30 มีนาคม 2562

กินไข่

"กินไข่ตั้งแต่สามฟองต่อสัปดาห์ขึ้นไป เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจและตายเร็วขึ้น" พาดหัวข่าวจาก CNN หนึ่งในกับดักค่า p-value และการอ่านงานวิจัยแค่บทคัดย่อ !!
ท่านคงยังจำได้กับหลายการศึกษาที่ผมเคยนำเสนอไป ไม่ว่าระดับไขมันโคเลสเตอรอลจากอาหารส่งผลน้อยมากต่อโคเลสเตอรอลในเลือด การกินไข่วันละ 1-2 ฟองต่อวันหรือประมาณ 10-14 ฟองต่อสัปดาห์ไม่ได้ส่งผลเพิ่มระดับไขมันและอัตราการเสียชีวิต เป็นการศึกษาแบบการทดลองและควบคุมเลยนะครับ (randomized controlled trials) ข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศออกมาทางเดียวกันทั้งสิ้น
แต่เมื่อไม่นานมานี้สำนักข่าว CNN, BBC, เว็บไซต์ Medscape ได้ลงพาดหัวโดยอ้างอิงจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน JAMA เมิ่อสองสัปดาห์ก่อน ย่อมสะกิดใจผมมาก คิดว่า โห...มีข้อมูลใหม่ที่ล้มข้อมูลเดิมได้ถึงขนาดนี้เลยหรือ
บทความสรุปจากที่ต่าง ๆ ยึดถือเอาความมีนัยสำคัญทางสถิติ p < 0.05 มาแปลผลสมมุติฐานอันนั้นว่า เออ..เมื่อคิดทางสถิติแล้วมันจริงนะ โอกาสพลาดหรือจริงโดยบังเอิญนั้นน้อยมากน้อยกว่า 5% แสดงว่า การตัดสินสำคัญกว่าคะแนนจริงหรือ เพราะสถิติไม่ใช่การแพ้ชนะ
เหมือนการตัดสินการนับคะแนนบางอย่าง ได้คะแนน 50,001 ชนะ แต่ได้ 49,999 คือแพ้ เพราะเกณฑ์เรานับที่ 50,000 คะแนนตัดสินแพ้ชนะ จริงตามข้อกำหนดไหม ก็ถือว่าจริง แต่ถามว่าการแพ้แค่ 2 คะแนนมันหมายถึงที่สองมันไม่ดี หรือความต่างกันแค่สองคะแนนมันยิ่งใหญ่เพียงใด ด้วยเพียงคำกล่าว "นัยสำคัญทางสถิติ"
1.การศึกษานี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการเก็บข้อมูลชุดอื่น ๆ ที่ทำอยู่เดิม ผู้วิจัยขอดูว่ามีเก็บเรื่องอาหารโคเลสเตอรอลและการกินไข่หรือไม่ และมีตัวชี้วัดที่ผู้วิจัยต้องการคืออัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ ถ้ามีก็ขอดึงข้อมูลมาวิเคราะห์ ...มันต่างจากการศึกษาที่ออกแบบมาตอบคำถามตรง ๆ เพื่อควบคุมตัวแปรต่าง ๆ และเจตนาดูผลของปริมาณการกินไข่กับการเกิดโรคเลย
2.ตัวแปรที่เขาสนใจคือการบริโภคไขมันโคเลสเตอรอลที่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวันทุกวัน หรือกินไข่มากกว่าวันละครึ่งฟองต่อวันทุกวัน (ถ้าไม่ทุกวันก็ประมาณ 3-4 ฟองต่อสัปดาห์ขึ้นไป) ไม่ใช่แค่ไข่อย่างเดียวตามที่พาดหัวครับ เวลาคิดรวมการกินไข่มากหรืออาหารโคเลสเตอรอลมาก จะเพิ่มการเกิดโรคหัวใจและอัตราตาย แต่ถ้ามาดูแยก น้ำหนักจะไปเทที่อาหารโคเลสเตอรอลมากกว่าการกินไข่
