04 มีนาคม 2562

number needed to treat

เค้าว่ากันว่านี่คือภาษาสถิติที่มีความเป็นมนุษย์มากที่สุด : number needed to treat : ต้องรักษากี่รายจึงจะได้ประโยชน์หนึ่งราย

🤔🤔เรามาดูโฆษณาตัวนี้ครับ

ประสิทธิภาพของยา "ผีบอก" สำหรับโรคนี้ การรักษามาตรฐานปัจจุบันมีอัตราการเสียชีวิต 2% แต่ถ้าใช้ยา "ผีบอก" จะมีอัตราการเสียชีวิตแค่เพียง 1% เท่านั้น ท่านทั้งหลายยา "ผีบอก" ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ 50% เมื่อเทียบกับการรักษาเดิมเลยทีเดียว กว่าครึ่งที่มาใช้ยา "ผีบอก" รอดตาย !! เรามีการทดลองทางการแพทย์ที่ดีที่สุดในโลก ไร้ตัวกวนและอคติใด ๆ มารับรองผลตรงนี้

คุณเชื่อไหมครับ..?

โอเค สิ่งที่โฆษณานั้นจริงทุกกระเบียดนิ้ว อัตราการเสียชีวิตลดลง (2-1)÷2 เมื่อทำเป็นร้อยละคือ ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับการรักษาเดิม...ย้ำ เมื่อเทียบกับการรักษาเดิม... เราเรียกอัตราการลดนี้ว่า relative risk reduction

คราวนี้มาดูสิ่งที่เกิดขึ้นหากไม่มาเทียบกัน

โรคนี้หากใช้การรักษามาตรฐาน อัตตาการเสียชีวิต 2% น้อยมากนะครับ เอาล่ะ..หากใช้ยาผีบอก อัตราการเสียชีวิต 1% ถามว่าการรักษาเดิมต่างจาก "ผีบอก" กี่เปอร์เซนต์ คำตอบคือ 1% คือ 2%-1% = 1% เรียกสิ่งนี้ว่า absolute risk reduction (ARR) ไม่ต้องไปเทียบกับใคร วัดกันที่ผลลัพธ์ตรง ๆ

Number Needed to Treat = 1/ARR

ผู้ที่มาใช้การรักษา "ผีบอก" ต้องมีผู้ที่มาใช้การรักษา 100 รายจึงจะพบว่าลดอัตราการเสียชีวิตหนึ่งราย (1/1%) ผมไม่ได้แก้ไขตัวเลขใด ๆ เลย ใข้การศึกษาสุดเพอร์เฟ็กที่เขาอ้างและตัวเลขเดียวกัน กลับพบว่ามันไม่ได้หรูหราอย่างที่คิด เพราะการรักษาเดิมมันดีมากอยู่แล้วหรือโอกาสเสียชีวิตจากโรคมันไม่มากอยู่แล้ว

🤔🤔แล้วลองมาฟังยาตัวนี้บ้าง

ประสิทธิภาพของยา "หงส์บอก" สำหรับโรคนี้ การรักษามาตรฐานปัจจุบันมีอัตราการเสียชีวิต 40% แต่ถ้าใช้ยา "หงส์บอก" จะมีอัตราการเสียชีวิตแค่เพียง 20% เท่านั้น ท่านทั้งหลายยา "หงส์บอก" ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ 50% เมื่อเทียบกับการรักษาเดิมเลยทีเดียว กว่าครึ่งที่มาใช้ยา "หงส์บอก" รอดตาย !! เรามีการทดลองทางการแพทย์ที่ดีที่สุดในโลก ไร้ตัวกวนและอคติใด ๆ มารับรองผลตรงนี้

relative risk reduction เท่ากันเป๊ะ (40-20)÷40 คือ 50% เราก็คิดว่า ยาหงส์บอกก็ลดอัตราการเสียชีวิตได้พอ ๆ กันกับยา "ผีบอก" แต่เมื่อมาคิด ARR มันคือ 40%-20% คือ 20% นะครับ คือยาหงส์บอกลดอัตราการเสียชีวิตไป 20% เลย คิดเป็น NNT คือ 1/20% คือ ให้การรักษาด้วยยา "หงส์บอก" ทุก ๆ 5 คนจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ 1 คน เป็นอย่างไร ตัดสินใจง่ายกว่าไหม

การนำเสนองานวิจัย การนำเสนอการรักษาที่อิงงานวิจัยมักนำเสนอ RRR เพราะมันเห็นผลที่ชัดเจน ตัวเลขมาก บอกลดลง 50% ดูดีมากแต่อย่าลืมว่าเทียบกับของเดิมนะครับ ส่วน ARR แม้ตัวเลขจะไม่มาก แต่กลับบ่งบอกประสิทธิภาพจริง โดยไม่ต้องมาเทียบกัน เรียกว่าน้ำหนักไม่เกี่ยง ต่อยตัว ๆ เลย ไม่ต้องมาเปรียบเทียบน้ำหนัก แพ้ชนะมันชัดเจน
ถ้าการรักษาเดิมมันไม่ได้ดีมาก หรือโอกาสเสียชีวิตสูง RRR ลดลง 50% เท่ากัน แต่ของจริงต่างกันมาก

เรานำค่า NNT ไปคำนวณความคุ้มค่า การตัดสินใจรักษา ประสิทธิภาพการรักษาใหม่ตามการทดลอง ดูที่ของจริง ประชากรที่หายจริง ตายจริง เปรียบเทียบกับตัวเองล้วน ๆ ครับ

อ่านเรื่อง NNT เพิ่มได้ที่นี่ ฟรี

https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2724456?guestAccessKey=d5b52a2b-b90c-431d-b8b4-7c8e115f7e27&utm_source=silverchair&utm_medium=email&utm_campaign=article_alert-jama&utm_content=etoc&utm_term=022619

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม