17 กันยายน 2561

ความเข้าใจเรื่องการลดน้ำหนักตอนที่สี่

ความเข้าใจเรื่องการลดน้ำหนักตอนที่สี่

กลวิธีปลีกย่อยต่าง ๆ ที่มาช่วยลดน้ำหนัก

  การคิดพลังงานเพื่อลดน้ำหนักนั้น จะต้องคิดเผื่อการปรับตัวของร่างกายด้วย เมื่อเราตัดสินใจจะลดพลังงานนำเข้าจากการกินทันที ร่างกายจะปรับตัวโดยการลดพลังงานพื้นฐานลงด้วยเพราะร่างกายเองก็ต้องต่อสู้กับการขาดอาหารเช่นกัน เราจึงต้องกินน้อยลงไปกว่าที่คิดอีกนิดนึงเพื่อเผื่อส่วนที่ร่างกายจะลดทอนนี้ไปด้วย ร่างกายจึงจะไปดึงพลังงานสำรองออกมาใช้

  แต่การเผื่อระดับนี้ เมื่อร่างกายไปใช้พลังงานสำรองร่างกายจะเริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านการลดพลังงานของเราโดยจะมีความรู้สึกหิว ต้องการ อยากกิน เราจำต้องอดทนต่อแรงผลักดันอันนี้ของร่างกายและแรงผลักดันทางใจของเราเองที่จะไม่สู้ ไม่ไหว รวมทั้งแรงผลักจากสิ่งแวดล้อมภายนอกคือ อาหารที่ซื้อหาได้ง่าย

  ยิ่งเราตั้งใจจะลดพลังงานเท่าไร ร่างกายจะตอบสนองคืนกลับด้วยความเคยชินและความอยากของเรา ผู้คนส่วนมากก็จะทนไม่ไหวและล้มเลิก หรือแอบกินอาหารหวาน กินอาหารเพื่อเพิ่มพลังงานมากกว่าที่ตั้งใจ ทำให้การลดน้ำหนักไม่สำเร็จหรือบางคนถึงขั้นล้มเลิกไปเลย
  แถมตอนที่เราล้มเลิกความตั้งใจ ตอนที่เราแอบกินเพิ่มให้ได้เท่าเดิม ตอนนั้นร่างกายเราปรับตัวลดการใช้พลังงานพื้นฐานลงมาแล้ว (จากการลดอาหารทันทีในข้อแรก) กลายเป็นว่าเรากินมากกว่าที่ใช้เอามาก ๆ เลย ผลต่างระหว่ากินกับใช้ยิ่งกว้างมากขึ้น สะสมมากขึ้น และน้ำหนักเด้งกลับทันทีหรือมากขึ้น

  ทั้งการศึกษาและข้อมูลจากความเป็นจริงทั้งหลายจึงสรุปออกมาว่า การเจตนาลดพลังงานจากการกินเข้าไปแบบทันทีและรุนแรง หวังผลลดลงเร็ว ๆ สิ่งที่ได้คืออัตราล้มเหลวสูงมากและน้ำหนักเด้งกลับเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม ควรค่อย ๆ ลดพลังงานทีละช้า ๆ ให้อยู่ในระดับที่พอทนได้ เมื่อร่างกายปรับตัวเข้าสู่สมดุลและลดพลังงานที่ใช้ลงมาจนสมดุลใหม่แล้ว เราจึงค่อย ๆ ขยับลดพลังงานจากการกินลงไปอีก ทำทีละขั้น ทำทีละสเต็ป อย่าใจร้อนต้องช้า อดทนและสม่ำเสมอ

  การอดอาหาร  งดการกินแล้วสลับการกินเป็นพัก ๆ มีการพิสูจน์มาแล้วว่า หากสามารถทำตามหลักการเดิมคือ พลังงานนำเข้าจากการกินลดลงต่ำกว่าที่ใช้และสะสมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอดแล้วกิน หรือกินลดลงทุกมื้อแต่สม่ำเสมอนั้น ผลลัพธ์น้ำหนักที่ลดลงปลายทางเท่า ๆ กัน วิธีอดอาหารนานและกินกลับเข้าไปใหม่ (intermittent fasting) มีอัตราความสำเร็จต่ำกว่า ไม่ใช่ว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้แต่ว่าคนล้มเลิกมากกว่านั่นเอง รวมทั้งผลระยะยาวจากการ “อด” เป็นระยะเวลานานกว่าปรกตินั้น จะส่งผลต่อการควบคุมทางฮอร์โมนและเมตาบอลิซึมต่าง ๆ หรือไม่อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม