หนึ่งในคำถามจากแฟนเพจที่ยากที่สุด ในบรรดาวารสารทางการแพทย์มากมาย จะเลือกอ่านอันใด
ด้วยความที่แอดมินเป็นคนหลายใจอย่างที่ทราบกัน ปันใจให้ทุกวิชา ศึกษาทุกเรื่องที่แอบปลื้ม และลืมทุกเรื่องที่ไม่น่าสนใจ..มันจึงยากนะเอาว่าลองดูแล้วกัน
1.ที่มาของข้อมูลก่อนนะครับ ข้อมูลที่สำคัญ น่าเชื่อถือ ก็มักจะอยากไปอยู่บนวารสารที่ชื่อดังคนอ่านมาก และวารสารที่มีคนอ่านมากอ้างอิงมาก ก็อยากจะได้ข้อมูลดังๆมาตีพิมพ์เช่นกัน ..เรียกว่าคัดกรองได้ส่วนหนึ่งทีเดียว
ไม่ได้หมายความว่าเนื้อในจะน่าเชื่อถือทุกอัน และไม่ได้หมายความว่าเรื่องที่ตีพิมพ์ในวารสารอื่นจะไม่ดีและไม่น่าเชื่อถือ แต่นี่ก็เป็นอันหนึ่งที่จะช่วยคัดกรองได้ท่ามกลางหลายร้อยวารสารต่อวัน
2. ยิ่งใหญ่ ยิ่งน่าสนใจ ... การศึกษาที่มีขนาดใหญ่ มีการเตรียมตัวที่ดี ส่วนมากจะมีการบอกกล่าวถึงวิธีและแนวทางออกมาอย่างต่อเนื่อง เรียกว่ามี interim analysis ออกมาเรื่อยๆ แม้จะดูเป็นการโฆษณาและการตลาดแต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พอจะบอกได้ว่า น่าจะพอเชื่อได้ ไม่ว่าผลมันจะบวกหรือลบก็ตามแต่
ยกตัวอย่าง การศึกษา EMPA-REG ที่มีการนำเสนอกรรมวิธี ความก้าวหน้า รายงายผลเป็นระยะ
3. แหล่งที่มาในแง่สมาคมวิชาชีพ วารสารที่มาจากสมาคมแพทย์ชั้นนำ มักจะพอเชื่อถือได้เช่น american heart associations, american colleges of cardiology
4. sponsorship วารสารที่ไม่มีบริษัทสนับสนุน ไม่มีทุนจากบริษัทอันมีส่วนได้ส่วนเสียกับการศึกษาจะน่าเชื่อมากกว่า ..แต่ว่าการศึกษาใหญ่ๆส่วนมากก็จะมีสปอนเซอร์ เพราะต้องอาศัยเงินวิจัยมาก เราก็จะใช้การวิเคราะห์วารสารช่วยอีกที
อันนี้คือคร่าวๆ คร่าวมากๆครับ หลังจากนั้นก็ต้องมาดูข่ายวิชาที่เราสนใจ เช่น เราสนใจระดับเซล เราสนใจระดับโรค เราสนใจระดับผลการรักษา เราสนใจระดับสาธารณสุขภาพรวม ผมยกตัวอย่างนะครับ ..เอาเรื่องที่ผมอ่านบ่อยๆแล้วกัน..เรื่องบุหรี่ วารสารที่ศึกษาเรื่องสารก่อมะเร็งในบุหรี่ ว่าแต่ละชนิดมีมากน้อยเท่าไร ในแง่นักเคมี หรือ นักชีววิทยา มีประโยชน์มากๆครับและมี impact สูงมาก แต่วารสารเดียวกันสำหรับ clinician อาจไม่ได้มีผลมากนัก เพราะมันยังแปลไม่ได้ว่า การที่พบสารก่อมะเร็งต่างกันมันจะแปลว่า อัตราการเกิดมะเร็งจะต่างกัน และสำหรับนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข อาจจะไม่ส่งผลอะไรเลยเพราะมันยังแปลไม่ได้ว่าพบสารก่อมะเร็งมากน้อยกว่ากันจะลดค่ารักษามะเร็งในภาพรวมมากน้อยเท่าไร
เรียกว่า การมองภาพรวม การมองภาพย่อย ..ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการศึกษาก็มีผลต่อการเลือกและ สำคัญ กับแต่ละคน..ต่างกัน
เราก็จะพอคัดวารสารที่เราจะอ่านตามแต่สาขาของเราแล้ว อันนี้คือตั้งต้นที่เรามีวารสารมากมายนะครับ เราจะหยิบอันไหนมาอ่าน แต่ในทางตรงข้ามสมมติเราอ่านแนวทางหรือตำราหรือบทความใดๆ แล้วเขาอ้างอิงวารสารหรือการศึกษาใดแล้วเราจะตามไปอ่านต่อค้นต่อ อันนั้นถือว่ามีความสำคัญเราต้องไปค้นต่อครับ ไม่ว่าจะมาจากวารสารชื่อดังหรือไม่ impact factor มากน้อยเพียงใด มาจากชาติใดภาษาใด
ไหนๆก็มาเรื่องนี้แล้ว วารสารที่มาจากประเทศที่เราไม่คุ้นหู ไม่ได้หมายความว่าไม่น่าสนใจ ไม่น่าเชื่อถือ แต่ว่าบางครั้งมันเข้าถึงยาก หรือบางอันไม่มีภาษาอังกฤษ อย่างงานวิจัยที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีหลายๆงาน ไม่มีภาคภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่บทคัดย่อน่าสนใจมาก
หลังจากนั้นเราก็อ่านบทคัดย่อก่อน ว่าสรุปเป็นการศึกษาเรื่องใด ทำจากประเทศใด กลุ่มประชากรใด ศึกษาอะไร ด้วยกรรมวิธีใด ผลออกมาแบบใด สรุปว่าอย่างไร ถ้าเราสนใจ เรา**ต้องตามไปอ่านฉบับเต็ม*** และส่วนขยาย (supplementary) ที่อธิบายการเก็บข้อมูล ผลการศึกษาในแต่ละหัวข้ออย่างละเอียด
ทำตามวิธีข้างต้นเราก็จะพอหยิบวารสารในสาขาที่เราสนใจ ออกมาได้สามถึงสี่เรื่องต่อสัปดาห์หรือประมาณ 10 เรื่องต่อเดือน หลังจากนั้นเราต้องมาใช้วิชาการวิเคราะห์วารสาร ที่แต่ละเพจช่วยกันสอน หรือใช้ตำราที่ผมเคยแนะนำ เพื่อแกะความหมายของการทดลองในแต่ละขั้นตอน แต่ละบรรทัด รวมทั้งข้อความระหว่างบรรทัดที่มองไม่เห็นที่ซ่อนความจริง บิดเบือนหรือ จำกัดอย่างไร อันนี้ต้องอาศัยความรู้และทักษะที่ฝึกบ่อยๆครับ
อีกหนึ่งวิธีที่ผมแนะนำนะครับ คือ อาจจะใช้บริการ journal machine อย่างเช่น medscape, journal watch เพื่อให้ส่งวารสารที่เราสนใจ ที่เรากำหนดค่าคัดกรองเอาไว้ เช่น เลือกวิชาโลหิตวิทยา และ ประสาทวิทยา (เลือกได้หลายอัน) ต้องการแบบใด แบบ RCT หรือ cohort หรือ meta analysis
หรือใช้ journal hub อย่าง sciencedirect หรือ elsevier ที่รับวารสารจากหลายๆสำนักพิมพ์มารวมกัน และจัดจำหน่าย เราจะเลือกให้เขาส่งบทคัดย่อที่น่าสนใจมาทางอีเมลล์ได้ทุกสัปดาห์ ก็จะเป็นการคัดกรองที่ดีอันหนึ่ง คือมีคนสรุปให้คร่าวๆและรายงานทุกสัปดาห์
ทั้งสองอันนี้ เราจะได้วารสารที่ต้องการมาอ่าน แบบตรงใจ
แต่การที่เราอยากอ่าน กับ วารสารที่โลกรออ่านไม่เหมือนกันนะครับ การศึกษาที่เรียกว่าเป็น landmark หรือออกแบบมาตอบคำถามที่เป็นที่คาดหวังกันทั้งหลาย เช่น ACCORD, HOPE3, PRECISION อันนี้อยู่ในความสนใจ เราก็ควรอ่านนะ ผลมันจะดีหรือไม่ดีอีกเรื่องหนึ่ง
อันนี้ยังไม่นับวารสารที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารของคณะต่างๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ โรงพยาบาลต่างๆ ที่มีการศึกษาที่ทำในคนไทยอีกหลายอันที่น่าสนใจ ก็อาจคัดกรองด้วยสารบัญและบทคัดย่อได้ครับ
ยกเว้นมีอาชีพเป็น บก. และ กบว. ที่ต้องอ่านทุกอันครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น