เมื่อตอนที่แล้วเราได้รู้จักไข้ไทฟอยด์ enteric fever ว่าทำไมถึงเรียกชื่อนี้ เพราะมันมีปัญหาที่ลำไส้เป็นหลัก คราวนี้เรามารู้จักซัลโมเนลล่าอีกชนิดที่ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่มากของซัลโมเนลล่า เรียกว่า ซัลโมเนลล่าที่ไม่ใช่ไทฟอยด์ (แหม..เรียกง่ายดีจริง)
ความสำคัญของซัลโมเนลล่าชนิดนี้คือมันไม่ได้มีแหล่งโรคเฉพาะคนเท่านั้น ไม่เหมือนไทฟอยด์ (S.typhi, S.paratyphi) เราพบในสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์อีกหลายชนิดเช่นไข่และนม ถ้าใครเคยอ่านประกาศของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ ในหนังจะเรียกเท่ ๆ ว่า ซีดีซี จะพบการประกาศการระบาดของซัลโมเนลล่าที่ตรวจพบในอาหารอยู่เป็นระยะ ในซีเอ็นเอ็นมักจะใช้คำว่า ปนเปื้อน (contaminated) แต่ความเป็นจริงแล้วเชื้อมันก็อยู่ในสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์อยู่แล้ว อาจจะมีบางสายการผลิตที่มีเชื้อหลงเหลือมาบ้าง แต่การหลงเหลือที่เกิดปัญหานี้เพราะระบบการขนส่งหรือการเก็บอาหารที่มาเก็บรวมกันจึงเกิดการกระจายเชื้อและการระบาด
การระบาดในปศุสัตว์เป็นสิ่งสำคัญเพราะการควบคุมทำได้ยากมาก เราไม่สามารถไปควบคุมการระบาดในสัตว์ได้ดีนัก แถมการใช้ยาฆ่าเชื้อในสัตว์ก็สร้างเชื้อดื้อยา โดยเฉพาะเจ้าเชื้อซัลโมเนลล่าที่มีวิวัฒนาการมาอย่างดี เมื่อกว่าร้อยปีก่อนเชื้อซัลโมเนลล่าในสัตว์ตอบสนองดีต่อยาฆ่าเชื้อพื้นฐานยุคเก่าเช่นยาซัลโฟนาไมด์ ยาแอมปลิซิลิน แต่เมื่อธุรกิจอาหารเติบโต ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ย่อมไม่เสี่ยงกับโรคระบาดจึงเกิดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์อย่างมากมาย จนเชื้อซัลโมเนลล่าในยุคปัจจุบัน ไม่สามารถใช้ยาซัลฟา ไม่สามารถใช้ยาแอมปลิซิลิน
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาในสัตว์หรือการใช้ยาในคนอย่างมากมายและพร่ำเพรื่อ ขณะนี้ยามาตรฐานที่เคยใช้รักษาซัลโมเนลล่าได้ดีมากคือ ยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน โดยเฉพาะยาซิโปรฟล็อกซาซิน แทบจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป และที่แย่กว่านั้นขณะนี้เชื้อโรคที่ระบาดอยู่ ได้รับการถ่ายทอดยีนดื้อยามาจากรุ่นพ่อแม่ปู่ย่า ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านทางพันธุกรรม เชื้อโรคที่เกิดใหม่ในยุคปัจจุบันจึงเกิดมาพร้อมความสามารถทนทานต่อยาฆ่าเชื้อในยุคปัจจุบันนี้แล้ว
เจ้าเชื้อ ซัลโมเนลล่าที่ไม่ใช่ไทฟอยด์ ขอเรียกว่า non typhoidal salmonella (NTS) มันไม่มีตัวรับจับเฉพาะกับเซลล์ที่อยู่ในเนื้อเยื่อน้ำเหลือง อยู่ใน Peyer's patch รวมทั้งไม่สามารถอาศัยคนเป็นแหล่งโรคแหล่งเพาะเชื้อได้ เวลาเราติดเชื้อพวกนี้เข้าไป อาการจะเป็นอาการเฉียบพลันและหายเองได้ เหมือนกับเชื้อโรคที่มาเยี่ยมเยือนและจากไป ไม่ได้หวังทำลายหนักและยึดเป็นที่ทำการเหมือนอย่างไข้ไทฟอยด์
เนื่องจากการติดเชื้อมาจากการปนเปื้อนของสัตว์ อาหาร อาการหลักคืออาหารเป็นพิษ ถ่ายเหลว อาจมีไข้ต่ำ ๆ อุจจาระมีมูกเลือดปนและหายเองในสามถึงสี่วัน เราสามารถเพาะเชื้อแบคทีเรียเจอเชื้อซัลโมเนลล่าได้ในระยะนี้ ตามกลไกและหลักการแล้วเชื้อโรคจะหลุดออกไปและตายไปเองด้วยกลไกการป้องกันของร่างกายและไม่จำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อ อันนี้ต่างจากไข้ไทฟอยด์ที่ต้องให้ยาฆ่าเชื้อเพราะเป็นเชื้อก่อโรคในคนโดยตรง
แต่สำหรับคนที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่ดีหรือการติดเชื้อ NTS ไม่ได้อยู่แค่ในทางเดินอาหาร หากหลุดเข้ากระแสเลือดอาจไปก่อโรคได้ในหลาย ๆ อวัยวะโดยเฉพาะผนังหลอดเลือด ลิ้นหัวใจ ในกรณีหลังนี้ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ ต้องจับตัวเชื้อให้ได้เพื่อนำมาเพาะเชื้อและพิสูจน์ความไวการตอบสนองต่อยา
ปัจจุบันนี้ประเทศที่มีตัวเลขการดื้อยาสูงเช่นประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่แนะนำให้ใช้ ciprofloxacin รักษาเชื้อซัลโมเนลล่าแล้ว ยกเว้นเพาะเชื้อได้และพิสูจน์ได้ว่าไม่ดื้อยา เราใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม 3rd generation cephalosporins หรือยา azithromycin ในการรักษา ข้อดีอีกอย่างของยา 3rd generation cephalosporins โดยเฉพาะ ceftriaxone คือมันมีระดับยาในระบบน้ำดีและถุงน้ำดีสูง สามารถกำจัดเชื้อในระบบทางเดินน้ำดีได้มีประสิทธิภาพมาก น้ำดีและถุงน้ำดีถิ่นที่อยู่สำคัญของเชื้อไข้ไทฟอยด์
เชื้อไทฟอยด์สามารถวนเวียนเจริญเติบโตอยู่ในตัวคนได้ เหมือนกับเชื้อ NTS ที่วนเวียนเจริญเติบโตในตัวสัตว์ได้เช่นกัน ในคนเชื่อว่าอยู่ที่ Peyer's patch ระบบน้ำเหลือง และไหลวนในระบบทางเดินอาหารทางเดินน้ำดี สามารถแพร่กระจายเชื้อออกทางอุจจาระ
ใจเย็น ๆ ไม่ได้หมายความว่าอุจจาระจะเข้าปากแล้วติดต่อกัน แต่อาจปนเปื้อนอุจจาระจากการสัมผัส การล้างมือ เช่นคนที่เข้าห้องน้ำ ถ่ายอุจจาระ เช็ดก้น ไม่ได้ล้างมือ เปิดประตู เชื้อไปที่ลูกบิดประตู คนมาสัมผัสลูกบิดประตูติดเชื้อไป ออกไปหยิบอาหารกินเข้าปากก็โป๊ะเช้ะติดเชื้อ ในยุคที่การจัดสุขอนามัยห้องน้ำห้องส้วม การบำบัดน้ำเสียทำได้ดี ก็จะติดแบบนี้เอง เห็นไหมว่าการล้างมือเป็นประจำมีความสำคัญมาก ทั้งก่อนและหลังอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ใช้แค่สบู่ธรรมดา แต่ต้องล้างให้สะอาดตามวิธีการล้างมือทั้งเจ็ดขั้นตอน
NTS สามารถอยู่ในสัตว์ได้หลายอย่าง สัตว์ที่มีปัญหาติดเชื้อมาก ๆ คือสัตว์ปีก เพราะเชื้อสามารถอยู่ในระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ปีก เป็นที่มาของการระบาดของซัลโมเนลล่าที่พบในไข่ไก่ เคยมีการระบาดจากสัตว์เลื้อยคลานอีกัวน่าด้วย สัตว์บกเช่นสุกร วัว ก็สามารถติดเชื้อซัลโมเนลล่า NTS และหากคนเราไปสัมผัสเชื้อก็จะติดมาและเกิดโรคเช่นกัน
สุขอนามัยที่ดี การล้างมือ ไม่กินอาหารไม่สะอาด ปรุงอาหารสุก หากทำอาชีพปศุสัตว์หรือขายอาหาร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ก็ต้องติดตามและปฏิบัติตามคำแนะนำทางการ อย่าใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ นอกจากเชื้อจะดื้อยาแล้ว ยังอาจเกิดภาวะ พาหะนำโรค ขอบอกว่าคนที่เป็นพาหะจะสุขภาพดี ไม่ป่วยแต่แพร่กระจายโรคได้
เรื่องการเป็นพาหะโรคซัลโมเนลล่า เรื่องนี้น่าสนุก และเป็นที่มาของคำว่า Typhoid Mary ที่แปลว่า เป็นคน หรือสัตว์ หรือเหตุการณ์ต้นเหตุของการแพร่สิ่งที่ไม่ดี ทำไมถึงเรียกว่า Typhoid Mary มันมีความสำคัญอย่างไรกับไทฟอยด์และวงการพ่อครัว
โปรดติดตามตอนต่อไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
เล่าเรื่องเชื้อดื้อยา มนุษย์เราได้มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาตั้งแต่ยุคของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังต้องพัฒนาต่อไป เพร...
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น