3.ชุดข้อมูลหกชุดที่เขาขอข้อมูลมารวมกันเพื่อวิเคราะห์นั้น ไม่ได้มีเกณฑ์ที่เหมือนกันเลย การกระจายของข้อมูลมากมาย และเขาใข้วิธีการจัดกลุ่มและจัดโมเดลการคิดวิเคราะห์ ใช้ตัวกรองซ้อนกันหลายชั้น ๆ เพื่อตัดตัวแปรปรวน เพื่อพยายามให้การคำนวณมาจากกลุ่มที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดที่จะมาเทียบกัน บางโมเดลมีการตัดตัวกรองถึง 6-7 ขั้น การคิดเช่นนี้จะบีบข้อมูลให้ใกล้เคียงกัน ไม่กระจายก็จริง แต่จะเพิ่ม type I error หรือผลบวกปลอมมากขึ้น (ในที่นี่คือ การกินไข่และโคเลสเตอรอลมีผลจากการศึกษา แต่จริง ๆ มันไม่มีผล เพราะเราใส่ "กระบวนการ" มากเกินไป)
3.แม้จะมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ทุก ๆ ค่าวัดไม่ว่าอัตราตายรวม อัตราตายจากโรคหัวใจ การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจวาย อัมพาต ชนะกันเฉียดฉิวมาก ในทุก ๆ ค่า ขอยกตัวอย่างอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดนะครับ
สำหรับอาหารโคเลสเตอรอลที่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน เกิดโรคมากกว่ากินโคเลสเตอรอลน้อยเพียง 3.3% (ถ้าคิด hazard ratio คือ 1.17 95%CI คือ 1.09-1.26)
สำหรับกินไข่มากกว่า 3-4 ฟองต่อสัปดาห์ เกิดโรคมากกว่ากินไข่น้อยเพียง 1.1% (ถ้าคิด hazard ratio คือ 1.06 95%CI คือ 1.03-1.10)
4.ถามว่าในประชากรในการศึกษากระจายตัวดีหรือไม่ ตอบว่าไม่ ส่วนใหญ่เกือบ 90% ของการศึกษานั้นกินโคเลสเตอรอลแค่ 241 มิลลิกรัมต่อวัน และกินไข่ 0.1 ฟองต่อวัน เพราะขณะทำการศึกษามีแนวทางอย่ากินโคเลสเตอรอลเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวันอยู่แล้ว จะหาคนกินเกินยากมาก ดังนั้นผลการศึกษาจึงไม่ได้กระจายตัวตามปรกติ แม้จะใช้ค่าทางสถิติคำนวณว่ามีนัยสำคัญ แต่ถ้าไปดูตัวเลขจริง กราฟจริงจะพบว่าคนที่กินไข่เกินหรือโคเลสเตอรอลเกินกำหนดมีน้อยมาก
วิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกาลงความเห็นการศึกษานี้ว่า "inconclusive" ส่วนบทบรรณาธิการบอกว่า "น้ำหนักไม่เพียงพอ" แม้จะสรุปได้ว่าอัตราการเกิดโรคและเสียชีวิตเพิ่มจริงตามการคำนวณทางสถิติ แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาแล้ว ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนครับ
บอกได้แค่ว่าไข่ยังเป็นแหล่งอาหารโภชนาการสูงและราคาถูกของคนไทย แต่หากกินมากไปพลังงานมากเกิน โคเลสเตอรอลที่ได้รับมากเกินก็คงไม่ดีนัก ยึดทางสายกลางไว้ 1-2 ฟองต่อวันก็พอครับ ไม่ได้จำกัดไข่แดงไข่ขาวนะครับ และอย่าลืมวิธีประกอบอาหารด้วยยิ่งทอดหรือผัดก็จะได้น้ำมันเข้าไปเพิ่มขึ้นอีก
ส่วนตัวแล้วยังไม่ "ซื้อ" ข่าวนี้นักครับ และหากอ่านข่าวแบบพาดหัวโดยไม่ได้พิจารณาเนื้อในให้ดีหรือฟังความเห็นด้านอื่นด้วย ท่านอาจจะเลิกกินไข่ไปแล้ว
ที่มา
1.Zhong VW, Van Horn L, Cornelis MC, et al. Associations of Dietary Cholesterol or Egg Consumption With Incident Cardiovascular Disease and Mortality. JAMA.2019;321(11):1081–1095. doi:10.1001/jama.2019.1572

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม