02 มีนาคม 2562

ไข้หวัดใหญ่ จะกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดได้ไหม

ไข้หวัดใหญ่ จะกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดได้ไหม (pre and post exposure prophylaxis)
คำถามและข้อกังวลที่พบมาก : ลูกป่วยไข้หวัดใหญ่ คนที่บ้านป่วย เพื่อนที่ทำงานไอรดหน้า คนไข้ที่วอร์ดมีไข้หวัดใหญ่ แล้วฉันต้องกินยากันไว้เลยไหม เกิดติดขึ้นมามันจะยาก หรือว่าฉันเสี่ยงนะ เป็นโรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อ่านข่าวการระบาดแล้วกลัว อ่านเพจนี้บอกว่าผู้ที่มีโรคประจำตัวจะมีผลแทรกซ้อนรุนแรง ถ้าอย่างนั้นกินยากันไว้เลยดีไหม
คำตอบที่อยากตอบและอยากแนะนำ : สำหรับการระบาดนอกสถานพยาบาล
1. การป้องกันโรคแบบการใช้ยาต้านไวรัส ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังสัมผัสโรค เป็นการป้องกันที่ไม่แนะนำ เพราะมาจากหลักฐานสนับสนุนน้อยมากและคุณภาพหลักฐานที่ไม่ดี การป้องกันโรคที่ดีคือ ให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาสุขภาพและฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี
2. มีคำแนะนำการกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันโรคก่อนจะมีอาการ ทั้งก่อนการสัมผัสและหลังการสัมผัสโรค ในคนที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้เท่านั้น คุณภาพหลักฐานก็เฉกเช่นเดิมคือไม่น่าจะมีประโยชน์มากนัก ไม่มีหลักฐานที่ดีมากพอ และระดับคำแนะนำจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
3. ในบรรดาคำแนะนำที่เรียกว่า poor evidences นั้นมีอยู่อย่างเดียวที่มีหลักฐานมากที่สุดคือ การให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันในกรณีหลังสัมผัสโรคแต่ยังไม่มีอาการ สำหรับคนที่รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในช่วง 6-12 เดือนแรกและเปลี่ยนถ่ายปอดเท่านั้น ที่ว่าหลักฐานดีที่สุดก็แค่ moderate evidence และมาจากการศึกษาแบบเฝ้าติดตาม ไม่ได้เป็นการศึกษาและทดลองควบคุม
4. มาดูคำแนะนำที่เป็นระดับ poor evidence และระดับหลักฐานแค่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำบ้าง
4.1 ก่อนสัมผัสโรค จะให้ในฤดูระบาดและในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ในคนที่เสี่ยงสูงมากที่จะเกิดผลแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ หรือในบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้รับวัคซีน
4.2 หลังสัมผัสโรค จะให้เมื่อไม่ได้รับวัคซีนเท่านั้น เมื่อเสี่ยงสูงมากที่สุดที่จะเกิดผลแทรกซ้อนจากโรค หรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ที่ติดเชื้อที่โรคเสี่ยงมากที่สุดจะเกิดผลข้างเคียงจากโรค **เสี่ยงมากสุดคือ ภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง หรือปลูกถ่ายอวัยวะ**
การป้องกันโดยใช้ยาจะต้องให้เร็วภายใน 48 ชั่วโมงหลังสัมผัสโรคหรือหลังการระบาด โดยใช้ยากินหรือยาพ่นจมูกขนาดครึ่งหนึ่งของขนาดรักษาปกติ สามารถป้องกันการเกิดอาการได้ 3.0-3.5% และเมื่อมีอาการให้พิจารณารักษาไม่ใช่ป้องกัน และไม่มีการให้ยาในคนที่ติดเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อสู่ผู้อื่นนะครับ
จะเห็นว่ายุ่งยากและข้อมูลสนับสนุนน้อยมาก ระดับหลักฐานก็ไม่ดี ดังนั้นการป้องกันที่ดีคือการรักษาสุขภาพ หยุดแพร่เชื้อโดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่ครับ
ที่มา : IDSA Influenza guideline 2018

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม