08 เมษายน 2563

เรื่องของการเลิกบุหรี่ ในงานประชุม ACC/WCC 2020 ที่ผ่านมา : บุหรี่ไฟฟ้ากับการเลิกบุหรี่

เรื่องของการเลิกบุหรี่ ในงานประชุม ACC/WCC 2020 ที่ผ่านมา : บุหรี่ไฟฟ้ากับการเลิกบุหรี่

เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าที่จะนำมาใช้เป็นหนทางการเลิกบุหรี่เผาไหม้ มีการถกเถียงกันมาตลอด ในปัจจุบันยังไม่มีการรับรองการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการเลิกบุหรี่แต่อย่างใด แต่งานวิจัยยังคงทำอยู่ต่อไปอีก ดังเช่นงานวิจัย E3 trials ทำในแคนาดาและนำเสนอเบื้องต้นในงานประชุมออนไลน์นี้

การศึกษาทำในหลายสถาบันในแคนาดาโดย Mark J Eisenberg โดยรวบรวมคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้วและต้องการเลิกบุหรี่โดยการโฆษณาตามสื่อต่าง ๆ เพื่อมาเข้ารับการทดลอง คัดเอาคนที่สูบบุหรี่มากกว่า 10 มวนต่อวัน ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนการเลิกบุหรี่และไม่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาในช่วงสองเดือน เพื่อมาทดสอบ

การทดสอบจะนำผู้ป่วยมาแบ่งกลุ่มสามกลุ่ม

กลุ่มควบคุมคือ การใช้พฤติกรรมบำบัดและคำแนะนำเพียงอย่างเดียว

กลุ่มที่สอง ใช้พฤติกรรมบำบัดร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้าชนิดไร้นิโคติน มีบุหรี่ไฟฟ้าให้และมีการสอนการใช้

กลุ่มที่สาม ใช้พฤติกรรมบำบัดร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้าชนิดมีนิโคติน 15mg/ml โดยจัดเตรียมบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาให้

การจัดเตรียมบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยานั้น มาจากส่วนกลางอันเดียวกันเพื่อกำจัดตัวแปรจากปริมาณนิโคติน สี กลิ่น และการสูบเกินกว่าที่กำหนด เป็นการควบคุมที่ดี แต่ก็นำมาซึ่งสาเหตุอันหนึ่งที่ต้องปรับกรรมวิธีการศึกษากลางคันจาก 52 สัปดาห์ มาเป็นใช้บุหรี่ไฟฟ้าแค่ 12 สัปดาห์ เพราะไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ในการศึกษามาได้ทันและเพียงพอ มีผลต่อ power ของการศึกษา ทำให้ power ลดลง

ร่วมกับการเก็บตัวอย่างที่ช้าเกินไป ทำให้ต้องปรับข้อกำหนดและกลุ่มตัวอย่าง ความเชื่อมั่นของงานวิจัยจึงลดลงมาก เป็นข้อจำกัดที่สำคัญของงานวิจัยนี้

เขาจะให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแค่ 12 สัปดาห์แล้ววัดผลว่าจะเลิกบุหรี่ได้ไหม สิ่งที่มากำหนดว่าเลิกได้ไหมใช้ 7 day point prevalence abstinence คือไม่มีการใช้บุหรี่เผาไหม้เลยในตลอดสัปดาห์ก่อนการวัดผล นอกจากถามแล้วยังยืนยันด้วยการตรวจคาร์บอนมอนอกไซด์จากลมหายใจเพื่อยืนยันอีกด้วย ... งานวิจัยเรื่องการเลิกบุหรี่ยุคนี้จะต้องมีตัวชี้วัดผลเช่น การตรวจวัดคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ หรืออนุพันธุ์ของนิโคตินในปัสสาวะ จะไม่ใช้แบบสอบถามเพียงอย่างเดียว

ผลออกมาปรากฏว่า
กลุ่มที่ทำพฤติกรรมบำบัดอย่างเดียวสามารถเลิกได้ 9% ถือว่าใกล้เคียงกับตัวเลขที่คาดไว้คือ 10%

กลุ่มที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าไร้นิโคติน เลิกได้ 17.3% ทำได้ดีกว่าปรับพฤติกรรมอย่างเดียวแต่ยังแตกต่างกันไม่พอ ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ RR 1.9 (1.0-3.8) และหากเลิกไม่ได้ จะสามารถทอนปริมาณบุหรี่เผาไหม้ลง 45.1 %

กลุ่มที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคติน เลิกได้ 21.9% ทำได้ดีที่สุด โดยแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากแค่ปรับพฤติกรรมอย่างเดียว RR 2.4 (1.8-4.6) และหากเลิกไม่ได้จะทอนปริมาณบุหรี่เผาไหม้ไป 61% (แสดงว่ายังมีคนใช้คู่ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่เผาไหม้)

ข้อเด่นของการศึกษานี้คือ คนที่อยู่ร่วมการศึกษาจนจบการศึกษา มีการติดตามวัดผลตามที่กำหนด เรียกว่าสัดส่วนที่มากระดับ 90% ต่างจากงานวิจัยเลิกบุหรี่อื่น ๆ ที่มักจะมีคนหลุดจากการศึกษา 40-60% ข้อด้อยที่สำคัญนอกจากการเปลี่ยนข้อกำหนดการศึกษากลางคัน ที่ทำให้ power ของการศึกษาลดลงมาก ยังต้องรอการวิเคราะห์เรื่องผลข้างเคียง และผลสรุปสุดท้ายอีกครั้ง รวมทั้งข้อมูลนี้ยังปริมาณน้อยเกินไป การศึกษาเล็กเกินไปที่จะนำมาใช้ได้จริง

โลกยังคงหาวิธีที่จะมาหยุดการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง วิธีที่ดีและทรงประสิทธืิภาพมากคือการควบคุมจิตใจตัวเอง แต่ก็เป็นวิธีที่ยากที่สุดเช่นกัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม