่างอาณาจักรรัสเซีย กับสัมพันธมิตร อังกฤษ ฝรั่งเศส ออตโตมัน และซาร์ดีเนีย โดยรัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ (บางคนเชื่อว่านี่คือต้นกำเนิดของการล่มสลายของโรมานอหในรัสเซีย)
นับเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์เปลี่ยนจากสมัยเดิม จากที่ใช้ดาบ ปืนโบราณ ธนู มาเป็นปืนพร้อมบรรจุ ปืนใหญ่ ถือว่าเป็นสงครามครั้งแรกของอาวุธสงครามยุคใหม่ ความเสียหายและบาดเจ็บจึงรุนแรงมาก ต้องอาศัยการแพทย์และพยาบาลมาช่วยดูแล ทหารเสนารักษ์ไม่สามารถรักษาต่อไปได้ ต้องรักษาทันที
เป็นที่มาของโรงพยาบาลสนาม ที่ให้การรักษาตรงพื้นที่พิพาท รักษาเร็ว หายเร็ว กลับสู่สมรภูมิได้เร็ว เป็นแต้มต่อของสงคราม
ซีโคลมาที่ไครเมียและจัดตั้งโรงพยาบาลสนามพร้อมอาสาสมัครพยาบาลที่เขต balaklava ตอนใต้สุดของแหลมไครเมีย ใกล้กับแนวหน้ามาก โรงพยาบาลที่นั่นมีขนาดไม่ใหญ่แต่เต็มไปด้วยผู้ป่วยหนัก ที่ส่วนมากเสียชีวิต หากรักษาไม่ได้ก็จะส่งไปโรงพบาบาลที่พร้อมกว่าใหญ่กว่า หนึ่งในนั้นคือ Nightingale Hotel แม้จะไกลแนวหน้าแต่รับผู้ป่วยหนักและทุกข์ทรมานมาก
Hotel ก็คือ hospital นี่แหละครับ สำหรับซีโคล เธอก็มี Seacole's Hotel ที่บรรดาทหารอังกฤษยกย่องเธอเป็น Mother Sealcole เธอดูแลพยาบาลทหารผ่านศึกอย่างไม่หยุดหย่อน ผ่านการถูกโจมตีโรงพยาบาลจนต้องเปลี่ยนที่ทำการหลายครั้ง แต่ก็ไม่ย่อท้อ เพียรขอกำลังเสริมและฝึกสอนทหาร ชาวบ้าน ให้ทำการพยาบาล ช่วยเหลือตัวเองและคนที่ตัวเองรักได้
กลับมาจากสงครามเธอได้รับทุนจากอดีตทหารและราชวงศ์ให้พื้นที่เพื่อก่อตั้งโรงพยาบาลในลอนดอนเพื่อรักษาคนไข้โดยเฉพาะเหล่าทหารผ่านศึก สืบทอดวิชาการพยาบาลในลอนดอน ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ส่วนหนึ่งเป็นจากสงครามเชื้อชาติสีผิวที่ยังมีอยู่ในอังกฤษ ส่วนไนติงเกลที่มีพลังภายในสูงกว่าสามารถเดินเรื่องผ่านนักการเมือง นักวิชาการ จนสามารถสถาปนาการพยาบาลยุคใหม่ขึ้นมาได้
เธอเสียชีวิตเงียบ ๆ ในปี 1881 จนเมื่อพยาบาลจากจาไมก้าที่ศึกษาเรื่องราวของเธอ ติดตามเสาะหาว่าสุดท้ายหลุมศพเธออยู่ไหน พยาบาลคนนั้นหาจนพบและได้ประกาศถึงคุณความดี ความอดทน การต่อสู้ของ Mother Seacole พยาบาลผิวสีผู้ยิ่งใหญ่ที่ถูกหลงลืมไป
Mary Seacole

18 ตุลาคม 2567

 เรื่องเล่าจากคลินิก : มะม่วงฝีมือลูก

มีรถยนต์คันหนึ่งมาจอดหน้าร้าน คุณสุภาพสตรีวัยกลางคน รูปร่างผอม ก้าวลงมาจากรถ ดับเครื่องยนต์และก้าวลงมาจากรถ
เธอยืนมองป้ายคลินิก เมื่อมั่นใจว่าไม่ได้มาผิดที่ จึงหยิบของจากเบาะหลังรถแล้วเข้ามาสอบถามพนักงานที่กำลังเช็ดกระจกหน้าร้าน
สุภาพสตรี : คุณหมอเข้ามาหรือยังคะ
พนักงานเช็ดกระจก : มาแล้วครับ เชิญด้านในก่อนนะครับ
คุณสุภาพสตรีเดินเข้ามาพร้อมถุงมะม่วงกวนถุงใหญ่ นั่งบนเก้าอี้รอตรวจ
พนักงานเช็ดกระจกเอากระดาษหนังสือพิมพ์ในมือไปทิ้ง ล้างไม้ล้างมือแล้วเข้ามาถามสุภาพสตรี
พนักงานเช็ดกระจก : เอาล่ะ ผมว่างแล้วครับ มีเรื่องใดให้ช่วยครับ
สุภาพสตรี : ว้าย อ้าว นี่คุณหมอหรือคะ
พนักงานเช็ดกระจก : ใช่ครับ
คุณสุภาพสตรียิ้มและบอกว่าเธอไม่ได้ป่วย แต่ตั้งใจเอามะม่วงกวนมาให้ และบอกว่าคุณแม่ของเธอกำชับว่าต้องนำมาให้ถึงมือคุณหมอ
ย้อนอดีตไปเมื่อสิบปีก่อน มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายหนึ่งมาติดตามการรักษาตามปรกติกับคุณหมอชราหน้าหนุ่ม แต่วันนี้มาบอกอาการเพิ่มเติมว่าเจ็บเต้านม
คุณหมอชราส่งผู้ป่วยไปทำแมมโมแกรมและส่งไปตัดชิ้นเนื้อ สรุปว่าเป็นมะเร็งเต้านม กว่าผลตรวจชิ้นเนื้อจะออกก็ถึงวันนัดติดตามโรคความดันโลหิตสูงพอดี
ผู้ป่วยรู้สึกเศร้า อึดอัดใจ หมดหวัง ท้อแท้ กับโรคมะเร็งเต้านมของตน อีกทั้งเป็นห่วงเรื่องค่ารักษาพยาบาล การที่ต้องหยุดงาน เพราะเธอคือกำลังหลักในการทำอาหารขาย ถ้าขาดเธอไปสักคน ที่บ้านคงเดือดร้อน
กลัวการผ่าตัด กลัวเคมีบำบัด ภาวะจิตใจที่หดหู่ ทำให้กลัวทุกอย่าง … และน้ำตาของผู้ป่วยก็พร่างพรูออกมา
อยู่ที่บ้านไม่กล้าบอกใคร ไม่มีคนให้ปรึกษา สามีก็หนีจากไม่รู้ชะตามาหลายปี ไม่เคยติดต่อกลับมา
คุณหมอชรายื่นกระดาษเช็ดหน้าให้ และเดินไปหยิบน้ำมาให้หนึ่งขวด พร้อมมานั่งคุย เปิดใจ อธิบายการรักษา โอกาสหาย สิทธิการรักษาพยาบาล เป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง ผู้ป่วยมีสีหน้าดีขึ้น หมอชรานัดผู้ป่วยพร้อมลูกชายลูกสาวมาพบในอีกหนึ่งสัปดาห์
ในสัปดาห์นั้น ผู้ป่วย ลูกสองคน และหมอชรา คุยกันถามตอบกัน จนเข้าใจถ่องแท้ หมดกังวล ทลายกำแพงในใจ ทะลุทะลวงจนใสนิ่ง ยินดีเข้ารับการรักษาที่ รพ.จังหวัดของตน
หลังจากผ่าตัด ให้ยาเคมี ให้ยาต้านฮอร์โมน ผู้ป่วยกลับมาสุขภาพดี มาติดตามรักษาความดันโลหิตต่อเนื่องพร้อมกับมะม่วงกวนถุงใหญ่ในทุก ๆ เดือนสิงหาคม
สุภาพสตรี : หนูเป็นลูกคนสุดท้องค่ะ ยังไม่เคยพบคุณหมอ ได้ยินแต่แม่เล่าให้ฟัง
พนักงานเช็ดกระจก : คุณแม่ติดธุระหรือครับ ปกติท่านจะนำมาให้เองทุกปี
สุภาพสตรี : คุณแม่เสียแล้วค่ะ
ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่รพ.จังหวัดหนึ่ง ด้วยโรคช็อกติดเชื้อที่ปอด ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อาการทรุดลงและเสียชีวิต
ลูกทั้งสามคน ยังยืนยันที่จะทำตามคำสั่งและเจตนารมณ์ของคุณแม่ ที่ทำมะม่วงกวนด้วยตัวเอง จากสวนมะม่วงของตัวเองมาให้หมอชรา ในช่วงเวลานี้ของปี ช่วงวันเกิดของผู้ป่วยเอง
หมอชราหน้าหนุ่ม : ผมเสียใจด้วยครับ
หลังจากอำลาและส่งลูกสาวผู้ป่วยแล้ว หมอชราหน้าหนุ่มยกมะม่วงกวนมาวางบนโต๊ะ และนึกถึงคำพูดนั้น คำพูดที่ผู้ป่วยพูดเมื่อครั้งเห็นกล่องมะม่วงกวนที่ซื้อมาจากร้านสะดวกซื้อ วางอยู่ข้างโต๊ะตรวจคุณหมอ
ผู้ป่วย : คุณหมอ มะม่วงกวนของแท้ไม่ใช่แบบนั้นนะ คราวหน้าเดี๋ยวแม่จะทำมาให้ ทำเอง สูตรนี้ทำขาย มะม่วงปลูกเองด้วย และจะทำมาให้ทุกปีเลยนะ
หมอชรา : ขอบคุณครับ ที่รักษาสัญญาแม้แต่ตัวคุณจะไม่อยู่แล้ว และลูกสาวคุณก็ทำสูตรนี้อร่อยไม่แพ้ตัวคุณเลยครับ

16 ตุลาคม 2567

โรคหืดดีขึ้น หยุดยาได้ไหม ปรับยาอย่างไร

 โรคหืดดีขึ้น หยุดยาได้ไหม ปรับยาอย่างไร

ขอตอบสองอย่าง
ประการแรก อันนี้ส่วนตัวนะครับ ผมจะบอกคนไข้ว่า ถ้าไม่เบื่อสูดยาไม่มีอุปสรรคในการสูดยา ไม่มีผลแทรกซ้อนจากการใช้ยา ชำระค่ายาได้ไม่เดือดร้อน ผมแนะนำใช้ขนาดต่ำที่สุดไปตลอด
ประการสอง อันนี้ตามแนวทางการรักษา GINA 2024 ระบุว่า หากผู้ป่วยควบคุมโรคได้ดี ลดปัจจัยเสี่ยงอันเกิดโรคกำเริบได้ และทางคุณหมอหาหลักฐานเพิ่มเติมสักนิดว่าดีแล้ว เช่น วัดสมรรถภาพปอด หรือ วัดค่า FeNO หรือตรวจย้อมดูเซลล์อีโอสิโนฟิลในเสมหะ
เมื่อสรุปว่าควบคุมดี และจะลดยามาเป็นขั้นต่ำสุดจะมีสองแนวทาง
track 1 : ใช้ยาเมื่อมีอาการเหนื่อย หืด ใช้ก่อนออกกำลังกาย ใช้เมื่อจะต้องไปสัมผัสสารแพ้ อันนี้จะใช้ยาสูดรวม สเตียรอยด์กับยาขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์ยาว ที่ระบุว่าควรเป็นตัวยา formoterol เพราะออกฤทธิ์ยาวแต่เริ่มทำงานเร็ว
สูด 1-2 ครั้ง และถ้าต้องสูดแก้ไขอาการบ่อย ๆ แสดงว่าโรคยังคุมไม่ได้หรอก ต้องไปหาหมอ ปรับการรักษาให้เข้มกว่านี้
track 2 : ใช้ยาสูดขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์สั้น เช่น salbutamol, albuterol เมื่อมีอาการอย่างที่เราเคยเห็นผู้ป่วยเคยปฏิบัติมาในอดีต แต่ว่าขอเพิ่มการสูดยาสูดสเตียรอยด์พ่วงด้วยทุกครั้งเวลาใช้ยาขยายหลอดลม เราจะหลีกเลี่ยงการใช้ยาสูดขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์สั้นใช้เดี่ยว
ข้อเสียคือต้องพกยาสองหลอด สูดพ่นสองที เช่นกัน ถ้าเริ่มต้องสูดบ่อยขึ้น แสดงว่าต้องควบคุมโรคและการประเมินโรคใหม่ น่าจะยังควบคุมไม่ได้
ไม่ว่าจะเลือกแทร็กใด ข้อสำคัญคือ ต้องมีการประเมินโรคอย่างต่อเนื่อง อาจไม่ต้องบ่อย แต่อย่าขาดการรักษาไปเลย เพราะโรคอาจทรุดลงต้องใช้ยามากขึ้นเมื่อไรก็ได้

14 ตุลาคม 2567

วัคซีน RSV สำหรับผู้ใหญ่

 วัคซีน RSV สำหรับผู้ใหญ่

โรคติดเชื้อไวรัส RSV respiratory syncytial virus เราอาจจะเคยได้ยินว่าทำให้เกิดปัญหาในผู้ป่วยเด็ก และมีการให้ยาชีวภาพ monoclonal antibody เพื่อป้องกันโรคในเด็กกลุ่มเสี่ยง แต่ในความเป็นจริงในผู้ใหญ่เราก็มีรายงานการติดเชื้อนี้นะครับ ที่พบน้อยเพราะเราไม่ค่อยได้ตรวจ เนื่องจากอาการไม่ได้รุนแรงและไม่มียารักษาที่เฉพาะกับโรค
แต่เช่นเดียวกับการติดเชื้อไวรัสทุกชนิด พบว่าจะมีอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้น และความรุนแรงของโรคมากขึ้นในผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยลงมาก บวกกับมีโรคร่วมอื่น ๆ ทำให้การติดเชื้อรุนแรง ผู้สูงวัยจึงเป็นกลุ่มที่ควรรับวัคซีนเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน โรคติดเชื้ออาร์เอสวีนี้ก็เช่นกัน
ตอนนี้เรามีวัคซีนอาร์เอสวีในกระบวนการพัฒนาหลายชนิดและประกาศใช้มาแล้วสองชนิด และมีการพัฒนาสูตรใหม่ adjuvant ใหม่ ทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันโรคดีขึ้น จนมีการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ เรียกว่า RSVPreF3 OA พัฒนาโดยบริษัทแกล็กโซสมิทธ์ไคลน์
** ผมขอความอนุเคราะห์เอกสารงานวิจัยฉบับเต็มมาจากบริษัทผู้จำหน่าย โดยไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ ทั้งสิ้น และบริษัทก็ไมได้มีอิทธิพลเหนือบทความแต่อย่างใด **
เรามาดูข้อแนะนำการฉีดก่อนนะครับ วัคซีนอาร์เอสวีจะฉีดให้กับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี โดยไม่ต้องตรวจวัดระดับภูมิมาก่อน ฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่งเข็มเท่านั้น
ส่วนวัคซีนชื่อการค้า arexvy ที่เป็นตัวใหม่ที่กล่าวถึง สามารถฉีดให้กับคนที่อายุ 50-59 ปีที่มีโรคประจำตัวอันทำให้เกิดความเสี่ยงโรครุนแรงได้ด้วย เป้าวัตถุประสงค์ของวัคซีน RSV คือ ลดการเจ็บป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ “ส่วนล่าง” เป็นหลักนะครับ
ผมจะมาเล่าสั้น ๆ ให้ฟังถึงการศึกษาเพื่อรับรองวัคซีนครับ การศึกษาแรกลงตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 เป็นการศึกษาใน 17 ประเทศทั่วโลกแต่ส่วนมากผู้เข้าร่วมคือ ชาวผิวขาว อายุเฉลี่ยที่ 70 ปี สุขภาพร่างกายโดยรวมไม่แย่เท่าไร จำนวน 24966 รายแบ่งเป็นฉีดวัคซีนและยาหลอกอย่างละครึ่ง ฉีดก่อนช่วงระบาดและติดตามไปอย่างน้อยหนึ่งฤดูระบาด พบว่าประสิทธิภาพวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ ”ส่วนล่าง” อยู่ที่ 82.6% ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอาหารและยา และต่างจากยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ”รุนแรง” อยู่ที่ 92% โดยผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่ต่างจากยาหลอกและมีน้อยมาก
แต่หากใครไปอ่านวิเคราะห์จะพบข้อสังเกตหลายประการในการศึกษานี้ อย่างแรกคือ อัตราการเกิดโรคค่อนข้างต่ำ (7 คนในกลุ่มวัคซีน และ 40 คนในกลุ่มยาหลอก) คนกลุ่มใหญ่ผิวขาวและอยู่ทางซีกโลกเหนือ (ซีกโลกเหนือใต้ มีผลต่อชนิดเชื้อและการระบาด)
การวิเคราะห์นี้ส่วนมากเกิดเพียง 1 ฤดูกาลระบาดเท่านั้น ต้องวิเคราะห์เร็วกว่าที่คาดจึงสามารถเกิด type I error ได้มาก ซึ่งทางผู้วิจัยได้ปรับเกณฑ์ความเชื่อมั่นจาก 95% เพิ่มเป็น 96.95% เพื่อ “ชดเชย” ทางสถิติ และการศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีน
การศึกษาที่สองลงตีพิมพ์ใน Clinical Infectious Disease เมื่อเดือนมกราคม 2024 ที่ผ่านมานี้เอง เป็นการศึกษาในกลุ่มประเทศยุโรป (ซีกโลกเหนือ) จำนวน 24967 ราย อายุเฉลี่ยสองช่วงคือ 60 ปีและ 70 ปี สุขภาพโดยรวมค่อนข้างดี นำมาศึกษาสองตอน ตอนแรกแบ่งฉีดยาหลอกและวัคซีนอย่างละครึ่ง เพื่อหาประสิทธิภาพวัคซีน ในช่วงอย่างน้อยหนึ่งฤดูระบาดหลังรับยา
ในการศึกษาตอนที่สอง นำกลุ่มที่เคยได้วัคซีนในตอนแรกมาแบ่งเป็นสองส่วน ได้วัคซีนเข็มสองอีกเข็มในอีกหนึ่งปี ส่วนอีกกลุ่มได้ยาหลอก เพื่อวัดประสิทธิภาพของเข็มสอง เรียกว่าเป็นการต่อยอดจากการศึกษาแรก ผลปรากฏว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มที่หนึ่งอยู่ที่ 67.2% และหากวัดประสิทธิภาพรวมสองเข็มจะอยู่ที่ 67.1% ส่วนการป้องกันติดเชื้อรุนแรงที่ 78% พอกัน
แต่วัดผลเพียง 1-2 ฤดูระบาดเท่านั้น ไม่ได้มีการยืนยันผลเคร่งครัดเหมือนการศึกษาแรก การศึกษานี้มีอัตราการเกิดโรคสูงกว่า (แล้วแต่ช่วงระบาด) และการศึกษานี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทใด
ก็สรุปว่า ในคนที่อายุตั้งแต่ 60 ปี การรับวัคซีนอาร์เอสวีชนิด RSVPreF3 OA ป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างได้และการติดเชื้อรุนแรงได้ดีกว่ายาหลอก และการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียวก็เพียงพอ
ทั้งนี้ยังต้องรอผลในระยะยาวที่กำลังเก็บข้อมูลต่อ ว่าการปกป้องที่มากกว่า 2 ปี จะมีประสิทธิภาพอย่างไรด้วย
น่าจะพอเข้าใจกันและเป็นข้อมูลว่าจะฉีดหรือไม่ได้นะครับ

13 ตุลาคม 2567

บันทึกประสบการณ์ : เมื่อข้าพเจ้าเป็นนิวมอเนีย … บทที่ 5 ส่งท้าย

 บันทึกประสบการณ์ : เมื่อข้าพเจ้าเป็นนิวมอเนีย … บทที่ 5 ส่งท้าย

ย้อนกลับไปอ่านตอนที่ 4
วันแห่งชัยชนะ : victory day
การดูแลรักษาสุขภาวะ ต้องดูแลให้ครบทั้ง 4 ระยะ ดังนี้
1. ป้องกันและค้นหาก่อนเกิดโรค
2. วินิจฉัยให้เร็วและครบ
3. ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคและการรักษา
4. ฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพเดิม
ความเข้าใจเรื่องการฟื้นฟูสภาพและการดำเนินโรค จะทำให้คลายกังวล วางแผนตัวเองได้ดีขึ้น
ผมคิดว่าผู้ป่วยทุกคนรับรู้และเข้าใจว่าตัวเองป่วย และสิ่งที่ทุกคนคาดหวังคือหายเร็ว ผมเองก็ไม่ต่างจากทุกคน วันรุ่งขึ้นหลังจากเริ่มยา พบว่าไม่ได้เจ็บคอรุนแรงเหมือนวันที่สอง นอนสบายขึ้น หลับได้นานขึ้น และไม่มีไข้
หลักฐานเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่า โรคดีขึ้น ผู้ป่วยสบายขึ้น แต่ในใจคนไข้ อยากจะหายเหนื่อยทันที และไม่ไอ ไม่มีเสมหะในชั่วโมงนี้ด้วยซ้ำไป
ผมเริ่มใจเย็น สงบลง ปล่อยให้ร่างกายฟื้นฟูตามธรรมชาติ ซึ่งกระแสความคิดและการปฏิบัติตัวนี้ได้รับการท้าทายตลอด จากคนรอบข้าง จากผู้ร่วมงาน
เป็นอะไรรุนแรงหรือเปล่า ?
ทำไมไม่ฉีดยา ?
หรือเป็นวัณโรค ?
เสียงทักท้วงเป็นสิ่งที่ควรฟังและระแวดระวังตัว แต่หากคุณหมอตรวจอย่างละเอียดครบถ้วน พิจารณารักษารอบคอบ หากคนไข้เข้าใจและเชื่อมั่น ขอให้ปฏิบัติตามแนวทางการรักษาต่อไป อย่าเพิ่งไขว้เขว
อย่าเพิ่งรีบปรับการรักษา เปลี่ยนยา อาจจะทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น ในโลกแห่งความเป็นจริง เกิดการเปลี่ยนยา เกิดการเปลี่ยนวินิจฉัย จากความใจร้อน (แต่ต้องไม่ประมาท)
ผมเองได้แต่ยิ้ม และบอกทุกคนว่าอาการดีขึ้นมากแล้ว ทั้งที่ยังเหนื่อยและไอ ยังใช้ชีวิตตามเดิม ปรับดื่มน้ำมากขึ้น ออกกำลังกายเบาลง
คืนนั้นสามารถนอนได้เต็มตื่น ตื่นขึ้นมาพบว่าอาการเจ็บหน้าอกลดลง เสมหะลดลง ไอลดลงมาก ตรงตามตำราว่าอาการควรดีขึ้นใน 48 ชั่วโมงหลังการรักษา
คุณ streptococcus pneumoniae ผมอยากบอกให้คุณทราบว่า ผมชนะคุณได้แล้วนะ และผมก็อยากบอกคุณว่า ชั่วชีวิตที่ผ่านมา คุณคือคู่ต่อสู้และศัตรูที่หนักหนาที่สุด ไม่เคยเหนื่อยขนาดนี้ ไม่เคยไอหนักขนาดนี้
ผมลงทุนชั่วชีวิต ในการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ วัคซีนไม่ขาด ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ขนาดเตรียมพร้อมในขั้นสูงสุด เดฟค่อนโฟร์ ยังสะบักสะบอมมาก ถ้าไม่ลงทุนขนาดนั้น ป่านนี้ผมอาจจะต้องนอนโรงพยาบาล ให้ยาทางสายน้ำเกลือ
เข้าใจสัจธรรมเลยว่า เตรียมตัวมาทั้งชีวิต เพียงเพื่อมาใช้เพื่อการเจ็บป่วยช่วงบั้นปลาย มันเป็นอย่างไร
ประสบการณ์ที่ผมถ่ายทอดให้พวกคุณฟังครั้งนี้ เป็นอุทาหรณ์ช่วยเตือนทุกคนว่า อย่าประมาทในการใช้ชีวิต หนึ่งในเทวทูตทั้งสามคือ ‘เจ็บ’ มาหาคุณได้ทุกเวลา และรุนแรงกว่าที่คุณคิด โดยเฉพาะเมื่อคุณมีเทวทูตอีกคนอยู่แล้ว คือ ‘แก่’
เชื่อผมเถอะครับ การลงทุนในสุขภาพ ไม่เคยขาดทุน ลงทุนน้อยแต่ผลตอบแทนมหาศาล ผมไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา เป็นต้นทุนที่ดีในชีวิตต่อไป
Health is Wealth

12 ตุลาคม 2567

บันทึกประสบการณ์ : เมื่อข้าพเจ้าเป็นนิวมอเนีย … บทที่ 4

 บันทึกประสบการณ์ : เมื่อข้าพเจ้าเป็นนิวมอเนีย … บทที่ 4

ย้อนอ่านบทที่ 3 ได้ที่นี่
การรักษาโรคติดเชื้อมีองค์ประกอบสามอย่าง ปัจจัยของผู้ติดเชื้อว่าแข็งแรงไหม ภูมิคุ้มกันดีไหม ปัจจัยสิ่งแวดล้อมว่าเอื้อต่อการติดเชื้อมากเพียงใด สุดท้ายคือตัวเชื้อเองว่ารุนแรงเลวร้ายหรือไม่ อดีตเรามุ่งเน้นแต่การฆ่าตัวเชื้อ แต่เมื่อวันนี้เชื้อดื้อยากันหมด แนวทางรักษาในอนาคตจะเน้นไปที่การปรับภูมิคุ้มกันหรือเสริมพลังภูมิคุ้มกัน และการปรับสภาพแวดล้อมในตัวให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการติดเชิ้อ
ปัญหาเชื้อดื้อยาเกือบทั้งหมด เกิดจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของพวกเรา
เชื้อแบคทีเรียที่พบจากกล้อง เป็นเชื้อแบคทีเรียกรัมบวก ติดสีม่วงเข้ม ตัวกลมคล้ายถั่วเขียวอยู่กันเป็นคู่ตุนาหงัน ภาษาทางวิทยาศาสตร์เราเรียกว่า diplococci ผมรู้จักนี่นา Streptococcus pneumoniae เชื้อก่อโรคปอดอักเสบที่พบมากสุดในผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันปกติ นึกสบายใจว่าเรายังอยู่ในกลุ่มคนส่วนใหญ่
ข้อมูลการดื้อยาของเชื้อกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้น แต่มักพบในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง กลุ่มมีโรคประจำตัวรุนแรง ผมคิดเข้าข้างตัวเองว่าตัวเองนั้น ไม่น่าจะบกพร่องด้านภูมิคุ้มกัน วัคซีนก็ไม่ขาด โอกาสจะเป็นเชื้อดื้อยาและรุนแรง จึงมีน้อยมาก ตัดสินใจใช้ยารักษาแบบ…ผู้ป่วยนอก
เมื่อผู้ป่วยรายใดเป็นโรคปอดอักเสบติดเชื้อ จะมีระบบคะแนนคิดความรุนแรงและแบ่งการรักษาเป็นรุนแรงในโรงพยาบาล กับไม่รุนแรงแบบไปกลับ ที่สามารถใช้ยากินได้
ผมก็เหมือนกับผู้คนทั่วไป ไม่อยากนอนโรงพยาบาล แต่ว่าผมก็มีปัจจัยที่เหนือว่าคนทั่วไปที่แอบได้เปรียบ คือ ผมสามารถติดตามอาการตัวเองได้ สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันที จึงเลือกรักษาที่บ้าน ทำกาแฟกิน ต้มจืดไข่น้ำ นั่งอ่านหนังสือ ผมชอบมากกว่านอนแกร่วอยู่บนเตียงในโรงพยาบาลแน่
ยากิน cefditoren และ clarithromycin เป็นยาสองชนิดตามแนวทางการรักษาที่ผมเลือกใช้ ที่ผมเห็นว่าหากอยู่ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดด้านตัวยา การใช้ยา amoxicilin ร่วมกับ erythromycin หรือ roxithromycin ที่แพร่หลายและหาง่ายมาก ก็ใช้ได้เช่นกัน ผมไม่มีปัญหาการดูดซึมยา ไม่มีโรคประจำตัวใด จึงเลือกใช้ยาได้ตามสบาย ยาชุดนี้สบายมากขึ้นเพราะกินยาแค่เช้าเย็นพร้อมกัน สบายชีวิตมาก
ส่วนยาอื่น ยาละลายเสมหะ ยาลดอาการไอ ยาต้านการอักเสบ ผมไม่ใช้เลย อันนี้เป็นการรักษาส่วนตัวนะครับ เวลารักษาคนไข้ ผมจะถามคนไข้เสมอว่าต้องการไหม ให้ช่วยไหม ถ้าต้องการจึงจ่ายยา ส่วนตัวผมจะใช้ยาแค่ minimally essential คือ น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพราะคิดอยู่เสมอตามที่ครูบาอาจารย์สอนกันมาว่า เวลาที่ผู้ป่วยเจ็บป่วย จะต้องรับมือกับทุกข์สองประการ คือทุกข์จากโรค และทุกข์จากการรักษา แค่เจ้าปอดอักเสบก็ทำร้ายผมมาพอควรแล้ว ขอกินยาน้อย ๆ ใช้ชีวิตสบาย ๆ ดีกว่า
อาหารเย็นวันนั้นคือ โจ๊กสำเร็จรูปใส่ไข่สองฟอง กล้วยหอมหนึ่งลูก และกาแฟหนึ่งแก้ว อย่าตกใจว่านอนตอนไหน ร่างกายผมน่าจะไม่มีตัวรับคาเฟอีนไปเสียแล้ว หรือที่เรียกว่า ดื้อ นั่นเอง ถ้าหลับในร้านกาแฟหลังดื่มกาแฟได้ คงไม่น่ามีประโยชน์อันใดจากเมล็ดหอมระเหยกลิ่นกรุ่นนี้
อาการยังเท่าเดิม ก็แน่นอน เพิ่งกินยาไป และอีกอย่างนี่คือยาฆ่าเชื้อ ไม่ใช่ยาบรรเทาอาการ !!
วันสงบศึก : post apocalyse
แม้ว่าอาการจะดีขึ้น ไม่ได้แน่นจมูกและเสมหะเยอะเช่นวันแรก แต่อาการเหนื่อยยังคงอยู่ เจ็บหน้าอกยังคงอยู่ เสมหะไม่มากแต่เริ่มข้นเหนียว พร้อมกับเสียงที่เปลี่ยนจากการไออย่างต่อเนื่องรุนแรงมาหลายวัน สภาพร่างกายเช่นนี้ยากนักที่ผู้ป่วยที่ต้องการมารักษาจะเชื่อถือ ผมจึงลาหยุดเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย
หวนคิดถึงครั้งเคยป่วยเป็นหวัดครั้งหนึ่ง ที่ตัวเองไม่รู้ตัวเลย แต่คนที่บอกให้ทราบคือผู้ป่วย เมื่อผมคลำท้องผู้ป่วยรายหนึ่ง ก่อนที่จะได้รับคำตอบว่าเจ็บหรือไม่ ผู้ป่วยกลับชิงถามกลับมาก่อนเลยว่า คุณหมอมีไข้ตัวร้อนมากเลยนะครับ !!
การฟื้นฟูสภาพเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษามากครับ โดยทั่วไปจะให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่พอทำได้ให้เหมือนเดิม ผมเองก็ทำแบบนั้น ทำเหมือนเดิมอย่างนั้นรึ ได้เลย
กิจวัตรยามว่าง และเวลาที่ผมตึงเครียด ต้องใช้ความคิด สิ่งที่ผมเลือกใช้คือการทำงานบ้าน มันทำให้ใจสงบ คิดอะไรได้ดี จึงเริ่มลงมือ เปลี่ยนชุดเป็นชุดออกกำลังกาย ใส่หน้ากากอนามัย คาดกระเป๋าที่เอวเพื่อใส่โทรศัพท์และกระดาษทิชชู เลือกรายการเพลงที่จะใช้ ผมเป็นคนชอบฟังดนตรีแจ๊ส เลือกเพลงบรรเลงร่วมสมัยแล้วเริ่มงาน
คงไม่สามารถเล่ารายละเอียดในแต่ละงานได้ แต่ขอสรุปแบบนี้ ปัดฝุ่น กวาดพื้น เช็ดกระจก ล้างมุ้งลวด เช็ดพื้น ขัดห้องน้ำ เช็ดจาน ล้างรถ …โอ ทำมากกว่าตอนสบายดีเสียอีก เครียดก็แบบนี้ ต้องหาทางระบายออก
ทำแล้วเหนื่อยไหม เหนื่อยกว่าเดิม ทำแล้วไอไหม ไอเท่าเดิม มีไข้ไหม ไม่มี สั่งน้ำมูกขับเสมหะไหม ก็ขับตลอด สั่งออกตลอด
แล้วจะทำไปเพื่อเหตุใด
วันแห่งชัยชนะ : victory day
(โปรดติดตามตอนต่อไป บทส่งท้าย)
See insights and ads
Boost
All reactions:
211

11 ตุลาคม 2567

บันทึกประสบการณ์ : เมื่อข้าพเจ้าเป็นนิวมอเนีย ... บทที่ 3

 บันทึกประสบการณ์ : เมื่อข้าพเจ้าเป็นนิวมอเนีย ... บทที่ 3

ย้อนกลับไปอ่านบทที่ 2 https://www.facebook.com/100068439352470/posts/838968551727782/
วันวินิจฉัย : The Judgement Day
การวินิจฉัยทางการแพทย์ คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์โอกาสความน่าจะเป็น โดยตั้งต้นที่ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง คิดถึงโรคที่เป็นไปได้จากปัญหานั้น แล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาปะติดปะต่อ เพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านโอกาสการเกิดโรคต่าง ๆ
และหากการวินิจฉัยจากประวัติและการตรวจร่างกายยังไม่เป็นข้อสรุป อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพื่อสนับสนุนหรือโต้แย้งสมมติฐานดังกล่าว
เช้าวันที่สามของอาการ ผมตื่นมาด้วยอาการไข้ต่ำ ๆ ไอมีเสมหะ เหนื่อยมากขึ้นในขณะทำงานแบบเดิม ผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคใดจะอ่อนเพลียครับ ไม่ใช่ว่าร่างกายอ่อนแอ ไม่ใช่ว่าโรครุนแรง แต่คุณต้องใช้พลังงานมหาศาลในการรักษาสภาพร่างกายให้เป็นปกติ แถมยังอ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่พอ ผู้ป่วยส่วนมากจึงนอนทั้งวัน ไม่ต้องกินก็ได้
ในเช้าวันนี้ สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ ผมเจ็บหน้าอกด้านขวา เจ็บแปลบตรงชายโครงเวลาหายใจเข้าลึก ๆ และเวลาไอรุนแรง เอามือกดซี่โครงก็รู้สึกตึง ๆ ผมมั่นใจว่าสิ่งที่เกิดคือ pleuritic pain อาการเจ็บอันเกิดจากปอดอักเสบติดเชื้อนั้น ขยายอาณาเขตไปรุกล้ำเยื่อหุ้มปอด (pleura = เยื่อหุ้มปอด)
แล้วสเต็ตโตสโคปก็เข้ามาอยู่ในมือ การฟังปอดตัวเองคือการเข้าข้างตัวเองอย่างไม่น่าอภัย คุณจะ 'ได้ยิน' เสียงที่คุณ 'คาดหวัง' เสมอ เรียกว่าหลอนระดับหนึ่ง แต่ผมก็ฟัง และได้ยินเสียงที่ไม่อยากได้ยิน ใช่แล้ว ผมได้ยินเสียงกรอบแกรบ ที่ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า crepitation ตรงจุดที่เจ็บหน้าอกนั่นแหละ
ปกติปอดและหลอดลมของเรา เสียงลมจะโล่ง ๆ เหมือนยืนอยู่ในท่อลมขนาดยักษ์ แต่เมื่อมีปอดอักเสบติดเชื้อ บรรดาสารคัดหลั่ง สารอักเสบ ซากศพทหารและเชื้อโรค จะท่วมท้นหลอดลมถุงลม เรียกการแปรสภาพนี้ว่า hepatization ปอดแปลงร่างกลายเป็นตับ มันจะมีความทึบ เสียงลมจะเบาลง ลมต้องแทรกสารน้ำเป็นฟองนัำดังปุ๋ง ๆ ซึ่งคือเสียง crepitation นี้เอง ถ้าเคาะปอดก็จะทึบเหมือนตับ
ครับ..ตอนนี้ปอดขวาล่างของผมได้กลายสภาพเป็นตับไปเรียบร้อย
ในใจคิดว่าน่าจะครบถ้วนการวินิจฉัยแล้ว ในที่สุดเราก็ไม่รอด ถึงวัยของปอดอักเสบติดเชื้อ โรคที่ถือว่าเป็นเพื่อนของวัยชรา และคิดว่าจะกินยารักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก ผมเป็นคนไม่ชอบนอนที่อื่น ถ้ารักษาอยู่บ้านได้คือพรอันวิเศษ และจะวิเศษมากหากใช้ยากินได้ คุณน่าจะรู้ดี อาการกลัวเข็มฉีดยา ไม่ชอบโดนจิ้ม มันจะสั่งสมองเราเสมอว่า มียากินไหม
ผมพยายามฝืนให้ตัวเองดูเป็นปกติ เพื่อเดินอย่างสง่าผ่าเผยไปยังห้องตรวจรังสี ซึ่งมันก็ไม่น่าจะปกติ เพราะไอตลอดเวลา เดินก็เหนื่อย อยากเห็นภาพเอ็กซเรย์ปอดตัวเอง ว่าเมื่อตัวเองปอดติดเชื้อจะเป็นอย่างไร ในทางปฏิบัติหากคุณหมออยู่ในสถานที่ทำเอ็กซเรย์ไม่ได้ อาจให้การรักษาแล้วติดตามผล จะทำเอ็กซเรย์หากอาการไม่ดีขึ้นหรือสงสัยโรคอื่นด้วย อาการไม่ดีขึ้นอาจหมายถึงน้ำขังในเยื่อหุ้มปอด ที่ต้องเจาะระบาย
แล้วภาพก็มาปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ ปอดขวาล่างของผมมีเงาสีขาว ๆ เป็นริ้ว ๆ ชิดขอบเยื่อหุ้มปอด ไม่มีน้ำขัง ไม่มีจุดผิดปกติอย่างอื่น เป็นการยืนยันที่ชัดเจน ครบเกณฑ์ประวัติ ตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์ปอด สรุปได้เลยว่าผมเป็นโรคปอดอักเสบติดเชื้อจากชุมชน (community acquired pneumonia) ที่เป็นโรคติดเชื้อแต่ไม่ใช่ โรคติดต่อ เพราะเป็นการติดเชื้อจากเชื้อในปอดของเราเอง
อดีตกาลเราเชื่อว่าเชื้อแบคทีเรียค่อย ๆ เลื้อยลงมาจากลำคอมาที่ปอดตามหลอดลมที่กระจายตามปอดกลีบต่าง ๆ เป็นสาเหตุการติดเชื้อ
แต่ปัจจุบันเราค้นพบแล้วว่าปอดของเรามีแบคทีเรียเจ้าถิ่นอยู่แล้ว (lung microbiota) เมื่อมีการติดเชื้อไวรัส จะทำให้แบคทีเรียประจำถิ่นเกิดไปอยู่ต่างถิ่น กระจายเข้าส่วนที่ไม่ควรจะอยู่อาศัยและก่อโรค บรรดาเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เคยอนุญาตให้ถือสิทธิอยู่อาศัยก็จะทวงสิทธิ์ เข้าโจมตีทำให้เกิดปอดอักเสบนี่แหละครับ
และไวรัสตัวการตัวหลักที่ทำให้เกิดปอดติดเชื้อ ก็คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จึงสามารถลดปอดอักเสบโดยรวมได้ด้วยนั่นเอง
ยังไม่พอ เนื่องจากเป็นการป่วยโรคปอดอักเสบติดเชื้อครั้งแรกในชีวิต ถึงจะเคยรักษาโรคนี้มาเป็นร้อย จึงถือโอกาสนี้ทำเสมือนว่าผมเป็นผู้ป่วยที่ผมสั่งการรักษาเองและนี่คือสาเหตุของกล่องพลาสติกใส่เหรียญขนาดเล็กในมือ ที่ตอนนี้กลายสภาพเป็นกล่องเก็บเสมหะสีเขียวอื๋อเก็บมาได้เมื่อเช้านี้
การเก็บเสมหะไม่ได้ยุ่งยากมากนัก เรียกว่าเลือกได้เลยจะดีกว่า เพราะเยอะมากจริง ๆ ผมใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวเก็บมาตรวจ รู้มาพอสมควรว่าใช้ปริมาณไม่มาก แต่นี่เก็บมาเกือบเต็ม ห่อกล่องด้วยกระดาษทิชชู่ ใส่ถุงซิบล็อกมา ไม่ได้กลัวว่ามันจะหนีไปจนหาตัวไม่เจอ แต่กลัวว่าจะมีเชื้ออื่นตกลงไป แล้วไปเจอเชื้ออื่นพาลคิดว่าเป็นเชื้อก่อโรคต่างหาก
ผมทำแค่ย้อมเชื้อดูชนิดเท่านั้น ไม่ได้ส่งเพาะเชื้อตามขั้นตอนมาตรฐาน เพราะคิดว่าโอกาสเชื้อดื้อยาไม่มาก อันเป็นความประมาทนะครับ ควรส่งเพาะเชื้อทุกครั้งหากไม่ติดขัดปัญหาใด เพราะสามารถนำมาใช้ปรับยาให้ไวต่อเชื้อ หรือใครจะรู้คุณอาจเป็นผู้โชคร้าย ติดเชื้อดื้อยาตั้งแต่ต้น หรือโชคร้ายกว่านั้น ไปเจอเชื้อก่อโรคอื่นที่ซับซ้อนกว่าแบคทีเรีย
ผมปรับกล้องจุลทรรศน์อย่างตื่นเต้น มันก็น่าตื่นเต้นพอสมควร เมื่อเป็นผู้ป่วยเอง นำส่งสิ่งส่งตรวจเอง และกำลังจะดูหน้าศัตรูหมายเลขหนึ่งในเวลานี้ด้วยตัวเอง พร้อมกับคิดว่าหากเรารู้จักกันแล้ว ผมจะโค่นคุณลงได้ไหม หลังจากที่คุณโจมตีเล่นงานผมอย่างหนักมา 60 ชั่วโมงแล้ว
ส่องไปประมาณสามวงรอบพื้นที่ตรวจ ผมเจอเม็ดเลือดขาวของตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับกลุ่มแบคทีเรียที่ประเมินแล้วว่านี่คือผู้ก่อการร้าย ซึ่งเขาก็คือ...
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

10 ตุลาคม 2567

บันทึกประสบการณ์ : เมื่อข้าพเจ้าเป็นนิวมอเนีย ... บทที่ 2

 บันทึกประสบการณ์ : เมื่อข้าพเจ้าเป็นนิวมอเนีย ... บทที่ 2

ย้อนอ่านบทที่ 1 ได้ที่นี่
กลางดึกคืนนั้น หนึ่งวันก่อนการวินิจฉัย
ผมรู้สึกตัวกลางดึก ไม่ใช่ว่ามีอะไรมาสะกิดหรอกครับ แต่รู้สึกแน่นจมูกและมีน้ำมูกไหล จนหายใจติดขัดและรู้สึกเปียกชื้นที่ริมฝีปาก เมื่อตื่นขึ้นมาก็เจ็บคอมาก ถึงตอนนี้ผมเริ่มมั่นใจแล้วว่า ตัวเองน่าจะเป็นโรคติดเชื้อ เรียกว่าปฏิกิริยาของการอักเสบมากขึ้นไปเรื่อย ๆ
ผมรู้สึกไปเองว่าตัวอุ่น คราวนี้ไปวัดไข้ครับ 37.8 องศาเซลเซียส คราวนี้ยอมรับตัวเองแล้ว ไข้ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดเมื่อยครั่นเนื้อครั่นตัว อาการเฉียบพลันในสองวัน ผมน่าจะติดเชื้อเข้าแล้ว
อ้าปากดูคอตัวเอง ส่องไฟฉาย พบว่าในปากและหลังคอบวมแดงเพียงเล็กน้อย ไม่มีจุดหนอง พยายามคลำต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอตัวเอง ต้องบอกว่าเพื่อน ๆ หมออย่าทำเลย จะเข้าข้างตัวเองว่าต่อมไม่โต แต่ผมก็คลำไม่พบ
ใช่แล้วผมกำลังหาหลักฐานตัวเองมาดูว่า ที่เราป่วย เป็นการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียทางเดินหายใจส่วนบนกันแน่ จะได้พิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ตามเกณฑ์การวินิจฉัยติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอแบบง่ายที่เรียกว่า Modified CENTOR criteria แต่ปรากฏว่าน่าจะเอียงไปทางเชื้อไวรัส
คืนนั้นผมล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ กินยาเม็ดพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม หนึ่งเม็ด (ผมจะใช้ยาพาราเซตามอลขนาดต่ำก่อน ถ้าไม่ได้ผลจึงปรับตามน้ำหนักตัว) ปรับเอาหมอนมากองรวมกันที่หัวนอน แล้วนอนยกหัวเอียงสูงระดับ 40-45 องศาเลย เวลานอนหัวสูงมันหายใจโล่งขึ้น น่าจะเกิดจากสารคัดหลั่งไหลลงตามแรงโน้มถ่วงโลก และผ่านพ้นคืนนั้นไปได้อย่างกระสับกระส่ายและง่วงซึม
หนึ่งวันก่อนการวินิจฉัย : สงครามเริ่มกำเนิด
นับเวลามาประมาณชั่วโมงที่ 48 หลังจากเริ่มผิดปกติ ตื่นเช้ามาก็ตรวจสอบอาการตัวเองก่อน วัดอุณหภูมิกายได้ 37.6 องศาเซลเซียส ยังมีอาการเจ็บคอ หายใจขัด คัดจมูก และที่เริ่มมากขึ้นคือ เสมหะ .. สารคัดหลั่งที่เหนียวข้น สีเหลือง ออกมามากทีเดียว เรียกว่าไอแต่ละครั้ง เสมหะก็ออกมาโดยไม่ต้องออกแรงขาก ไม่ต้องสั่งน้ำมูก
ผมเริ่มมั่นใจว่าเราป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจแน่นอน การที่ไอมีเสมหะมาก โรคอาจจะเกิดที่ไซนัส โรคอาจจะเกิดที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างก็ได้ และสีเสมหะก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าจะติดเชื้ออะไร
เราควรตรวจแล้วล่ะ
หากใครไม่มีทรัพยากรและความเข้าใจ ผมแนะนำให้ไปตรวจที่สถานพยาบาลนะครับ แต่เนื่องจากผมเปิดคลินิกส่วนตัว อุปกรณ์เหล่านี้จึงพร้อมใช้เสมอ ผมตัดสินใจที่จะตรวจไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 โดยวิธีการตรวจ nasal swab เพราะมีอาการมาไม่เกิน 48 ชั่วโมง หากป่วยจริงน่าจะยังมีประโยชน์จากการรักษาด้วยยาต้านไวรัส เพราะเราก็มีอาการพอควร อายุอานามก็ไม่น้อย
ระยะเวลาภายใน 48 ชั่วโมงและมีอาการแบบนี้ การตรวจ nasal swab พอเชื่อถือได้ คงไม่ต้องถึงขั้นตรวจนับสารพันธุกรรม ทุกคนคงเคยตรวจด้วยตัวเอง เป็นการตรวจที่เสียวไส้มากเลย แหย่-แยง-ทะลวง-ควง-หมุน เล่นเอาน้ำหูน้ำตาทะลัก เช่นเคย เมื่อหยอดตัวอย่างลงหลุมทดสอบ ผมก็ไปชงกาแฟดื่มรอ นึกในใจขอให้ไม่เป็น เพราะไม่อยากเก็บตัว อยากออกไปลั้นลาตามประสาชายชราหน้าหนุ่ม
ผลการตรวจออกมาว่าไม่พบเชื้อ คราวนี้ผยองมากเลย น่าจะเป็นไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง ที่ไม่มียาเฉพาะเจาะจงต้องรักษา และแน่นอนว่าแค่ประคับประคองอาการมันก็หายเองได้
ผมขโมยน้ำเกลือล้างจมูกจากคลินิกไปหนึ่งขวด แล้วขับรถไปตลาด …ใช่แล้วตลาด ผู้ป่วยไปตลาด
ขิงแก่หนึ่งถุง น้ำตาลทรายแดงหนึ่งถุง มะนาวห้าลูก ชาจีนอีกหนึ่งกล่อง นี่คือโอสถวิเศษของผมเพื่อทำน้ำขิงต้ม ชาน้ำขิง จิบเพื่อชุ่มคอ ขับเสมหะ เป็นสูตรสมุนไพรที่ใช้ประจำ ทำแบบใจเย็นมาก ไม่ค่อยกังวลแล้วเพราะคิดว่าคงเป็นไวรัสหวัดที่หายเอง จนหลงลืม…อาการไอที่มีเสมหะปริมาณมากไปเสียสนิท
ในทางการแพทย์หากเราไม่รวบรวมปัญหาสำคัญ (probelm list) ให้ครบถ้วน เราอาจวินิจฉัยผิดพลาดได้
แต่ผมก็ยังไม่ได้ต้มน้ำขิง กลับมาถึงบ้านก็หลับไปด้วยความอ่อนเพลีย การที่ไอและคัดจมูกตลอดคืน ทำให้นอนไม่สนิท ส่งผลทำให้ง่วง เหนื่อย และมานึกย้อนหลัง สิ่งที่เกิดน่าจะเป็นเพราะเริ่มเหนื่อย ทำให้ทำกิจวัตรเดิม เท่าเดิม แต่ต้องออกแรงมากขึ้นจนอ่อนเพลีย แต่ก็ไม่ได้มานั่งนับว่าตัวเองหายใจกี่ครั้งต่อนาที หายใจเร็วไหม แรงไหม ใช้กล้ามเนื้อคอช่วยหายใจไหม แต่เอ ถ้าขนาดนั้นก็น่าจะเหนื่อยรุนแรง (dyspnea) เราน่าจะเหนื่อยจริงแต่ไม่รุนแรง
อาการเหนื่อยมาชัดมากขึ้นในช่วงบ่ายที่กำลังต้มขิง รู้สึกว่าทำงานเท่าเดิมแต่ทำไมเหนื่อยขึ้น บวกกับเสมหะก็ยังออกมาไม่หยุด วินาทีนี้เริ่มคิดรวบรวม ไข้สองวัน อ่อนเพลีย เหนื่อยมากขึ้น ไอมีเสมหะมาก อาการเหมือนปอดอักเสบติดเชื้อ (pneumonia)
ปอดอักเสบติดเชื้อจากชุมชน (community acquired pneumonia) นับเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างในผู้ใหญ่ที่พบมากสุด ผมเองรักษาโรคนี้มานับไม่ถ้วน ท่องเกณฑ์ต่าง ๆ และวิธีการรักษาจนอยู่ในระบบอัตโนมัติของกล้ามเนื้อและไขสันหลังแล้ว คิดอยู่เสมอว่าเป็นโรคของผู้สูงวัย เราคงไม่เป็นโรคนี้หรือเราสูงวัยไปแล้วนะ
คืนนั้นผ่านไปไม่ราบรื่น เพราะไอ ตื่นบ่อย ซึ่งผมก็ยังทำตัวแย่ โดยการเล่น the legend of zelda : echoes of wisdom จนดึกดื่น
วันวินิจฉัย : The Judgement Day
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

บทความที่ได้รับความนิยม