19 กันยายน 2561

เล่าเรื่องเชื้อดื้อยา ESBL และ MERINO

เล่าเรื่องเชื้อดื้อยา
มนุษย์เราได้มีการพัฒนายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียมาตั้งแต่ยุคของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังต้องพัฒนาต่อไป เพราะอะไร สิ่งมีชีวิตย่อมต้องหาทางเอาตัวรอดตามธรรมชาติ เชื้อแบคทีเรียก็เช่นกัน
ยากลุ่มที่ทำลายผนังเซลล์แบคทีเรียที่ชื่อ เบต้าแลคแตม ใช้ได้ผลมานับศตวรรษ แล้วเชื้อโรคก็พัฒนาเอนไซม์เพื่อมาทำลายยาเบต้าแลคแตม ชื่อว่า เบต้าแลคแตมเมส การใช้ยาเบต้าแลคแตมในกลุ่มเพนิซิลลินและเซฟาโลสปอริน ยาสองตัวนี้ถือเป็นอาวุธหลักในการต่อสู้เชื้อโรคมานาน เริ่มใช้ไม่ได้ผล
หลาย ๆ คนบอกว่าส่วนหนึ่งเกิดจากหมอใช้ยาพร่ำเพรื่อจนเชื้อมันดื้อ ซึ่งก็จริงนะครับ
มนุษย์เราก็พัฒนา สารยับยั้งเบต้าแลคแตมเมส เอามาใส่ในยาฆ่าเชื้อเดิม เอาสิมาดูสิว่าใครจะชนะ เหตุการณ์หมุนตามเดิม เชื้อแบคทีเรียใช้ไม้ตาย พัฒนาสายพันธุ์ตัวเองที่มีชื่อว่า ESBL extended spectrum beta lactamase เกิดกับเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเจ้าประจำในคนเสียด้วย
มนุษย์เราก็จัดการโดยใช้ยากลุ่ม คาร์บาพีเนม ได้แก่ยา อีมีพีเนม เมอโรพีเนม เออร์ต้าพีเนม ดอรีพีเนม และไบอาพีเนม สามารถจัดการเจ้าแบคทีเรียติดอาวุธ ESBL นี้ได้
แต่ว่าการใช้ยาคาร์บาพีเนมอย่างกว้างขวางนี้มันจะหน่วงนำให้เกิดเชื้อที่จะดื้อยา คาร์บาพีเนม ที่ถือว่าอันตรายสุด ๆ เพราะยาคาร์บาพีเนมเราสงวนไว้ใช้กับเชื้อดื้อยาสุด ๆ เท่านั้น
สรุปว่าเราใช้ยามากขึ้น เชื้อพัฒนามากขึ้น และตอนนี้เรากำลังประสบปัญหาเชื้อดื้อยารุนแรงฆ่าไม่ได้
นักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้ลองทบทวนดูว่า ยังมีข้อมูลการใช้ยา เบต้าแลคตาเมส ในการกำจัดเชื้อ ESBL ซึ่ง ๆ ดูตามกลไกนั้นอาจพอกำจัดได้ มีข้อมูลจากการเก็บจากผู้ป่วย การรวบรวมข้อมูล มีทั้งใช้ได้และใช้ไม่ได้ เขาจึงทำการทดลองทางการแพทย์
นำผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ESBL ตัวยอดฮิต คือ E.coli และ K.pneumoniae ยืนยันว่าใช่จากการติดเชื้อในกระแสเลือด สุ่มกลุ่มตัวอย่างออกมาพอ ๆ กันสองกลุ่ม แล้วกลุ่มหนึ่งใช้ยา เบต้าแลคตาเมส คือ piperacillin/tazobactam ที่เราคิดว่ามันน่าจะยังใช้ได้ และอีกกลุ่มให้ยา คาร์บาพีเนม คือ meropenem หวังผลว่าการใช้ เบต้าแลคตาเมส คงจะไม่ด้อยไปกว่าตัวมาตรฐานคือคาร์บาพีเนม เพื่อจะได้ลดการใช้คาร์บาพีเนม เชื้อจะได้ไม่ดื้อต่ออาวุธลับ อาวุธสุดท้ายของเรา
หลังจากทำการทดลองไป ปรากฏว่ากลุ่มที่ได้รับยา เบต้าแลคตาเมส คือ piperacillin/tazobactam มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่ามาก และด้อยกว่า คาร์บาพีเนมอย่างชัดเจน จนกระทั่งต้องยุติการทดลอง หากจะหวังผลให้ได้อย่างที่คิดต้องทดลองขยายไปอีกหลายคน คนที่ไม่ได้ยาคาร์บาพีเนมจะเสียประโยชน์
ทฤษฎีการกำจัดเจ้า ESBL ที่ยังต้องใช้อาวุธหนักของเราคือ คาร์บาพีเนม ดูจะเป็นจริงต่อไป (สำหรับน้อง ๆ หมอต้องไปอ่านเรื่องของ inoculum effects นะครับ) โดยมีหลักฐานสนับสนุนชัดเจน ความฝันที่จะลดการใช้คาร์บาพีเนม อาจจะยังต้องฝันค้างกันไปก่อน
ดังนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะเริ่มต้นอย่างสมเหตุสมผล ลดการเกิด ESBL ตั้งแต่ต้นทางเป็นทางแก้ไขที่ดีที่สุด และตอนนี้ยาตัวที่เราพบว่าใช้กันมาก เป็นเหตุกระตุ้น ESBL ที่สำคัญคือยากลุ่ม เซฟาโลสปอรินส์ (ในส่วนตัวผมคิดว่ายานั้นคือ ceftriaxone)
จนอาจารย์โรคติดเชื้ออาวุโสหลายท่าน เรียกยานี้ว่า ceftri-tamol เพราะคุณหมอเห็นคนไข้มีไข้ก็แจกยานี้แทนพาราเซตามอลกันเลยทีเดียว
ฤา..เราจะแพ้พ่าย ในมหาสงครามโลกครั้งที่สาม
The Germ Wars
ปล. ชื่อการศึกษานี้ชื่อ MERINO ทำในออสเตรเลีย ทำให้คิดถึงแกะ merino ขนปุยที่เรานำมาทำเสื้อขนแกะ เป็นแกะสายพันธุ์ merino ครับ
วารสารฟรี
https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2702145
Harris PNA, Tambyah PA, Lye DC, et al. Effect of Piperacillin-Tazobactam vs Meropenem on 30-Day Mortality for Patients With E coli or Klebsiella pneumoniaeBloodstream Infection and Ceftriaxone ResistanceA Randomized Clinical Trial. JAMA. 2018;320(10):984–994. doi:10.1001/jama.2018.12163

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม