10 พฤษภาคม 2566

เรื่องเล่าจากคลินิก : บวมจากยา

 เรื่องเล่าจากคลินิก : บวมจากยา

ผู้ป่วยรายหนึ่งโทรมานัดเพื่อรับคำปรึกษาเรื่องอาการบวม ผู้ป่วยท่านนี้มาจากต่างอำเภอ จึงนัดเป็นคิวแรกจะได้เสร็จเร็วกลับบ้านไม่ค่ำ
สรุปเรื่องราวเป็นดังนี้ ผู้ป่วยรายนี้ป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ยังควบคุมโรคไม่ได้ดีนัก คุณหมอปรับยาให้หลายครั้ง ล่าสุดคุณหมอเพิ่มยาลดความดัน amlodipine ในขนาด 5 มิลลิกรัม วัลนะสองเม็ด ผู้ป่วยสังเกตเห็นอาการบวมที่หลังเท้า "บ่อยขึ้นและมากขึ้นกว่าเดิม" จึงไปพบแพทย์อีกท่านในอีกโรงพยาบาล
คุณหมอให้หยุดยา amlodipine และแจ้งว่าเป็นยาที่ทำให้บวม และนัดมาปรับยาความดันใหม่ หลังจากหยุดยาไปสิบวัน อาการบวมลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ความดันโลหิตเริ่มสูงขึ้น จึงมาปรึกษาผมที่คลินิก
ผมร้องขอให้นำประวัติ สมุดเบาหวานและยาทั้งหมดทั้งสิ้นมาด้วย เมื่อคนไข้มาถึง เรากางสมุด จัดเรียงยาบนโต๊ะตามลำดับ แล้วให้ผู้ป่วยเล่าให้ฟังตั้งแต่เริ่ม
ลุงหมอ : คุณพี่มีอาการบวมมาสักพักแล้วนี่ครับ แต่ทำไมเพิ่งมาหาหมอตอนที่ได้รับยา amlodipine นี่หล่ะครับ
คุณพี่ : ก่อนหน้านี้มันก็บวมอยู่บ้างครับ ไม่รำคาญอะไร แต่พอได้ยาตัวนี้มันบวมขึ้นและอ่านฉลากยาเขาเขียนไว้ว่า "อาจมีอาการบวมที่หลังเท้า" ผมจึงนำยานี้ไปหาหมอว่ามันเกิดจากยาไหม
ลุงหมอ : แล้วตอนที่คุณพี่ไปหาหมอคนใหม่ คุณพี่ไปถามเขาว่าอะไร
ประโยคนี้คือกุญแจขอเรื่องนี้ทั้งหมด " ผมไปถามหมอว่า ผมเพิ่งได้รับยาลดความดันตัวนี้มาใหม่ กินแล้วมีอาการเท้าบวม สงสัยว่าเกิดจากยานี้ ใช่หรือเปล่าครับคุณหมอ"
คุณหมอท่านที่สองตอบว่า เป็นไปได้ ให้หยุดยาแล้วติดตามอาการดู ซึ่งก็เป็นวิธีที่ดีและใช้กันเป็นมาตรฐาน แต่…คนไข้ไม่ได้บอกว่ามีโรคประจำตัวอย่างอื่นหรือไม่ และ คุณหมอก็ไม่ได้ถามถึงยาอื่น
แล้วทำไมไม่ยุบบวม ประวัติและตรวจร่างกายอื่นยังไม่คิดถึงเหตุอื่น ค่าการทำงานของไตก็ดี แต่ยาตรงข้างหน้าผม มันมีคำตอบซ่อนอยู่ กองตรงหน้ามียาฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์นานปานกลาง ยากินเม็ตฟอร์มิน และยาเบาหวาน piogitazone ในขนาด 45 มิลลิกรัมต่อวัน
ครับ ..ที่ผู้ป่วยมีอาการบวมอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากยา pioglitazone ที่อาการบวมจะยิ่งชัดหากใช้ยานี้ร่วมกับยาฉีดอินซูลิน แต่ว่าไม่มีฉลากยาเขียนว่า ยานี้ทำให้บวม และผู้ป่วยไม่ได้รับคำแนะนำว่าระวังการใช้ยานี้ร่วมกับอินซูลิน ผู้ป่วยจึงไม่เคยคิดว่าเกิดจากยา แต่เมื่อมาได้รับยา amlodipine ที่มีผลทำให้เท้าบวม จึงบวมมากขึ้น และเมื่อมีฉลากเขียนว่า "อาจมีอาการบวมที่หลังเท้า" คุณพี่จึงฉุกใจคิดแล้วหาหมอ (อีกท่าน)
ผมถามย้ำอีกครั้ง : คุณพี่ได้เอายาเบาหวานให้คุณหมอดูไหมครับ
คำตอบที่ได้คือ ไม่ได้เอาให้ดู คุณหมอก็ไม่ได้ถาม หลังจากที่คนไข้ยื่น amlodipine พร้อมบอกว่า ขาบวม
ครับ ..อาการบวมมีได้หลายเหตุ และก็มียาหลายตัวทำให้บวม และไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากยาเพียงตัวเดียวในกรรมและวาระเดียวนี้ เมื่อคุณหมอได้รับข้อมูลที่เป็น bias ซึ่งเป็น bias ที่พบบ่อยมากเสียด้วย จึงพลาดการประเมินยาตัวอื่น ประวัตืการบวมเดิม
อีกประการคำแนะนำปัจจุบัน แนะนำว่าไม่ควรใช้ pioglitazone คู่กับ insulin เพราะอาจจะบวม หรืออาจทำให้น้ำในหลอดเลือดคั่งได้ … พอคำแนะนำเป็นแบบนี้ ทำให้คุณหมออาจจะว่าคงไม่มีการจ่ายยาแบบนี้คู่กันอีก ซึ่งพอถามคุณพี่ คำตอบที่ได้คือ คุณหมอที่จ่ายยาสองตัวนี้เป็นคนละคนและคนละครั้งต่างกัน
สุดท้ายจึงต้องปรับยา ล้างกระดาน จัดให้ใช้ยาน้อยสุด บริหารยาง่ายสุด น้อยครั้งที่สุด และตรวจสอบปฏิกิริยาและผลข้างเคียงของยาอีกครั้งแล้วนัดมาติดตามผล
สรุปว่ายุบบวมหมดแล้วนะครับ เหลือแต่บวมเล็กน้อยเวลานั่งห้อยเท้านาน ๆ เท่านั้น
ประวัติยาและการทำ medical reconcilation ยังเป็นวิธีที่ง่าย เร็ว ประหยัด และประสิทธิภาพสูงอยู่เสมอครับ
No photo description available.
See insights and ads
Boost post
All reactions:
566

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม