22 กันยายน 2561

นกพิราบ กับ เชื้อรา

นกพิราบ กับ เชื้อรา

ตามประกาศข่าวเรื่องจะจัดการทางกฎหมายกับผู้ที่เจตนาให้อาหารนกพิราบ หลายคนเข้าใจได้ว่านกพิราบจะก่อความรำคาญสารพัดอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เราเคยเรียนรู้กันมาตั้งแต่เรียนแพทย์ คือ มันพาโรคติดเชื้อราตัวหนึ่งมา Cryptococcus neoformans
  เจ้าเชื้อราตัวนี้ อยู่ในรูปแบบยีสต์ สามารถงอกเงยเจริญงอกงามได้ในภาวะที่เหมาะสมและสามารถเก็บตัวจำศีลได้นานในสิ่งแวดล้อมด้วย คนปกติที่ภูมิคุ้มกันดี ๆ โอกาสจะติดโรคเชื้อรานี้น้อยมาก เชื้อราจะก่อโรคในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันไม่ดีเสียส่วนใหญ่ เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี สามารถก่อโรคได้ทุกอวัยวะ ที่เราคุ้นเคยดีคือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ C.neoformans

  มีการศึกษามานานกว่า 30 ปีแล้วถึงความสัมพันธ์ของเชื้อราตัวนี้กับสัตว์เลี้ยง  ยุคปี 1950 สันนิษฐานว่าเกิดจากปลวก แต่ภายหลังปี 1960 เริ่มพบความสัมพันธ์กับนก ทั้งจากนกแก้วและนกพิราบ กับกลุ่มผู้ป่วยที่สัมผัสนกเหล่านี้

  มีการศึกษาวิจัยทั้งการเก็บนกมาตรวจ ในสารคัดหลั่งของนก มีการนำเชื้อราให้นกแล้วติดตามผล ทำในอเมริกา ในนิวยอร์คเลยทีเดียว ยุโรป ตะวันออกกลาง ออสเตรเลียและในเอเชียเรา ผลออกมาชัดว่า ในอุจจาระของนกพิราบมีเชื้อราหลายชนิด ทั้ง candida, fusarium และ cryptococcus นี้ด้วย
  สิ่งที่พบอีกคือ เชื้อราอาศัยได้ดีในตัวนกที่อุณหภูมิภายในสูง 41-43% และแม้แต่หลุดมาในอุจจาระนก ซึ่งอุณหภูมิจะยังสูงต่อเนื่องและค่อย ๆ ลดลง (ใครโดนนกอึใส่คงทราบดี) พบเชื้อในอุจจาระนกด้วย ส่วนเชื้อราอื่น ๆ จะตายเร็วกว่าเจ้า cryptococcus

  นกพิราบสามารถปรับตัวและแพร่กระจายไปทั่วโลก โอกาสแพร่เชื้อจากอุจจาระก็มากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะพบเชื้อราในอุจจาระที่ชัดเจน แต่ว่าปริมาณผู้ป่วยไม่ได้เพิ่มขึ้นมากหรือกระจายตามนก ไม่เหมือนกับไข้หวัดนก ที่กระจายตามนก

  สาเหตุที่ปริมาณผู้ป่วยที่พบมากขึ้นเกิดจากการระบาดที่มากขึ้นเป็นวงกว้างของเชื้อเอชไอวีมากกว่า และเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญอีกด้วย

  ดังนั้นผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสนกพิราบนะครับ และหากใครเลี้ยงหรือใกล้ชิดนกพิราบเป็นประจำควรแจ้งประวัตินี่ให้แพทย์ทราบด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม