09 เมษายน 2563

SPARCL post hoc analysis in ACC/WCC 2020

ยาลดไขมันไม่ได้มีประโยชน์แต่เฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่รวมถึงสารพัดหลอดเลือดด้วย : SPARCL post hoc analysis in ACC/WCC 2020
ปี 2006 มีงานวิจัยหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine ศึกษาการให้ยา atorvastatin ขนาดสูงในผู้ป่วยอัมพาตที่เป็นมาไม่นาน เพื่อติดตามว่าโอกาสเกิดอัมพาตซ้ำลดลงหรือไม่เมื่อเทียบกับการไม่ให้ยา จากการติดตามประมาณห้าปี พบว่ากลุ่มที่ได้รับยา atorvastatin ขนาด 80 มิลลิกรัมมีโอกาสเกิดอัมพาตซ้ำน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ ประมาณ 16%
**งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยหลักอันแรก ๆ ที่ใช้ยาลดไขมันในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง เพื่อวัดผลการเกิดหลอดเลือดสมองซ้ำ ที่ผ่านมานั้นมักจะเป็นงานวิจัยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และแถมการวัดผลหลอดเลือดสมองเป็นผลพลอยได้**
โดยผู้ที่ได้รับยา atorvastatin ในขนาดสูงจะมีการทำงานของตับผิดปกติเล็กน้อย และจะพบว่าในคนที่เกิดอัมพาตซ้ำ มีเลือดออกในสมองมากกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอกเล็กน้อย
หลังจากนั้นมีงานวิจัยเกี่ยวกับการให้ยาลดไขมันเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำโรคหลอดเลือดมากมาย จนกระทั่งเป็นคำแนะนำมาตรฐานว่าผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบจะต้องได้รับยาลดไขมันในขนาดสูงเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ ดังเช่นโรคหลอดเลือดหัวใจได้รับเช่นกัน
ในงาน ACC/WCC 2020 มีการกล่าวถึงการศึกษานี้อีกครั้งพร้อมกับลงผลงานวิจัย (แต่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบทบทวนอย่างเป็นทางการ) และลงในวารสาร Journal of American Colleges of Cardiology โดยนักวิจัยชุดเดิม Pierre Amarenco เมื่อ 6 มีนาคมที่ผ่านมา "Atorvastatin Reduces First and Subsequent Vascular Events Across Vascular Territories in the SPARCL Trial"
เพื่อศึกษาว่าผลจากการใช้ยา atorvastatin ในขนาดสูงตั้งแต่แรกจะยังมีผลปกป้องโรคหลอดเลือดที่เกิดซ้ำ ตั้งแต่ครั้งแรกที่เกิดซ้ำ ไปครั้งที่สองครั้งที่สาม ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดที่แขนขา
เพราะการเกิดซ้ำเหล่านี้มีผลต่ออัตราการตาย อัตราการพิการ ค่าใช้จ่ายดูแล และโอกาสที่สูญเสียจากการเกิดโรค จากการศึกษาเดิม SPARCL ผลต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงวัตถุประสงค์รองของการศึกษาเท่านั้น แต่คราวนี้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติใหม่ จัดโรคหลอดเลือดทุกอัน ไม่ว่าจะเกิดซ้ำกี่ครั้ง มาเป็นวัตถุประสงค์หลัก ดูว่าการให้ยาลดไขมันในขนาดสูงจะมีผลปกป้องในระยะยาวหกปีหรือไม่
ผลออกมาว่า ในกลุ่มยาหลอก จะมีการเกิดโรคหลอดเลือดซ้ำครั้งแรก 41.2 ครั้งต่อการติดตามหนึ่งร้อยคนในหกปี และมีโอกาสเกิดซ้ำสะสมถึง 62.7 ครั้งต่อการติดตามหนึ่งร้อยคนในหกปี
แต่ในกลุ่มที่ได้รับยาในขนาดสูงจะมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดซ้ำทั้งหมดแค่ 20 ครั้งต่อการติดตามหนึ่งร้อยคนในหกปี เรียกว่าลดน้อยลงมากกว่าครึ่ง แสดงให้เห็นว่าเมื่อเกิดอัมพาตครั้งแรกแล้ว การให้ยาลดไขมันในขนาดสูงนอกจากจะปกป้องหลอดเลือดสมองแล้ว ยังปกป้องหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดส่วนปลายที่แขนขาได้อีกด้วย (secondary prevention)
ส่วนความกังวลเรื่องเลือดออกในสมองจากการศึกษา SPARCL นั้น การวิเคราะห์ในการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าเพิ่มโอกาสเลือดออกเล็กน้อยเช่นกัน แต่เมื่อเทียบกับประโยชน์จากการปกป้องหลอดเลือดส่วนอื่นแล้ว ดูว่าการให้ยาจะมีประโยชน์มากกว่าการไม่ให้ยา ทั้งนี้ผู้ให้ยาจะต้องเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยในการให้ยาก่อนนำไปใช้จริง
สรุปว่า การศึกษานี้ออกมายืนยันแนวคิดการรักษาโรคหลอดเลือดแดงอุดตันว่า การให้ยาลดไขมัน statin สามารถลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำได้ดีและในทุก ๆ หลอดเลือดแดงที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้ คนที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงอุดตันแล้วจะได้ประโยชน์สูงมากจากการกินยาป้องกันไปตลอด
ปล. การศึกษานี้ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท pfizer เจ้าของสิทธิบัตรยา atorvastatin

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม