เอาละ ถึงเวลาผ่อนคลายอารมณ์ ไปชงกาแฟอุ่นๆหนึ่งถ้วย พร้อมขนมไหว้พระจันทร์สุดอร่อย หามุมเงียบๆ นั่งอ่านเรื่องราวของ ...สงครามโลก ต้นกำเนิดยาฆ่าเชื้อ
คุณคิดว่ายาฆ่าเชื้อตัวแรกของโลกคือตัวไหน เด็กทุกคนท่องมาเหมือนกันคือเพนิซิลิน แต่ว่าในช่วงเวลานั้นมันมีเรื่องราวมากกว่านั้น เรามาไล่ไทม์ไลน์กัน
ในปี คศ. 1928 อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ผู้ทำการศึกษาวิจัยแบคทีเรียได้ลาพักร้อน ในเดือนสิงหาคม เมื่อเขากลับมาเขาพบว่าเกิดสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นในห้องทดลองของเขา คือจานเพาะเชื้อแบคทีเรีย staphylococcus (เชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนังเรา มักก่อโรคให้เกิดฝี หนองที่ผิวหนัง) มีเชื้อราไปปนเปื้อน และตรงที่เชื้อราปนเปื้อนสร้างบ้านสร้างที่อยู่นั้น เชื้อแบคทีเรียไม่โต แสดงว่ามันอยู่ด้วยกันไม่ได้
ไม่ใช่เฟลมมิ่งที่เจอปรากฏการณ์นี้เป็นคนแรก ย้อนกลับไปในปี 1875 John Tyndall ค้นพบแล้วว่าเชื้อรา penicillium ทำให้แบคทีเรียรอบๆตัวมันตาย อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ แต่ว่า Tyndall ยังไม่รู้ว่าทำไม
เฟลมมิ่ง ให้สมมติฐานว่าเจ้าเชื้อรา penicillium น่าจะปล่อยสารเคมีบางอย่างไปสังหารเชื้อแบคทีเรียได้ และเขาก็เป็นคนแรกที่สามารถสกัดสารที่เชื้อราผลิตออกมาเพื่อสังหารแบคทีเรีย นั่นก็คือ penicillin ...
แต่..แต่..มันยังไม่ง่ายอย่างนั้น สิ่งที่เฟลมมิ่งพบคือสารสกัดจากเชื้อราธรรมชาติ ไม่ใช่ยาเพนิซิลิน กว่าที่ยาเพนิซิลินจะออกมาสู่ตลาด เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ต้องใช้เวลาต่อไปอีก 13 ปี
ก่อนหน้านั้น เรามียาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่ง ถือกำเนิดขึ้นในโลก นั่นคือ ..ซัลฟา
ปี 1935 นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน Gerhard Johannes Paul Dumagk ..(ถึงแม้ผมจะชื่นชอบทีมชาติเยอรมัน แต่ชื่อคนนี้ขอละไว้ในฐานที่ไม่เข้าใจ)..ทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องการฆ่าเชื้อ เนื่องจากตอนนี้เยอรมันกำลังฟื้นฟูประเทศหลังจากเป็นประเทศมหาอำนาจกลางผู้ปราชัยในมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
จริงๆแล้วศัตรูที่สังหารประชาชนและทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คือ ไข้หวัดใหญ่และการติดเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง หากทหารไปสู้รบโดยไม่ต้องกังวลกับการติดเชื้อ ชัยชนะก็คงได้มาง่ายดายดั่งหงส์ติดปีก
Dumagk ทำการศึกษาวิจัยยาที่ชื่อ prontosil ได้ผลดีในทางคลินิกและตีพิมพ์ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ยาตัวนี้ไม่ได้แสดงผลการรักษาในหลอดทดลองเลยเพราะอะไร
Sulfonamidochrysoïdine สารเคมีที่ตอนแรกออกแบบมาเพื่อใช้ย้อมสีแต่ว่ามีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในสัตว์ทดลอง ทางบริษัท Bayerได้มีการพัฒนาต่อมาจนเกือบจะสำเร็จในการรักษาในคน จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สำเร็จ เพราะทดสอบในคนไม่สำเร็จ
เรื่องนี้ต้องแอบถาม เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ว่ามันอย่างไร แบบไหน หวังว่าแอดมินคงใจดี เล่าเรื่องต่อยอดให้เราฟัง
จนข้อมูลในปี 1936 ดาเนียล โบเว่ต์ เภสัชกรชาวสวิส ได้คนพบว่าเมื่อ prontosil ที่มีส่วนผสมของซัลฟาเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายมีเอนไซม์สามารถย่อยสลายออกมาเป็นยาที่ทรงประสิทธิภาพอันหนึ่งคือ sulfanilamide นี่คือส่วนที่ออกฤทธิ์ของตัวยาที่ไม่มีสี จึงสามารถแยกยาซัลฟาออกมาเป็นแบบรักษาคือ sulfanilamide เอาไปผลิตเป็นซัลฟาแบบใหม่ แยกสายการผลิตไปจากสีย้อม
เป็นจุดเริ่มทฤษฎี prodrug หรือยาที่ยังไม่ออกฤทธิ์เมื่ออยู่นอกร่างกายแต่เข้าไปในร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ออกฤทธิ์ได้
ข้อมูลตรงนี้สอดคล้องกับที่ Dumagk ได้ทำการทดลองรักษาคนจริง และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในปี 1935 การค้นพบและวิจัยของเราก็เกิดด้วยเรื่องราวบังเอิญคล้ายๆเฟลมมิ่งคือลูกสาวเขาเป็นแผล และต้องการใช้ยา เขาจึงเลือก prontosil ซึ่งมีอยู่ในเยอรมัน และได้ผลดี ทำให้ต่อยอดการศึกษาออกไป
ในตอนนั้น ยา penicillin ยังไม่วางจำหน่าย
ยา Prontosil ยาซัลฟาตัวแรกสามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย เหมือนโดนคาถา..นะจังงัง !!! ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายเข้าจัดการมันได้เต็มที่ และเชื้อที่เป็นเป้าหมายหลักตอนแรกของยาคือเชื้อแบคทีเรีย streptococcus
และยาผลิตออกมาใช้อย่างแพร่หลายในปี 1940 ปีแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง และแน่นอนใช้ในกองทัพนาซี แต่ต่อมาหนึ่งปีให้หลังในปี 1941เพนิซิลินก็ถูกผลิตออกมาเพื่อใช้รักษาชีวิตทหารและพลเรือนในมหาสงครามโลกนี้เช่นกัน เรียกว่ายาทั้งสองนี้ได้พลิกโฉมประวัติศาสตร์โลกไปมากมาย จนทำให้การติดเชื้อกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวมานาน
จนทุกวันนี้ โรคติดเชื้อเริ่มน่ากลัวอีกครั้ง เพราะการใช้ยาฆ่าเชื้อพร่ำเพรื่อ ทำให้เชื้อโรคเริ่ม...ดื้อยา
ผลงานของ Dumagk โด่งดังมากกับการคิดค้นยาฆ่าเชื้อที่ทรงประสิทธิภาพ จนได้รับเสมอชื่อขึ้นรับรางวัลโนเบลในฐานะคนแรกที่คิดยาปฏิชีวนะ หากวันนั้น Dumagk เข้ารับรางวัลโนเบล ชื่อผู้คิดค้นยาฆ่าเชื้อคนแรกอาจไม่ใช่ เฟลมมิ่ง !!!
เพราะตอนนั้น Dumagk ถูกบังคับไม่ให้เข้ารับรางวัลโนเบล จากนโยบายกีดกัดของรัฐบาลนาซีเยอรมัน (ก่อนหน้านั้นมีการให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพกับ Carl von Ozzieszky ชาวเยอรมันเรื่องการต่อต้านสงคราม นาซียั๊วะมาก) แถมถูกเกสตาโปจับตัวไปอีก
แม้หลังจากนั้นอีกแปดปีหลังสงครามจบ เขาก็ไปรับรางวัลโนเบลย้อนหลัง แต่ก็ไม่ได้สะเทือนโลกเฉกเช่นครั้งแรกเสียแล้ว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น