14 มีนาคม 2562

ปอดอักเสบจากการสูดสำลัก aspiration pneumonia

ปอดอักเสบจากการสูดสำลัก aspiration pneumonia
ถาม : มักจะเกิดกับใคร
ตอบ : คนที่มีปัญหาเรื่องการกลืน เช่น ผ่าตัดฉายแสงที่คอ อัมพาต โรคสมองเช่นพาร์กินสัน หรือมีท่อคาไว้ เช่นสายให้อาหาร คนที่กลืนผิดปกติจะมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าคนปรกติ 9.4 เท่า ส่วนผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตจะมีโอกาสเกดโรคนี้มากขึ้น 12.9 เท่า
ถาม : ไม่เห็นว่าเขาจะสำลักเลย
ตอบ : เพราะเราไม่เห็นไง และเขาก็ไม่รู้ตัว หรือไม่สามารถรับรู้การสำลักเพราะระบบประสาทผิดปกติ อีกอย่างคือจะไม่สำลักปริมาณมากให้เห็น เพราะถ้าสำลักให้เห็นชัด ๆ มันไม่ยากในการวินิจฉัยเท่าไร ถึงจะเห็นชัดโอกาสที่จะวินิจฉัยได้จากการมีพยานเห็นการสำลักแค่ 16%
ถาม : สำลักน้อย ๆ แบบนั้นจะอันตรายหรือ
ตอบ : อันตรายมากทีเดียว เพราะจะได้แบคทีเรียในช่องปากและคอและลำไส้ลงไปในปอด เชื้อในปอดก็จะอาละวาดเพิ่ม อาการที่พบจึงเป็นปอดอักเสบติดเชิ้อ ไข้ หอบเหนื่อย ถ้าลุกลามมากอาจเป็นโพรงฝี ถ้ายิ่งเกิดกับผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลล่ะก็อัตราการเสียชีวิตจะสูงมาก
ถาม : อย่างนี้สำลักมาก ๆ เยอะ ๆ ชัด ๆ ไม่อันตรายกว่าหรือ
ตอบ : ส่วนหนึ่งของสิ่งที่ลงปอดจะเชื้อน้อยกว่าเพราะมีกรดในกระเพาะคอยกำจัดแล้ว อีกอย่างสำลักเร็ว ลงมาก ยังไม่ทันที่เชื้อในปากในคอจะอยู่ได้ โดนกรดทำลายเสียมาก การอักเสบจึงมักเป็นจาก ปอดอักเสบจากสารเคมี ในสามสี่วันแรก ถ้าร่างกายแข็งแรงและเชื้อไม่ดื้อมาก มักจะกำจัดได้เอง ยกเว้นกลุ่มที่ลำไส้อุดตันและกินยาลดกรด
ถาม : แล้วสำลักน้อย ๆ ไม่มีอาการ เราจะรู้ได้ไง เมื่ออาการมันไม่ชัด
ตอบ : ใช้ประวัติและความเสี่ยง ถ้าสงสัยให้ติดตามภาพเอ็กซเรย์ปอดที่ว่าอาจจะเกิดที่ปอดขวามากกว่าซ้าย ส่วนล่างของกลีบบนหรือส่วนบนของกลีบล่าง (อันนี้คือสำลักแบบนั่ง ถ้าสำลักในท่านอนจะเกิดที่ฐานปอดกลีบล่างทั้งสองข้าง) หรือเป็นโพรงฝี ถ้ามีมันก็ช่วย แต่ถ้าเอ็กซเรย์ไม่ชัดก็ยังเป็นได้ และเอ็กซเรย์ปกติถึง 26%
ถาม : รักษาต่างกันไหมกับปอดอักเสบทั่วไป
ตอบ : ว่ากันตามจริงก็ไม่ต่างกันเท่าไร แต่ถ้ามีความเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนหายใจในช่องปาก ช่องท้องหรือมีฝีในปอดควรเพิ่มยาที่รักษาเชื้อที่ไม่ใช้ออกซิเจนเช่น clindamycin
(ติดเชื้อจากชุมชนใช้ยา ampli/sulbactam, amoxi/clavuronic, moxifloxacin, ertapenem)
ถาม : ป้องกันอย่างไร
ตอบ : ฝึกการกลืนสำคัญมาก กินอาหารช้าลง อาหารควรมีมวลบ้างไม่ใช่เหลวอย่างเดียว มันกลืนง่ายแต่สำลักง่าย กินในท่านั่ง รักษาความสะอาดช่องปากแต่ไม่ต้องถึงกับใช้ยาฆ่าเชื้อ และไม่ใช้ยาลดกรดโดยไม่จำเป็น ลดการให้ยาง่วงซึมที่ไม่จำเป็น
แถมนิดนึงสำหรับน้อง ๆ พยาบาล เวลาให้อาหารทางสายยาง หากมีอาหารคงค้าง ยังไม่พบหลักฐานที่สัมพันธ์กันระหว่างอาหารคงค้างกับปอดอักเสบจากการสำลัก และการลดอาหารคงค้างในกระเพาะด้วยวิธีต่าง ๆ ยังไม่สามารถลดการเกิดปอดอักเสบจากการสูดสำลักได้นะครับ
มาจากรีวิวเรื่อง aspiration pneumonia ใน review article New England Journal of Medicine สักสองสัปดาห์ก่อนนี่แหละ ลืมจดเวลาลงพิมพ์
ปล. ลิเวอร์พูลเป็นแชมป์แน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม