วูบเวลาลุกยืน ความดันลดลง วัดแบบใด
สำคัญมากเลยนะครับ สาเหตุหลักของการหกล้มในผู้สูงวัยเลยโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและรักษาด้วยยา หรือแม้แต่การได้ยาที่มีผลทำให้วูบตอนลุกเช่นยาลดน้ำมูก หรือภาวะร่างกายขาดน้ำ
ในผู้สูงวัยจะมีโอกาสเกิดได้มากขึ้นเพราะระบบประสาทอัตโนมัติที่ใช้ควบคุมหัวใจและหลอดเลือด ไม่ได้ฟิตปึ๋งปั๋งดังเช่นวันวาน ต้องใช้เวลาในการปรับตัวยิ่งถ้าในสถานการณ์ไปเข้าห้องน้ำห้องส้วม ร่างกายก็มีแนวโน้มจะเป็นลมอยู่แล้วจากปฏิกิริยาของระบบประสาทอัตโนมัติ ยังแถมลุกขึ้นเร็วอีก เป็นลมหัวฟาดพื้นได้ง่ายๆ
ดังนั้นเวลามีประวัติวิงเวียนวูบวาบเวลาเปลี่ยนท่าทาง คงต้องคิดถึงภาวะนี้ด้วย การเปลี่ยนท่าทางมักเป็นจากท่านอนเป็นนั่งหรือยืนเพราะมีการเปลี่ยนแปลงการไหลกลับของเลือดที่เรียกว่า venous return (ไม่ใช่ batman returns) เนื่องจากต้องคงสภาวะต้านแรงจี หรือแรงโน้มถ่วงของโลก หลอดเลือดต้องบีบตัวหัวใจต้องบีบตัว ชีพจรขยับขึ้นเพื่อคงแรงดันเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆให้ได้ โดยเฉพาะที่สมอง
ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระหว่างเปลี่ยนท่านอนเป็นนั่ง หรือนั่งเป็นยืน ความดันโลหิตตัวบน ซีสโตลิกมากกว่า 20 หรือความดันตัวล่าง ไดแอสโตลิก มากกว่า 10 อันนี้ก็จะถือว่ามีภาวะ ความดันโลหิตต่ำลงจากการเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension)
เวลาวัดก็วัดเทียบนอนกับนั่ง ถ้ายังไม่เห็นผลนั่งห้อยเท้าด้วย ถ้ายังสงสัยอีกก็เทียบเป็นท่ายืนไปเลย...อ๊ะๆๆ เวลาวัดต้องระวังด้วยนะครับผู้ป่วยอาจเป็นลมได้ และถ้าเห็นชัดๆก็อย่าไปวัดเลย เสี่ยง !! เช่นมีอาการช็อกแล้ว หรือขาดน้ำแบบชีพจรเร็วปรี๊ด หัวใจวายอยู่หอบแฮ่กๆ หรือเลือดไหลพลั่กๆ
คราวนี้ยืนนานแค่ไหนค่อยวัด ก่อนหน้านี้เรายืนหนึ่งนาทีบ้าง สามนาทีบ้าง ห้านาทีบ้าง ตามแนวทางการตรวจจริงๆคือ 3 นาที ...ไม่นานมานี้มีการศึกษาลงใน JAMA internal medicine เรื่องวัดตอนไหนที่จะบ่งชี้ว่าใช่ และสำคัญ
http://jamanetwork.com/journals/jamainternalmedicine/article-abstract/2645147
โดยวัดต่อเนื่องกัน 5 ครั้งต่อกัน วัดในแต่ละครั้งห่างกัน 2-3 วินาที แล้วมาดูว่าการวัดครั้งในยอกถึงความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าและมีความสัมพันธ์กับอาการวิงเวียนมากที่สุด ก็ปรากฏว่าการวัดครั้งแรกนั่นเองที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการวิงเวียนดีที่สุด และบ่งบอกความดันโลหิตต่ำในขณะเปลี่ยนท่าได้มากที่สุด
เขาสรุปจากการศึกษาว่าไม่ต้องรอถึงสามนาทีก็ได้ ภายในสามสิบวินาทีแรกก็สามารถบอกได้ดีว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำลงในขณะเปลี่ยนท่าหรือไม่ การรอวัดนานออกไปผลไม่ได้ต่างกันมากนัก จึงแนะนำให้วัดได้เลยจะเหมาะสมและใช้ในทางปฏิบัติมากกว่า (รายละเอียด และข้อดี ข้อด้อยการศึกษาต้องไปอ่านกันเองนะครับ)
ยิ่งมีความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าจะยิ่งมีความเสี่ยงการหกล้มมากขึ้นนะครับ และอันนี้เป็นข้อขัดแย้งที่สำคัญของแนวโน้มการศึกษาความดันโลหิตในปัจจุบัน ว่ายิ่งต่ำยิ่งดี ยิ่งลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ก็อย่าลืมว่ายิ่งต่ำอาจยิ่งล้มก็ได้เช่นกันครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น