21 เมษายน 2563

ยาที่ใช้รักษาอาการชักต่อเนื่อง status epilepticus

status epilepticus ชักต่อเนื่อง

คำจำกัดความของชักต่อเนื่องตามเกณฑ์ของ International League Against Epilepy ตีพิมพ์ใน Epilepsia 2015 กล่าวง่าย ๆ สั้น ๆ คือชักให้เห็นต่อเนื่องยาวนานกว่า 5 นาที  แต่ถ้าเป็นชักแค่บางจุดและมีการรับรู้ที่บกพร่อง อันนี้นับมากกว่า 10 นาที  ส่วนการชักแบบไม่กระตุก อันนี้นับ 10-15 นาที (มันมองยาก ต้องใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองติดตาม) 

หรือหากชักแล้วหยุด ไม่ได้ยาวนานอย่างย่อหน้าสักครู่ ก็จะต้องมีความเสียหายทางระบบประสาทที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง ยังไม่กลับสภาพเดิมมากกว่า 30 นาทีในการชักทั้งตัว และ 60 นาทีในการชักเฉพาะจุด

เมื่อมีอาการชักต่อเนื่อง ต้องรีบทำการรักษาด่วนมาก ทั้งดูแลทางเดินหายใจ ป้องกันอุบัติเหตุจากการกระแทก และให้ยากันชัก ยาตัวแรกที่แนะนำคือยากลุ่ม benzodiazepines เช่น diazepam, lorazepam และให้ยากันชักต่อเนื่อง ประเด็นคือยากันชักตัวใดก็ได้ผลดีพอกัน เอาที่มีอยู่ในโรงพยาบาล และที่สำคัญคือต้องระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยาโดยเฉพาะความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ล่าสุดมีการศึกษาลงใน the Lancet เมื่อ 20 มีนาคมที่ผ่านมา (ESETT study) ศึกษาในผู้ป่วยลมชักต่อเนื่องที่ได้รับยา benzodiazepines แล้วไม่หยุดชัก จัดกลุ่มให้ยาสามชนิดคือ levetirazetam, fosphenytoin และ valproate ยาที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันและมีรูปแบบฉีด ศึกษาว่าจะหยุดชักในหนึ่งชั่วโมงได้ดีไหม และผลแทรกซ้อนต่างกันไหม

การแบ่งกลุ่มทำได้เท่าๆ กัน และแยกคิดกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงวัย  ผลออกมาโดยรวมว่ายาแต่ละตัวหยุดชักได้ประมาณ 50% พอ ๆ กันในทุกกลุ่มอายุ (ผู้สูงวัยจะได้ผลดีต่อ valproate เล็กน้อยแต่ไม่มีนัยสำคัญ) ผลข้างเคียงน้อยมาก ความปลอดภัยสูง ข้อจำกัดคือ ไม่ได้มีการยืนยันด้วยคลื่นไฟฟ้าสมองนะครับ ดูแค่หยุดชักด้วยสายตาเท่านั้น

การศึกษานี้ก็มาช่วยยืนยันว่า ยาอะไรที่มีในห้องฉุกเฉินก็ใช้ได้หมด ขอให้วินิจฉัยเร็ว แก้ไขเร็ว ขนาดยาถูก เฝ้าระวังให้เหมาะสมครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม