ถุงลมโป่งพอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง มียาพ่นมากมาย จะใช้อะไร อะไรดีกว่ากัน ล้อมวงกันเข้ามาครับ ตอนที่หนึ่งจะเป็นเรื่องยาขยายหลอดลม ตอนที่สองจะเป็นยาสเตียรอยด์
เกือบทั้งสัปดาห์ที่เราวนเวียนอยู่กับการรักษาปอดอุดกั้นเรื้อรังตามแนวทางการรักษา GOLD ที่ออกมาใหม่สำหรับปี 2017 ผมเลือกเรื่องที่ประชาชนเราๆต้องทำความเข้าใจ และเป็นจุดเปลี่ยนในการดูแล ส่วนฉบับเต็มสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับนะครับ อ่านตัวเดียวกัน เพราะต้องดูแลเป็นทีม
ยาพ่น ยาสูด ถือเป็นยาหลักในการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (ต่อไปขอเรียก COPD) นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงตอนนี้ มีพัฒนาการและการศึกษาออกมามากมายครับเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาพ่นยาสูด ก่อนจะไปต่อ ต้องย้ำหลักการของยาพ่นยาสูดครับ หลักๆคือ ลดอาการ ลดการกำเริบ ลดการนอนโรงพยาบาล เพิ่มสมรรถนะการออกแรง แต่ยาทั้งหมดไม่ลดอัตราตายและไม่ทำให้การทำงานปอดดีขึ้นโดยรวม จึงจะใช้ยาพ่นยาสูดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้หลายๆวิธีในการรักษา
ยาพ่น..หรือ..ยาสูด ยาพ่นทั้งแบบเป็นกลักพ่นตรงๆ ต่อท่อเพิ่มประสิทธิภาพ หรือพ่นผ่านหน้ากาก กับยาสูดที่เป็นผงแป้งหรือบางชนิดก็ต้องบรรจุแคปซูลก่อน ถ้าพ่นได้ถูกวิธีประสิทธิภาพไม่ต่างกันนะครับ ดังนั้นการเลือกใช้ยา ขึ้นอยู่กับว่าคุณใช้อะไรได้ดี ให้ใช้อันนั้น ยาดีแค่ไหนถ้าส่งยาไปไม่ถึงปอด ก็ไม่มีประโยชน์นะครับ ส่วนใหญ่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเภสัชกร ในการทดสอบ การสูด การหายใจออกก่อนสูด การกลั้นลมหายใจ
ยาพ่นจะยากกว่าตรงที่ต้องกะจังหวะพ่นพร้อมหายใจ อาจต้องใช้อุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า spacer ช่วยพ่นยา พ่นผ่านหน้ากากก็ไม่สะดวก แนวโน้มการใช้ยาสูดจึงมากขึ้น แต่อย่างไรต้องทดสอบก่อนใข้ว่าใช้อะไรได้ดี ใช้อันนั้น และ ทดสอบเป็นระยะๆว่าใช้ถูก
ชนิดตัวยาขยายหลอดลม เราแบ่งยาออกเป็นสองแบบง่ายๆนะครับ ชนิดออกฤทธิ์สั้นและชนิดออกฤทธิ์ยาว (และแบ่งแต่ละตัวออกเป็น beta agonist กับ muscarinic antagonist) เอาว่าพูดกันตรงๆถึงประสิทธิภาพนั้น ไม่ได้ต่างกันชัดเจนนะครับ เพียงแต่พวกออกฤทธิ์สั้นก็จะต้องพ่นบ่อย (ออกฤทธิ์สั้นมักเป็นยาพ่น) ลืมบ่อย จึงทำให้ออกฤทธิ์ไม่ครบวัน ก็เลยออกแบบตัวออกฤทธิ์นาน ใช้แค่ 1-2 ครั้งต่อวัน พอไม่ลืม พ่นง่าย ประสิทธิผลแห่งการรักษาจึงมากกว่าครับ เราจึงมักจะใช้ ยาพ่นกลักสีฟ้าๆ ที่ออกฤทธิ์สั้น เฉพาะเวลาอาการกำเริบ หรือถ้าผู้ป่วยใช้ได้ดีมาตลอดและไม่ลืม จะใช้ตัวนี้คุมอาการก็ไม่ผิดครับ ราคาก็ถูกกว่าด้วย มีทุกรพ. ใช้มากคือยาพ่น salbutamol, ipratopium หรือ ผสมกันเป็น berodual
ส่วนยาที่ออกฤทธิ์ยาว ส่วนมากเป็นยาสูดครับทั้งแบบผงแป้งบรรจุเสร็จ สูดแล้วมีตัวเลขให้ดูด้วยว่าสูดได้นะและเหลือกี่ครั้งที่ยังใช้ได้ หรือแบบต้องบรรจุแคปซูลก่อนแล้วค่อยพ่น ก็จะสะดวกใช้ หาซื้อแต่แคปซูลมาเติมเท่านั้น และยาสูดออกฤทธิ์ยาวนี้ก็แยกเดี่ยวๆ หรือรวมกับยาสูดสเตียรอยด์ด้วย มีให้เลือกใช้มากครับ...ตารางยาผมแนบมาในรูปนะครับ
ยาที่ว่ามีสองตัวคือ beta agonist ได้แก่..salmeterol, formeterol, indacaterol อาจมีใจสั่นหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ถ้าใช้ขนาดสูงมากๆ แต่ก็ไม่ได้พบบ่อยครับ อาจพบภาวะโปตัสเซียมในเลือดต่ำถ้าใช้ร่วมยาขับปัสสาวะ และเจ้า indacaterol ออกฤทธิ์ได้ยาว 24 ชั่วโมงเลย ตัวอื่นจะ 12-18 ชั่วโมง ..แต่ก็ใช้วันละครั้งได้ครับ
ส่วนอีกชนิดคือ muscarinic antagonist ได้แก่ tiotopium ออกฤทธิ์ยาว 24 ชั่วโมงใช้วันละครั้งได้ อาจมีผลข้างเคียว ปากแห้ง ปัสสาวะขัดบ้าง ไม่มีผลต่อหัวใจ (ก่อนหน้านี้มีข้อกังวลของ tiotopium respimat แต่ว่าพิสูจน์แล้วว่าไม่มี)
การใช้ยาสองตัวร่วมกัน มีประโยชน์มากกว่าใช้ยาตัวเดียวนะครับ เพราะออกฤทธิ์ผ่านสองกลไกที่ต่างกัน แต่ผลข้างเคียงก็อาจจะมากขึ้น ยาผสมสองตัวผมยังไม่เคยใช้จึงยังไม่ได้กล่าวถึง แต่การศึกษาและแนวทางบอกว่าใช้ได้และมีประสิทธิภาพมากกว่าใช้เดี่ยวๆ แต่ถ้าอาการไม่มากก็ไม่ต้องใช้ทั้งคู่ก็ได้ครับ ยามันแพง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น