ตอนสุดท้ายกับการสร้างนิสัยรักการอ่าน...ขั้นโปร
หลังจากที่เราเริ่มเบนตัวเองมาให้สนใจหนังสือ จนเริ่มอ่านได้ จนถึงนักอ่านขั้นกลางและได้ฝึกวิชาการอ่านมาสักสองสามปีแล้ว มีหนังสือสะสมหรือผ่านมือมาพอควร ต่อไปก็จะเริ่มเป็นนักอ่านขั้นโปร วิธีการฝึกนักอ่านขั้นโปรอาจจะไม่เหมือนกันในแต่ละคน ผมขอแนะนำที่อ่านมาและทำเองครับ
วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ...อ่านซ้ำ
ในเรื่องเดิมถ้าอ่านซ้ำเราจะแตกฉานและเห็นจุดซ่อนเร้นที่ผู้เขียนซ่อนเอาไว้ ยิ่งเราอ่านมากขึ้นมุมมองของเราจะยิ่งกว้างและลึก หากได้ถกประเด็นกับคนที่อ่านเรื่องเดียวกันจะยิ่งโปร ส่วนตัวผมแนะนำวรรณกรรมอมตะ นำมาอ่านใหม่หลาย ๆ รอบ คุณจะอดทน คุณจะจับประเด็น คุณจะคิดตามและลึกซึ้งระดับเดียวกับผู้เขียนทีเดียว เช่น สามก๊กหรือหนังสือของอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ (อันนี้แนะนำมาก โดยเฉพาะ สี่แผ่นดิน) หรือยุคใหม่คือชุดนิยายลอร์ดออฟเดอะริง หรือแฮร์รี่ พ็อตเตอร์
วิธีที่ท้าทาย ไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้คุณผ่านโปรแน่ ... อ่านเรื่องที่ไม่สนใจ
การอ่านเรื่องที่เราไม่สนใจ แต่มันเป็นประโยชน์ หรือคนทั่วโลกเขาอ่าน แต่ฉันไม่ชอบนี่ว้อย เป็นการฝึกขั้นสูงเพราะคุณมีทักษะการอ่านแล้ว รู้เรื่องแล้ว ผ่านการฝึกปรือในเรื่องที่ชอบมาเต็มที่แต่ต้องมาขัดใจตัวเองให้มานั่งทำความเข้าใจเรื่องไม่ชอบโดยไม่จำเป็น เช่น ตัวอย่างคือผมเอง ผมไม่เคยชอบเรื่องการตลาดและแบรนด์ดิ้งมาตั้งแต่ไหนแต่ไร กี่เล่ม ๆ ก็ไม่เคยหยิบ จนกระทั่งดูหนังเรื่องหนึ่งที่มีเมดูซ่า คิดถึงแบรนด์สตาร์บัคส์ เฮ้ย...ทำไมมันผุดขึ้นมาในหัวได้ ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ดื่มสตาร์บัคส์ เลยลองเปิดใจอ่านดู ก็พบว่าเปิดกว้างทางความคิดมากมายครับ แต่ต้องอ่านหลายรอบเพราะไม่ถนัดแต่ก็พยายามจนได้หลายเล่ม เข้าใจวิธีการคิด การทำการตลาด ไปถึงแบรนด์อื่น ๆ ด้วย
ข้อดีอีกอย่างคือ ถ้าคุณทำได้ เวลาที่คุณต้องไปอ่านหนังสือที่ไม่ชอบ ไม่ถนัดแต่ "จำเป็น" คุณจะทำได้ดี
วิธีนี้ยากสุด แต่เป็นวิธีที่แนะนำมากที่สุด ... เปิดกว้างอ่านหนังสือต่างประเทศ
หลายคนบอกว่า ภาษาตัวเองยังไม่แตกเลย จะไปอ่านภาษาต่างประเทศ เยสโนโอเคฮาวมัช ยังใข้ผิด นี่จะให้อ่านนิยายเชียวรึ ... ใจเย็น ๆ ขอบอกว่าการเปิดโลกกว้างด้วยภาษาต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญมาก หนังสือทุกแนวทุกอย่าง มีมากมายเรียกได้ว่ามหาศาล
เทคนิคคือ เริ่มจากหนังสือภาพสนุก ๆ สารานุกรมเด็ก ๆ การ์ตูนสนุก ๆ เริ่มจากพวกนี้ก่อนเขาจะใช้คำไม่ยาก เราพออ่านเข้าใจ ไม่ไหวก็ใช้ดิกชันนารีครับ หลังจากนั้นเริ่มอ่านนิทานสำหรับเด็ก ของผมใช้นิทานของโรอัลด์ ดาลห์ และชุดห้าสหายผจญภัยของอีนิด ไบลตัน เมื่อเริ่มเข้าใจแล้วให้ไปหนังสือพวก non fiction ก่อนครับเพราะจะใช้ภาษาง่าย เช่น ชีวประวัติหรือ how to หรือสารคดีสั้น ๆ ผมใช้ชีวประวัติของบุคคลที่ชอบคือ วินสตัน เชอร์ชิล อ่าน how to ของสตีฟ จ็อบส์ แล้วไปจบที่นิยาย อันนี้ถ้าเป็นนิยายร่วมสมัยจะง่ายกว่านิยายคลาสสิก ผมชอบ ทอม เคลนซี่ ส่วนนิยายคลาสสิกต้องมีชั่วโมงอ่านมาก ๆ ครับ ผมชอบเรื่อง Out of Africa & Shadows on the Grass
เราจะได้พัฒนาภาษาอังกฤษโดยไม่รู้ตัว สนุกด้วย เพิ่มคลังคำศัพท์
ขั้นโปรนี้ใช้เวลาฝึกไม่นาน เพราะคุณจะดื่มด่ำ มีอารมณ์ร่วม ครุ่นคิด บางทีเขียนได้เอง ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งปี ถ้าตั้งใจจริง นับจากขั้นแรกมาขั้นกลางมาขั้นสุด ใช้เวลาปลูกนิสัยรักการอ่านจนอ่านได้ประมาณ สามถึงสี่ปี
และคุณจะลดการเสพข่าวเต้าข่าวลวง ลดการเล่มเกม ลดดูซีรี่ส์ มาเป็นนักอ่านได้ และอีกไม่นานคุณอาจจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ด้วยนะ
จบเรื่อง how to become a bookworm ไปแล้ว อยากแนะนำเทคนิคการอ่านเอาเรื่อง การเลือกหนังสือ อีบุ๊กดีกว่าไหม แหล่งขายแหล่งซื้อมือสองในเว็บ ไม่รู้จะมีคนอยากอ่านไหม...นักอ่านทั้งหลาย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น